ในปัจจุบันปัญหาทางเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ได้แก่ ปัญหา หนี้สินครัวเรือน อันเนื่องมาจากการประมาณการจากนักวิเคราะห์หลาย ๆ ท่านรวมไปถึงการระบุของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่กล่าวถึง หนี้สินครัวเรือน 2559 ต่อ GDP ของประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 สูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ นั่นก็คือ 81.1 เปอร์เซ็นต์ จากการเพิ่มปริมาณของหนี้สินภาคครัวเรือนก่อให้หลาย ๆ ฝ่ายรู้สึกตระหนกพร้อมกับมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความมั่นคงในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยว่าจะมั่นคงได้หรือไม่หากหนี้ครัวเรือนยังคงมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บางฝ่ายของนักวิชาการเองก็ได้มีการเสนอแนะถึงข้อควรกระทำในปัจจุบัน รวมไปถึงเสนอแนะวิธีแก้ปัญหาไปที่ภาครัฐบาล
ข้อเท็จจริงจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเกี่ยวกับสาเหตุหนี้ครัวเรือน
จากการแถลงข่าวของหน่วยงานภาครัฐอย่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสรุปได้ใจความว่า หนี้ครัวเรือนของคนไทยแม้จะสูงขึ้นแต่ทว่าหากมองสถานการณ์ในภาพรวมแล้ว หนี้ครัวเรือนทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายรถคันแรกในสมัยรัฐบาลชุดก่อน รวมไปถึงนโยบายบ้านหลังแรกที่มีส่วนให้ประชาชนเกิดหนี้ครัวเรือนได้เช่นกัน นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้ประชาชนคนไทยเป็นหนี้ได้มากที่สุด นอกจากสองข้อข้างต้นแล้วยังรวมไปถึงการที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าตามต้องการโดยไม่มีเงินเพียงพอ ถือเป็นการบ่มเพาะและกระตุ้นนิสัยการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยได้มากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าหนี้เอ็นพีแอลยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าวิตกกังวลมากนัก เนื่องจากเฉลี่ยอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งนี้การเกิดหนี้บัตรเครดิตในกลุ่มคนไทยส่วนใหญ่จะจำกัดวงแคบอยู่ที่ผู้มีรายได้น้อยหรือมีรายได้ปานกลางเท่านั้น ซึ่งจุดนี้มีธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวลเกินไป
สำหรับสาเหตุสำคัญอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดหนี้ภาคครัวเรือนนั้นมาจากการส่งเสริมนโยบายบ้านหลังแรก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ชี้ว่าหนี้ครัวเรือนในปี 2559 นี้ขยายตัวอีก 5-6 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการกู้ยืมสินเชื่อเพื่อการซื้อบ้านนั่นเอง โดยไตรมาสแรกของปี 2559 นั้น มีการกระตุ้นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เป็นพิเศษจากการลดหย่อนภาษีที่อยู่อาศัยอันเป็นโครงการกระตุ้นจากภาครัฐนั่นเอง ซึ่งจากนโยบายนี้จะก่อให้เกิดการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นไปอีก
การจัดการกับหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย
แม้นักวิเคราะห์รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐจะชี้ว่าหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศไทยไม่น่ากังวลเท่าใดนัก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ไม่ประมาทในการติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด โดยธนาคารแห่งประเทศไทยลงความเห็นว่าจากสภาพเศรษฐกิจของโลกที่ผันผวนก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยหลายด้าน รวมทั้งด้านของระบบเศรษฐกิจประเทศไทย สิ่งที่ต้องระวัง คือ การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบระยะสั้นหรือส่งเสริมให้ประชาชนใช้เงินนั้นอาจทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นได้ โดยแต่แรกนั้นแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยจะเน้นไปที่การกระตุ้นสินเชื่อให้ขยายตัว แต่ทว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยสินเชื่อนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาดีดังเดิมได้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้หนี้เสียเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าดีกว่าในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมศักยภาพของประเทศไทยในระยะยาวนั่นเอง
ปัญหาที่เกิดขึ้น
ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยสามารถสรุปได้ดังนี้
1.หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นจากนโยบายรถคันแรก
2.หนี้ครัวเรือนมีการเพิ่มขึ้นจากนโยบายบ้ายหลังแรก
3.คนไทยมีพฤติกรรมการใช้เงินที่เปลี่ยนไป โดยปกติจะนิยมเที่ยวในประเทศ แต่ทว่าในสองปีหลังที่ผ่านมาพบคนไทยท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนชั้นกลางที่เปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวไปที่ประเทศต่าง ๆ มากกว่าจะท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยสถิติล่าสุดพบว่าคนไทยมีการไปท่องเที่ยวต่างประเทศ 10 เปอร์เซ็นต์ จากคนไทยทั้งหมด และเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวในประเทศพบว่ามีเม็ดเงินที่แตกต่างมาก เพราะเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวในประเทศมีการขยายตัวอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ซึ่งการท่องเที่ยวต่างประเทศทำให้ใช้เงินมากขึ้นและส่งผลให้คนชนชั้นกลางบางคนต้องกู้ยืมเงินเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ ทดแทนเงินที่นำไปท่องเที่ยวต่างประเทศนั่นเอง
การรับมือกับปัญหาหนี้ครัวเรือน
หนี้ครัวเรือนไม่ใช่ปัญหาที่น่ากังวลมากเท่าใดนัก หากว่าหนี้เหล่านั้นเป็นการกู้ยืมมาเพื่อลงทุนธุรกิจส่วนตัวหรือต่อยอดกิจการ ยกตัวอย่างเช่น กู้เงินเพื่อนำมาซื้อสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ เป็นต้น แต่หนี้ครัวเรือนจะเป็นสิ่งที่น่ากังวล หากผู้ที่กู้นำเงินไปสนองความต้องการทางการบริโภคสิ่งของที่ฟุ่มเฟือย หรือไม่ได้เกิดการลงทุนที่ให้เม็ดเงินงอกเงยกว่าเดิม
ประเด็นที่ต้องติดตามในหนี้ครัวเรือน
1.หน้าที่ของสถาบันการเงินที่สำคัญที่สุด คือ การติดตามและให้ความสนใจถึงจำนวนเงินที่ผู้กู้ยืมเงินนำเงินไปใช้ว่าสุดท้ายแล้วนำไปใช้ในด้านใด หากเป็นการใช้บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย อาจต้องพิจารณาการอนุมัติเงินในคราวต่อไป
2.ควรเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่เน้นการผ่อนชำระหากต้องการซื้อสินค้าต่าง ๆ ให้เป็นการจ่ายด้วยเงินสดมากขึ้น เพื่อที่ธุรกิจเหล่านี้จะได้สามารถนำเม็ดเงินที่ได้จากผู้ซื้อสินค้ามาหมุนเวียนในธุรกิจได้นั่นเอง
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาระดับประเทศที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนไทยได้อย่างยั่งยืน