เราน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วหากเราไม่ได้รับความเป็นธรรมเวลาไปซื้อสินค้าหรือบริการทั่วไปๆ เราสามารถร้องเรียนไปที่ ส.คบ. หรือที่มีชื่อเต็มว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ตั้งขึ้นมาตามกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 แต่ถ้าเรารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการการทางด้านการเงินแล้วล่ะก็ ต้องไปที่หน่วยงานนี้กันเลย นั่นก็คือ ศคง. หรือมีชื่อเต็มว่า ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเราจะมาดูกันว่า ศคง. คือ อะไร ? ศูนย์ฯ นี้ช่วยอะไรเราได้บ้าง
ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก ศคง. กันก่อนดีกว่า
โดย ศคง. นี้ได้ตั้งขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2555 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินและส่งเสริมการให้ความรู้ทางด้านการเงินให้กับประชาชนโดยทั่วไปด้วย เพราะว่าปัจจุบันนี้บริการทางการเงินต่างๆ นั้นมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น จนทำให้บางครั้งผู้ใช้บริการทางการเงินทั่วไปอย่างเราๆ หรือชาวบ้านทั่วไป อาจจะมีความรู้ไม่มากพอหรือตามเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ทัน ที่จะทำให้ไม่เข้าเรื่องการบริการทางการเงินหรือตามไม่ทันพวกมิจฉาชีพต่างๆ จนทำให้รู้สึกไม่สะดวกในการใช้บริการทางการเงินด้านต่างๆ
โดยบทบาทและหน้าที่ของ ศคง. คือ เป็นช่องทางในการรับฟัง ช่วยแก้ไข และติดตามผลให้แก่ประชาชน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริการทางการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแล ได้แก่ ธนบัตร พันธบัตร และกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางด้านเงินตราต่างประเทศ ส่งเสริมเพื่อให้ความรู้ทางด้านการเงินให้แก่บุคคลทั่วไปอย่างเราๆ นี้แหละ ดังนั้นหากเรามีความขุ่นข้องหมองใจในการใช้บริการทางด้านการเงินจากธนาคารต่างๆ และไม่ได้รับความสนใจจากธนาคารที่เราติดต่อไปด้วยแล้วนั้น ก็สามารถส่งเรื่องร้องเรียนต่างๆ มาที่ ศคง. นี้ได้เลย แต่ก็ใช่ว่าส่งแบบไม่มีตัวตนหรือส่งได้ทุกเรื่องนะ ทาง ศคง. ก็มีแนวทางปฏิบัติเหมือนกัน เรามาดูกันว่าถ้าอยากจะส่งเรื่องร้องเรียนจะต้องทำยังไงบ้าง
อย่างที่บอกไปแล้วว่า ศคง.ไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องที่ส่งเข้าไป การส่งเรื่องร้องเรียนไปที่ ศคง.นั้น เราจะต้องระบุชื่อ-นามสกุล และเลขที่บัตรประชาชนด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการพิสูจน์เรื่องที่เราร้องเรียนเข้าไปและใช้ในการไปตรวจสอบหรืออ้างอิงกับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เราร้องเรียน และเรื่องที่ร้องเรียนเข้าไปนั้นก็ต้องเป็นเรื่องร้องเรียนธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยควบคุมอยู่ เรามาดูตัวอย่างที่เราสามารถแจ้งเป็นเรื่องร้องเรียนกับ ศคง. ได้
ตัวอย่างแรกเช่น หากเราไปขอสินเชื่อกับธนาคารแห่งหนึ่งแล้วเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเราต้องทำประกันกับธนาคารก่อน ถึงจะอนุมัติสินเชื่อให้ได้ กรณีนี้หากเป็นการบังคับทำประกันอัคคีภัยทรัพย์สินที่ใช้ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อกับธนาคารนั้นถือว่าธนาคารสามารถทำได้ เพราะเป็นการป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับทรัพย์สินที่นำมาค้ำประกันของธนาคาร แต่ถ้าเป็นการบังคับให้ทำประกันสุขภาพหรือสะสมทรัพย์นั้นไม่สามารถบังคับเราได้ ซึ่งกรณีนี้หากธนาคารที่เราไปขอสินเชื่อไว้ไม่อนุมัติสินเชื่อให้เรา เพราะเราไม่ยอมทำประกันสุขภาพหรือประกันสะสมทรัพย์ เราก็สามารถร้องเรียนมาที่ ศคง.ได้เลย
หรือจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เดียวนี้ใครก็เจอกกันเวลาไปขอเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร ที่เจ้าหน้าที่ของธนาคารจะเสนอบัตรเอทีเอ็มที่จะมีประกันพ่วงมาด้วย ซึ่งจะเป็นบัตรที่มีค่าธรรมเนียมที่แพงมาก และทุกครั้งที่ไปติดต่อก็จะบอกว่าบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาหมด ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้แล้วเรารู้สึกว่าไปติดต่อหลายครั้งบัตรก็ยังหมดอยู่ แบบนี้เราก็สามารถส่งเรื่องร้องเรียนมาที่ ศคง.ได้อีกเช่นกัน
แต่ก็จะมีบางเรื่องที่เราไม่สามารถร้องเรียนหรือเรียกร้องค่าชดเชยจากธนาคารได้เหมือนกันนะ ไม่เราอาจจะหน้าแตกเองก็ได้หากจะไปโวยวายกับธนาคาร เช่น กรณีที่เราไปโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มหรือผ่าน Internet Banking แล้วโอนเงินไปผิดบัญชี ซึ่งเราไม่สามารถไปเรียกร้องให้ธนาคารชดใช้ให้เราได้ เพียงแต่เราสามารถไปติดต่อธนาคารให้ช่วยประสานงานให้ได้เท่านั้น สุดท้ายแล้วเราจะได้เงินคืนหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของบัญชีอีกทางหนึ่งที่เราโอนผิดไปเท่านั้นเอง ซึ่งกรณีนี้ธนาคารจะไม่รับผิดชอบอะไรทั้งนั้นเพราะถือว่าเป็นการทำธุรกรรมด้วยตัวของลูกค้าเอง
อ่านเพิ่มเติม : โอนเงินผิดบัญชี ทำไงดี ?
ในทางกลับกันหากเราไปโอนเงินที่สาขาของธนาคารแล้วมีการโอนเงินผิดบัญชี ถ้าเป็นอย่างนี้เราสามารถเรียกร้องให้ธนาคารดำเนินการให้ถูกต้องได้ แต่ถ้าธนาคารไม่ยอมทำให้ถูกต้องหรือใช้เวลาในการดำเนินการนานเกินไปเราก็สามารถร้องเรียนมาที่ ศคง.ได้เหมือนกัน
ทีนี้เราก็ได้รู้จักหน่วยงานที่คอยดูแลการให้บริการทางการเงินกันแล้ว หากเรามีปัญหาหรืออยากได้รับคำปรึกษาทางด้านการเงินเราก็สามารถไปที่ เว็บไซต์ ติดต่อไปได้ที่สายด่วน ศคง. เบอร์โทรศัพท์ 1213 ได้เลย