อย่างที่หลายคนบ่นๆ กันอยู่ว่ารายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อยากจะลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในแต่ละเดือนให้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นค่ากิน ค่าเดินทาง ค่าช้อปปิ้งต่างๆ อีกทั้งบางคนยังลามมาถึงประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ที่ตอนทำครั้งแรกคิดว่าน่าจะส่งไหว แต่ทำไปทำมาก็เริ่มรู้สึกว่าส่งไม่ไหวแล้ว ไม่อยากจ่ายค่าเบี้ยประกันอีกต่อไปแล้ว แต่อีกใจก็นึกเสียดายว่าจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันไปแล้วก็หลายบาทอยู่ จะยกเลิกก็เสียดายอยู่ เรามาดูกันดีกว่า ในกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นั้นมีทางเลือกอะไรให้เราบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น เราเลือกทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ประเภท 15/7 จำนวนเงินเอาประกัน 40,000 บาท จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตเป็นรายเดือน เดือนละ 3,600 บาท เพราะฉะนั้นเราจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตทั้งหมด 7 ปี และจะได้รับความคุ้มครอง 15 ปี นั่นก็คือ ปีที่ 15 เราถึงจะได้เงินคืนจากกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับนี้ แต่ปัญหาของเรา คือ พอส่งค่าเบี้ยประกันมาได้ 1 ปี ก็เริ่มเห็นเค้าลางแล้วว่าส่งค่าเบี้ยต่อไปไม่ไหวแน่ๆ ประกันชีวิตก็จะมีทางเลือกให้เรา 3 ทางเลือก คือ
- การขอปิดกรมธรรม์หรือเวนคืนกรมธรรม์ แบบนี้คือ เราหยุดจ่ายเบี้ยประกันแล้วขอคืนเงินเลย แบบนี้จะทำให้เราได้เงินคืนน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่แนะนำให้เลือกวิธีการนี้ เพราะจำนวนเงินที่ได้คืนจะน้อยกว่าค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายไป
- การใช้เงินสำเร็จ ก็คือ หากเราหยุดจ่ายเบี้ยประกันไปแล้ว ความคุ้มครองก็ยังมีระยะเวลาเท่าเดิม เพียงแต่ทุนประกันชีวิตจะลดลง และสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์บางแบบ ก็อาจจะมีเงินคืนให้ตามสัดส่วนและระยะเวลาตามเงื่อนไขที่กรมธรรม์กำหนด
- ขอขยายระยะเวลากรมธรรม์ นั่นหมายถึงว่า เมื่อเราหยุดจ่ายค่าเบี้ยประกัน แต่ก็ยังได้รับความคุ้มครองด้วยทุนประกันชีวิตที่เท่าเดิม ซึ่งจำนวนปีที่ขยายออกไปเราสามารถดูได้จากตารางมูลค่าประกันภัย
แล้วเราจะเลือกแบบไหนให้คุ้มค่าที่สุดสำหรับค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป 1 ปี เดือนละ 3,600 บาท รวมแล้วเราจ่ายค่าเบี้ยประกันไปทั้งหมด 43,200 บาท เป็นจำนวนที่มากอยู่สำหรับภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ แถมด้วยว่าจะส่งค่าเบี้ยประกันต่อก็ไม่ไหว เราก็ต้องไปดูที่กรมธรรม์ประกันชีวิตของเราที่จะมีตารางมูลค่ากรมธรรม์แนบมา ก็จะช่วยทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
ดังนั้นเรามาดูทางเลือกแต่ละทางของกรมธรรม์ประกันชีวิตตามตัวอย่างนี้กัน
ตามตัวอย่างที่ยกมาจ่ายค่าเบี้ยประกันไปแล้ว 1 ปี เป็นเงินทั้งหมด 43,200 บาท อยากยกเลิกประกันชีวิต อยากจะยกเลิกกรมธรรม์ จะเลือกทางไหนให้คุ้มสุด เราก็ต้องไปดูที่ตารางมูลค่ากรมธรรม์ที่สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 1 แล้วก็คำนวณกันดูเลย
ทางเลือกที่หนึ่ง การขอปิดกรมธรรม์หรือเวนคืนกรมธรรม์ จำนวนเงินที่เราจะได้รับคืน ก็ให้นำตัวเลขในช่องที่ 1 มาคิดได้เลย คือ 203 x 40,000/1,000 = 8,120 บาท คือ จำนวนเงินที่เราจะได้รับคืนหากยกเลิกกรมธรรม์
ทางเลือกที่สอง การใช้เงินสำเร็จ หยุดจ่ายค่าเบี้ยประกันแล้วแต่กรมธรรม์ก็ยังคุ้มครองอยู่จนถึงปีที่ 15 แต่ทุนประกันจะลดลง ดังนั้นพอสิ้นปีที่ 15 เราจะได้เงินคืน 15,840 บาท (396 x 40,000/1,000) เนื่องจากบริษัทประกันจะเอาเงินค่าเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปประมาณ 43,200 นั้นมาคำนวณค่าเบี้ยประกันสำหรับกรมธรรม์แบบใช้เงินสำเร็จตามสูตรของบริษัทประกัน เพื่อซื้อกรมธรรม์แบบใช้เงินสำเร็จ นั่นจึงทำให้เงินของเราเหลือเพียง 15,840 บาท
ทางเลือกที่สาม ขอขยายระยะเวลากรมธรรม์ หยุดจ่ายค่าเบี้ยแล้ว กรมธรรม์คุ้มครองอยู่เหมือนเดิม ทุนประกันเท่าเดิม พอสิ้นปีที่ 14 จะได้เงินคืน 13,600 บาท (340 x 40,000/1,000) ซึ่งเหตุผลที่เงินค่าเบี้ยประกันที่เราจ่ายไป 43,200 บาท หายไปก็ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ บริษัทประกันจะนำค่าเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปแล้วนั้นไปคำนวณตามสูตร เพื่อซื้อกรมธรรม์แบบขยายเวลานั่นเอง
สรุปรวมเป็นตารางให้เห็นชัดๆ กันเลยแต่ละแบบจะได้มากน้อยต่างกันยังไง
ทีนี้เราก็ต้องมาชั่งน้ำหนักแต่ละทางเลือกกันแล้วล่ะ ถ้าเลือกปิดกรมธรรม์ก็จบกันไปได้เงินคืนมาแปดพันกว่าบาท แต่ถ้าเราอยากจะให้กรมธรรม์มีผลต่อไป เราก็ต้องมาเลือกกันระหว่างทางเลือกที่ 2 หรือ 3 ถ้าเราคิดว่าการทำประกันชีวิตคือการซื้อความเสี่ยง หากเราเป็นอะไรไปคนในครอบครัวก็ยังได้รับเงินช่วยเหลือแบบเต็มจำนวนแล้วล่ะก็ ทางเลือกที่ 3 ก็น่าจะเป็นคำตอบที่น่าสนใจมากกว่าทางเลือกที่ 2 เพราะจำนวนเงินเอาประกันจะมากกว่าถึง 2 เท่า ยกตัวอย่างเช่น หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นทางเลือกที่ 2 ครอบครัวเราจะได้เงินจากกรมธรรม์เพียง 6-7 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นทางเลือกที่ 3 จะได้เงินจากกรมธรรม์เป็นหลักแสนบาท
เพราะฉะนั้นหากเราส่งเบี้ยประกันไม่ไหวแล้ว ก็ลองคำนวณเองคร่าวๆ จากกรมธรรม์ของเราดูก่อน แล้วก็ติดต่อไปที่บริษัทประกันชีวิต เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ถูกต้องสำหรับตัดสินใจกัน
อ่านเพิ่มเติม : วิธี คำนวณเบี้ยประกันชีวิต ที่เหมาะกับตัวเอง