“แบงก์แห่หั่นดอกเบี้ยกู้ MLR นำโดย KBANK ลด 0.25% มีผล 7 เม.ย., KTB-BBL ลด 0.25% มีผล 6 เม.ย. ส่วน TMB ลดทั้ง MLR และ MRR ลง 0.25% มีผล 7 เม.ย. ด้านธปท.ระบุ แบงก์ใหญ่ลดดอกเบี้ยช่วยลดภาระให้ SMEs ขณะที่รมว.คลัง ปัดเป็นสัญญาณเศรษฐกิจย่ำแย่ ฟากโบรกฯ เตรียมหั่นกำไร-ราคาเป้าหมายหุ้นกลุ่มแบงก์หวั่นกำไรปีนี้หายไป 5-7% มองกระทบต่อหุ้นระยะ 1 เดือน”
ข้อมูลจาก https://www.efinancethai.com
เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ใหญ่หลายๆเจ้าได้ลดดอกเบี้ยกู้MLR ลง ทำให้ก่อนหน้านี้หลังจากที่หุ้นกลุ่มธนาคารให้ดีดตัวขึ้นมาพอสมควรในสองสามเดือนที่ผ่านมาแต่หลังจากข่าวลดดอกเบี้ยกู้ MLR ได้ถูกปล่อยออกไปทำให้ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มธนาคารได้สร้างความประหลาดใจและคาดไม่ถึงกับเหล่านักลงทุนที่อาจจะกำลังเพลิดเพลินกับช่วงขาขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร
สำหรับคนที่ไม่คุ้นๆเคยกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มากนักอาจจะสงสัยว่าแล้วดอกเบี้ยกู้ MLR นี้มันคืออะไรกันแน่ ทำไมถึงสร้างผลกระทบต่อราคาของหุ้นกลุ่มธนาคารได้มากขนาดนี้ ต้องขออธิบายดังนี้ครับว่า
ดอกเบี้ยของธนาคารที่สำคัญๆมีอยู่ 3 ตัว ด้วยกัน นั่นก็คือ MLR ,MRR และ MOR
- MLR หรือ ชื่อเต็มคือ Minimum Loan Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน อย่างเช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ เป็นต้น
- MOR หรือ Minimum Overdraft Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือมีลักษณะเหมือนการทำสินเชื่อบัตรกดเงินสด ที่สามารถกดเงินเกินออกไปใช้ได้ก่อนแล้วค่อยผ่อนชำระคืนในภายหลังนั่นเอง
- MRR หรือ ชื่อเต็มคือ Minimum Retail Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น ซึ่งดอกเบี้ยตัวนี้ หลายคนจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นดอกเบี้ยที่ผูกพันกับชีวิตประจำวันเป็นที่สุดเลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่สำคัญที่สุดของแต่ละธนาคาร นั่นก็คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ซึ่งเป็นการปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายใหญ่ๆ โดยมักจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆของประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้เหตุที่มันมีความสำคัญมากที่สุดเป็นเพราะเนื่องจากจำนวนเม็ดเงินที่ให้บริษัทขนาดใหญ่ต่างๆของประเทศกู้ยืมนั้น เป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ดั้งนั้นหากลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียงนิดเดียว อาจจะแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เพียงเท่านั้น นั่นอาจจะเท่ากับว่ากำไรหรือรายได้ของธนาคารอาจจะลดลงไปมหาศาลเลยทีเดียว จากที่ได้ดูข่าวใน www.efinancethai.com จะเห็นได้ว่าแต่ละธนาคารได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลงในอัตราดั้งนี้
- KBANK ประกาศลด MLR ลง 0.25% เหลือ 6.25% ต่อปี
- BBL ประกาศลด MLR ลง 0.25% เหลือ 6.25% ต่อปี
- KTB ประกาศลด MLR ลง 0.25% เหลือ 6.275% ต่อปี
- TMB ประกาศลด MLR ลง 0.25% เหลือ 6.775% ต่อปี
2 สาเหตุที่ทำให้การลดดอกเบี้ย MLR ครั้งนี้ทำให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนดูจะแตกตื่นกันเป็นพิเศษ
1.การลดดอกเบี้ยMLR ในครั้งนี้ไม่ได้ปรับลดตามอัตราดอกเบี้ยของนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงค์ชาติ
หลายคนที่อาจจะไม่เคยติดตามอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่รู้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะโดยปกติแล้วการที่ธนาคารจะปรับลดหรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น มักจะปรับตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ นอกจากนั้น ส่วนใหญ่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการปรับลดทั้งขาดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้พร้อมกัน เพื่อให้เกิดสมดุลขึ้นและกำไรของธนาคารยังพอจะรักษาได้อยู่ในระดับเดิม แต่การลดดอกเบี้ยคราวนี้ไม่ใช่ เพราะการลดดอกเบี้ยคราวนี้เป็นการปรับลดแต่ฝั่งของดอกเบี้ยเงินกู้เพียงอย่างเดียว จึงนับว่าเป็นเรื่องที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลยก็ว่าได้ แม้จะมีคนออกมาพูดว่าธนาคารทำเพื่อเป็นการช่วยลูกหนี้และช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ก็อาจจะฟังดูเป็นข้ออ้างที่นักลงทุนไม่เชื่อสักเท่าไหร่
2.การลดดอกเบี้ย MLR นั้น สามารถที่จะคาดการณ์ได้ว่าจะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้อื่นๆลดตามไปด้วย
เช่น อาจจะเกิดกรณีที่ดอกเบี้ย MRR ที่ธนาคารหลายแห่งใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล หรือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับลดตามลงมาด้วยเช่นกัน นั่นก็จะยิ่งทำให้กำไรของธนาคารลดลงไปอีก แต่ก็เป็นผลดีต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ด้วยดอกเบี้ยที่ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งของดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่ประจำนั่นเอง
อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องรอดูกันต่อไป หากว่าธนาคารมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากก็อาจจะทำให้สถานการณ์ดูดีขึ้นมากได้บ้างแม้ธนาคารอาจจะยังเสียเปรียบอยู่เหมือนเดิมเนื่องจาก ดอกเบี้ยเงินกู้นั้นเป็นการปรับลดทันที พอถึงวันที่ประกาศให้มีผล ก็ลดในวันนั้นเลย ตรงกันข้ามกับดอกเบี้ยเงินฝาก ที่คิดเป็นรายวันเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยประเภทฝากประจำจะต้องรอครบรอบก่อนจึงจะปรับลดลงได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังส่งผลดีต่อประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงจนเกินไปนั่นเอง