การบริหารเงินทุนหมุนเวียนถือว่าเป็นความรู้และเป็นความสามารถพื้นฐานของเจ้าของกิจการหรือเจ้าของธุรกิจ เพราะว่าการบริหารเงินทุนหมุนเวียนจะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้บริษัทหรือธุรกิจของเรา สามารถอยู่รอดได้ในยุคปัจจุบัน ช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างเรื่อยๆต่อเนื่อง ช่วยให้ธุรกิจมีเงินที่จะใช้จ่ายในส่วนต่างๆในแต่ละวันรวมไปถึงสามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ แต่ถ้าหากว่าผู้บริหาร เจ้าของกิจการ เจ้าของธุรกิจ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการ บริหารเงินทุนหมุนเวียน ดีเท่าที่ควร ก็อาจจะทำให้ธุรกิจของตัวเอง มีสภาพคล่องทางการเงินที่ไม่ค่อยดีเท่าที่ควรจนถึงกับไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้นะ
เงินทุนหมุนเวียน คือเงินในสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมดหักออกจากหนี้สินหมุนเวียนทั้งหมด ซึ่งสินทรัพย์หมุนเวียนคือเงินที่กิจการหรือธุรกิจของเราสามารถหาได้ใน 1 ปี ไม่ว่าจะเป็นทั้งเงินสด เงินฝาก เงินลงทุน ตั๋วรับเงินและสินค้าที่หลงเหลือ ส่วนหนี้สินหมุนเวียนก็คือหนี้สินต่างๆที่เราต้องชำระคืนภายใน 1 ปี อย่างเช่นเงินกู้ธนาคาร ตั๋วเงินจ่าย ค่ายใช้จ่ายต่างๆ โดยเงินทั้งสองส่วนนี้เป็นสิ่งที่มีความคล่องตัวที่สูงมากรวมไปถึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ฉะนั้นแล้วต้องดูแลและใส่ใจอย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่สภาพคล่องของธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจอาจจะไม่สามารถไปต่อได้
ระดับเงินทุนหมุนเวียน จะขึ้นอยู่กับทางผู้บริหารว่ากิจการที่ทำอยู่จะต้องใช้เท่าไหร่และไม่สามารถบอกได้ว่าจะต้องใช้มากขนาดไหน ซึ่งการบริหารเงินทุนหมุนเวียนจะมีความคล่องสูงหรือต่ำ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของเจ้าของกิจการว่าจะจัดหนี้สินและเงินทุนให้มีสัดส่วนแบบไหน มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร จะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่มี ผลตอบแทนที่ได้รับ และอื่นๆของธุรกิจรวมไปถึงลักษณะของธุรกิจ โดยการพิจารณาระดับเงินทุนหมุนเวียน จะขึ้นอยู่กับสิ่งต่างๆดังนี้
-
ทัศนคติของผู้บริหารในเรื่องของความเสี่ยงและกำไร
ผู้บริหารแต่ละคน จะมีทัศนคติในส่วนนี้ที่แตกต่างกันไป โดยผู้บริหารที่ระมัดระวัง จะมองว่าการลงทุนด้วยการก่อหนี้สิน จะทำให้มีต้นทุนและมีความเสี่ยงที่มาก หากกิจการขาดสภาพคล่องไม่มีเงินไปจ่ายหนี้อาจจะทำให้กิจการล้มละลายได้ แต่สำหรับผู้บริหารที่กล้าเสี่ยง จะมองว่าการลงทุนด้วยการก่อหนี้ จะเป็นโอกาสที่สร้างผลตอบแทนได้มากกว่า
-
ลักษณะของกิจการ
แน่นอนว่ากิจการที่แตกต่างกันไป ปริมาณเงินทุนหมุนเวียนและการบริหารเงินทุนหมุนเวียนก็ย่อมแตกต่างกันไป โดยธุรกิจที่มีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน ใช้ระยะเวลานานในการผลิต มีความจำเป็นที่ต้องมีสินค้าอยู่ในคลัง เพื่อที่จะเก็บของให้ได้ตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ มักจะเป็นธุรกิจที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก แต่ในทางกลับกันหากเป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยมีซับซ้อนสักเท่าไหร่ ความคล่องของสภาพทางการเงินก็อาจจะไม่ต้องมากก็ได้
-
ปริมาณยอดขายของธุรกิจ
หากยอดขายของธุรกิจ มียอดขายที่สูง สามารถขายได้มาก ทำกำไรได้มหาศาล แน่นอนว่าเงินทุนหมุนเวียนก็จะมีมากเพื่อที่จะนำมาใช้ภายในกิจการต่อไป
-
สภาพการตลาดและปริมาณการแข่งขัน
ยิ่งกิจการมีเงินทุนที่มากเท่าไหร่ ความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น เพราะว่าทางเจ้าของกิจการสามารถใช้เงินในส่วนนั้นสร้างข้อได้เปรียบทางการตลาดเพื่อให้กิจการของตัวเองเหนือกว่าคู่แข่งได้
-
นโยบายการดำเนินการ
หากเจ้าของกิจการต้องการเพิ่มระดับเงินทุนหมุนเวียนให้สูงขึ้น เพื่อที่จะเพิ่มกำไรการผลิตหรือนำไปใช้ในส่วนอื่นๆเพื่อที่จะเพิ่มกำไรให้กับกิจการของตัวเอง อาจจะหาเงินโดยการกู้ยืม ทำให้กิจการมีรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นจนอาจจะทำให้กำไรของกิจการลดน้อยลง แต่เมื่อจ่ายหนี้สินครบแล้ว กำไรของกิจการจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเลยล่ะ แต่ในทางกลับกันบางกิจการที่ไม่การยุ่งกับสภาพคล่องที่เป็นอยู่ ก็อาจจะเลือกรักษาเงินสดไว้ไม่นำมาลงทุน และในบางครั้งก็อาจจะทำให้เสียโอกาสในการลงทุนได้
-
ความสามารถในการหาเงินทุน
หากเราสามารถทำกำไรจากการขายของได้มากแล้วนำเงินนั้นไปลงทุนต่อจนมีกำไรที่มากขึ้นกว่าเดิม แน่นอนว่าปริมาณเงินทุนหมุนเวียนก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน และเราก็สามารถนำกำไรในส่วนนี้มาใช้ได้ต่อเรื่อยๆจนไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม
ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่ทั้งหมดในการพิจารณาปริมาณเงินทุนหมุนเวียน แต่ปริมาณเงินทุนหมุนเวียนต้องอาศัยวิสัยทัศน์ของเจ้าของกิจการด้วย โดยเราสามารถแบ่งตามลักษณะวิสัยทัศน์ของเจ้าของกิจการได้ดังนี้
-
บริหารแบบกล้าเสี่ยง
ยิ่งการลงทุนมีความเสี่ยงสูงมากเท่าไหร่ แน่นอนว่าผลตอบแทนก็ยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าโอกาสที่จะเกิดปัญหาสภาพคล่องตามมา ก็จะมีโอกาสสูงขึ้นเช่นกัน
-
บริหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เป็นการบริหารที่ยึดหลักความเสี่ยงต่ำ โดยการบริหารในลักษณะนี้จะมีต้นทุนทางการเงินที่มาก มีสภาพคล่องทางการเงินที่สูง ความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ต้องยอมแลกมากด้วยกำไรที่ต่ำด้วยเช่นกัน เนื่องจากขาดโอกาสในการทำรายได้
-
บริหารแบบทางสายกลาง
เป็นการบริหารที่ไม่หวือหวา รักษากำไรและความเสี่ยง ให้อยู่ในระดับสมดุล เพราะว่านำเงินที่ได้จากแหล่งเงินระยะสั้นมาใช้ในส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียนชั่วคราว และนำเงินจากแหล่งระยะยาวไปใช้ในสินทรัพย์หมุนเวียนประจำและสินทรัพย์ถาวร การบริหารในลักษณะนี้เป็นการบริหารที่มีประสิทธิภาพและมีกำไรในระดับที่น่าพึงพอใจ
เพียงเท่านี้ เราก็สามารถวางแผนการบริหารเงินทุนหมุนเวียนก่อนทำธุรกิจได้เป็นอย่างดีแล้วและที่สำคัญ ถึงแม้ว่าจะรู้การบริหารเงินทุนหมุนเวียนแต่เราก็ไม่ควรลืมที่จะศึกษารายละเอียดอื่นๆก่อนทำธุรกิจ เพื่อลดความเสี่ยงให้มากที่สุด
อ่านเพิ่มเติม : อย่าทำธุรกิจ ถ้ายังไม่รู้จัก เงินทุน ดีพอ