เราคงเคยได้ยินคำที่พระท่านสอนมาบ้างว่า “การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ” ซึ่งก็ดูเหมือนว่าคำกล่าวนี้จะเป็นความจริงแท้ โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง รายได้ที่คนวัยทำงานแต่ละคนได้รับช่างน้อยนิด แต่รายจ่ายกลับมหาศาลยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทรเช่นนี้
ปัจจุบัน คนวัยทำงานหลายคนเริ่มหาวิธีการออมเงิน พยายามบีบให้รายจ่ายลดลง เพื่อให้สมดุลกับรายรับที่ได้ อันที่จริงมันก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายอะไร ยังดีกว่าการใช้เงินเกินตัวจนมีหนี้สินท่วมหัวเสียอีก แต่หลาย ๆ คนที่ออมเงิน กลับกลายเป็นว่าเครียดกับการใช้เงินในแต่ละครั้งเป็นอย่างยิ่ง เพราะกลัวว่าเงินที่หามาได้อย่างยากลำบากนั้นจะหมดไป ทั้ง ๆ ที่ในบางเดือน รายจ่ายยังมีไม่ถึง 1 ใน 4 ของรายรับเลยด้วยซ้ำ แต่คนเหล่านี้ก็ยังพยายามที่จะประหยัดลงไปเรื่อย ๆ จนหลายครั้งถูกคนรอบตัวประณามว่า “ตระหนี่ถี่เหนียว” กันเลยทีเดียว
ในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ได้มีการตั้งกระทู้กระทู้หนึ่ง (http://www.pantip.com/topic/34112405) ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องอาการของผู้ที่เสพติด การเป็นหนี้ ใช้ชื่อว่า “อาการของคนเสพติดหนี้ (Debt Addiction)” และในความคิดเห็นที่ 16 โดยผู้ใช้ที่ชื่อว่า endophine ได้กล่าวถึงอาการที่ตรงกันข้ามของการเสพติดหนี้ นั่นก็คือ “การกลัว การเป็นหนี้” หรือ Debt phobia
อาการ Debt phobia นี้ มักเกิดกับบุคคลในวัยทำงาน มีพื้นฐานครอบครัวที่ได้รับการปลูกฝังมาว่า ต้องรู้จักใช้เงินอย่างประหยัด หรือมิฉะนั้นก็เป็นบุคคลที่เคยประสบกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการเงินของตนเอง หรืออยู่ในครอบครัวที่เคยประสบกับชะตากรรมดังกล่าว จนทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากไปพักหนึ่ง คนพวกนี้จึงมักมีความคิดที่ฝังหัวว่า ต้องใช้เงินอย่างประหยัด และพัฒนากลายเป็น Debt phobia ในที่สุด
สำหรับอาการของ Debt phobia นั้น จากกรณีศึกษาในหลาย ๆ กรณี มักมีอาการเบื้องต้น คือ การกลัวว่าตัวเองจะไม่มีเงินใช้ในอนาคต ผู้ที่มีอาการดังนี้จึงมักกังวลเกี่ยวกับรายจ่ายของตนเองในอนาคต มีความกลัวว่าตนเองจะต้องเป็นหนี้ ทั้ง ๆ ที่มีเงินเก็บอยู่มาก คนที่มีอาการดังนี้จะทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินให้ได้ทีละมาก ๆ และทำทุกวิถีทางที่จะรักษาเงินไว้ หรือทำให้เงินกระเด็นออกจากบัญชีธนาคาร และกระเป๋าเงินน้อยที่สุด ในบางคนถึงขั้นมีความคิดว่า หนี้เป็นสิ่งที่เลวร้าย ไปเลยก็มี จนสุดท้ายก็ไม่คิดที่จะทำอะไรที่ต้องใช้เงินเลยทั้งนั้น แม้กระทั่งการลงทุนเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในอนาคตก็ตาม นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้เงินของผู้ที่เป็น Debt phobia ก็มีความแปลกประหลาดจากคนทั่ว ๆ ไปด้วย ถ้าไม่ได้รับการปรับทัศนคติ อาการประหยัดจนเกินเหตุนี้อาจอยู่ไปได้ตลอดชีวิตของบุคคลผู้นั้นเลยทีเดียว
มีตัวอย่างของผู้ที่เป็นโรค Debt phobia หลายกรณี ยกตัวอย่างเช่น จากความเห็นที่ 16 โดยผู้ใช้ที่ชื่อว่า endophine ในกระทู้ที่กล่าวถึงไปข้างต้นนั้น เขาได้เล่าประสบการณ์การใช้เงินของเขาว่า ถ้ามีรายจ่ายที่เขาคิดว่าจะต้องเป็นหนี้ในอนาคต เขาจะจ่ายล่วงหน้าไปเป็นปี ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าคอนโด ที่จ่ายล่วงหน้าสองปี ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ จ่ายล่วงหน้าถึง 1 ปี เว้นเสียแต่ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ที่ไม่สามารถดำเนินการจ่ายล่วงหน้าได้ จึงต้องจ่ายรายเดือนอย่างปกติ ซึ่งโดยปกติแล้วแทบไม่มีใครที่ไหนเขาทำกัน เป็นต้น
หรือในความคิดเห็นย่อยที่ 16-3 จากกระทู้เดียวกัน เจ้าของความคิดเห็นนั้นได้เล่าถึงอาการที่คล้ายกันของพ่อแม่ตน ว่า พ่อแม่ของเขาเคยเป็นหนี้นอกระบบมาก่อน ก่อนที่จะตั้งตัวได้อย่างทุกวันนี้ คาดว่าความลำบากดังกล่าวคงเป็นต้นเหตุที่ทำให้มีแนวคิดที่เป็น Debt phobia และยังมีจากอีกหลาย ๆ กระทู้ในเว็บบอร์ด ที่ต้องการจะสร้างเนื้อสร้างตัว แต่มีความกลัวต่อการเป็นหนี้ ทำให้ทุกวันนี้ยังไม่มีอะไรที่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากเงินที่เก็บไว้เพียงอย่างเดียว เป็นต้น
นอกจากในเว็บบอร์ดต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้สืบค้นแล้ว ผู้เขียนยังพบว่า ในชีวิตประจำวันของตัวผู้เขียนเอง ก็มีคนรู้จักที่มีอาการ Debt phobia เช่นกัน โดยเขามีหน้าที่การงาน ทำงานหาเงินตามปกติ แต่แทบไม่ยอมใช้จ่ายอะไรเลย แม้แต่เรื่องที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เขาก็พยายามที่จะเสียเงินไปกับมันให้น้อยที่สุด และเมื่อเวลาจะใช้เงินทำสิ่งใด เขาจะหาข้อมูลอย่างละเอียดมาก ถ้าการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง เขาก็จะไม่เอาเงินลงไปเสี่ยงอย่างเด็ดขาด จนหลาย ๆ ครั้ง เขาถูกต่อว่าว่า “งกเกินไป” ทุกวันนี้เขาใช้ชีวิตเหมือนกับคนที่ไม่ค่อยมีเงิน ทั้ง ๆ ที่เงินเก็บมาก จนบางครั้งตัวผู้เขียนยังแอบคิดว่า เขาน่าจะพัฒนาระดับการใช้ชีวิตขึ้นมาได้บ้าง หาของที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตให้ตนเองได้บ้าง แทนที่จะใช้ชีวิตอยู่กับความลำบากอย่างนั้น
อาการ Debt phobia มีทั้งผลดีและผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งผลดีนั้นก็คือ ผู้ที่มีอาการนี้จะมีเงินเก็บมากอย่างน่าทึ่ง การมีเงินเก็บมากนี้ จะช่วยให้เมื่อเกิดวิกฤติบางอย่างในชีวิต คนที่มีอาการนี้จะไม่ล่มจม สามารถนำเงินที่เก็บไว้มาใช้ยามฉุกเฉินได้ นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้จะไม่ใช้เงินไปกับสิ่งที่ไร้ประโยชน์ นับตั้งแต่การซื้อของมาแล้วมาทิ้งจมในตู้ ไปจนถึงการลงทุนที่สูญเปล่า จะไม่เกิดกับคนที่เป็น Debt phobia เด็ดขาด
ส่วนข้อเสียของผู้ที่เป็น Debt phobia ก็มีเหมือนกัน คือ ผู้ที่มีอาการนี้จะไม่กล้าลงทุนอะไรเลย แม้ว่าการลงทุนนั้นจะทำให้มีความก้าวหน้าในชีวิตเพิ่มขึ้นก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ซื้อหุ้น ทำให้การสร้างเนื้อสร้างตัวนั้นเป็นไปได้ช้า เพราะตัดสินใจช้าเนื่องจากความกลัว และบางครั้ง อาการ Debt phobia นี้ อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้วย ได้แก่ มีความเคร่งเครียดต่อการบริหารเงินมากจนเกินไป และมักโฟกัสไปที่อนาคต มากกว่าจะมองที่ปัจจุบัน ทำให้ถึงแม้จะมีเงินมาก แต่ก็ยังลำบากอยู่เพราะไม่ยอมนำออกมาใช้
“การไม่เป็นหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” เป็นความจริง แต่การมุ่งแต่เก็บเงินเพียงอย่างเดียว และไม่กล้าที่จะนำเงินที่เก็บได้นั้นมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองก็ไม่ใช่เรื่องดีเช่นกัน ดังนั้น มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ นอกจากการหาเงินแล้ว ก็ควรหาทัศนคติใหม่ ว่าจะใช้เงินอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุดไปพร้อม ๆ กันด้วย เพื่อที่จะได้อยู่ตรงกลาง ไม่ใช้เงินมือเติบจนกลายเป็นหนี้ และไม่เคร่งเครียดกับการออมเงินมากเกินไปจนชีวิตลำบาก อย่างที่มนุษย์เงินเดือนหลาย ๆ คน ได้ประสบมา
(มีต่อตอนต่อไป)
อ้างอิง