เรื่องเงินทองๆทั้งที่เป็นของนอกกายแท้ๆ แต่คนเรากลับให้ความสำคัญกับเงินทองเป็นอันดับต้นๆเลย นอกจากปัจจัย 4 ที่มีความจำเป็นอย่าง เสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคแล้ว ถ้ามีปัจจัย 5 ได้ก็คงจะเป็นเงินนี่ล่ะเพิ่มมาอีกหนึ่งอย่าง เงินทำไมถึงมีความสำคัญกับเรามากขนาดนั้น ? คำตอบสั้นๆ ง่ายๆ ที่เข้ากับสังคมสมัยนี้เป็นอย่างมากนั่นก็คือ “ ไม่มีเงิน เท่ากับ ไม่มีกิน” นั่นเองค่ะ เพราะฉะนั้นแล้วจะทำอะไร จะใช้จะจ่ายอะไร ก็ต้องมีการวางแผนให้รอบคอบ ไม่ใช่ว่า มีอะไรก็จ่าย จ่ายออกไปอย่างเดียว วันนี้ค่ะ เราจะมาเรียนรู้เคล็ดลับ วางแผนการเงินให้ใช้ได้จริง กันว่า วางแผนอย่างไรให้มันเกิดผลจริงในสถานการณ์ชีวิตประจำวัน
หลายคนคงได้ติดตามอ่านบทความบนหน้าเว็บไซต์ของเราก็อาจจะคุ้นเคยกันดีกับบทความที่พูดถึงการวางแผนการเงิน เคล็ดลับต่างๆ ทั้งเทคนิควิธีในการออม หรือแม้แต่แนวทางในการลงทุน หรือการเลือกใช้จ่าย ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกันหมดค่ะ เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง จุดเริ่มต้นอยู่ที่การวางแผนนั่นเอง เรื่องความมีวินัย ความอดทนอดกลั้น ความสม่ำเสมอ อันนี้เรารู้กันอยู่แล้วว่าต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
แต่การวางแผนที่ดีนั้น เราจำเป็นต้องกำหนดให้ได้ค่ะ ว่าเราจะเริ่มเมื่อไหร่และต้องการเห็นผลจริงตอนไหน ? ฉะนั้นแล้ว แผนการเงินจึงต้องมีเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราจะทำแบบไม่มีขอบเขตเวลาชัดเจนมันจะทำให้เราไม่เห็นพัฒนาการเท่าไหร่นัก เราจึงอยากให้ทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ ได้ลองคิดกันค่ะว่า ช่วงอายุเท่าไหร่ เราจะต้องทำอะไรให้สำเร็จ (อาจจะหาตัวช่วย กระดาษกับปากกา ช่วยจด เป็นเส้นเวลาหรือตีเป็นตารางก็ได้ค่ะ) ถ้าได้คำตอบแล้ว เราจะมาแยกส่วนกันทีละอย่างไปค่ะ
การวางแผนการเงินให้ได้ผลจริงจะแบ่งออกเป็นช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ช่วงเวลา ณ ปัจจุบัน ภายใน 1 ปีนี้ เราจะตั้งเป้าหมายอะไรบ้าง เช่น จะเก็บออมเงินให้ได้หนึ่งแสนบาท , จะหางานให้ได้ , จะทำโบนัส,คอมมิชชั่นให้ได้ตามเป้าหมาย,จะลงเรียนคอร์สฝึกภาษาอังกฤษ,จะเรียนให้จบปริญญาตรี,จะไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น
- ช่วงเวลาภายใน 2-3 ปีข้างหน้า เราจะเริ่มขยายเป้าหมายของเราให้ใหญ่ขึ้นอีก 1-2 ขั้น เช่น จะสอบชิงทุนเรียนต่อต่างประเทศให้ได้,จะก่อตั้งธุรกิจส่วนตัวเล็กๆของครอบครัว,จะทำขั้นเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงาน,จะนำเงินไปลงทุนในหุ้น เป็นต้น
- ช่วงเวลาที่มากกว่า 10 ปีขึ้นไป ช่วงนี้จะเป็นช่วงวัยที่เราผ่านมรสุมชีวิตมามากมายแล้ว ประสบการณ์ที่เราสั่งสมมาจะช่วยให้เราตัดสินใจอะไรๆง่ายขึ้น และ ความฝันหรือเป้าหมายของเราจะชัดเจนขึ้น เราจะพอรู้แนวทางว่าอะไรที่เราทำแล้วจะประสบความสำเร็จมากที่สุด แล้วเราจะมุ่งเป้าไปกับมันมากยิ่งขึ้น เช่น ขยายกิจการเพิ่ม,จะขยายฐานการส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน,เที่ยวรอบโลก เป็นต้น
เมื่อเราได้ช่วงเวลาที่ชัดเจนแล้วว่าภายในระยะเวลากี่ปี เราก็จะมาแยกย่อยกันค่ะว่า ในแต่ละเป้าหมายนั้น เราจะต้องได้ใช้เงินไปเท่าไหร่ ? อย่างบางคนอยากจะลงทุนทำธุรกิจส่วนตัว ก็ต้องมาคิดต่ออีกว่า จะหางบในส่วนของเงินทุนนั้นมาจากไหน หรือ อยากเรียนต่อต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายคร่าวๆจะอยู่ที่เท่าไหร่ เราจะต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไหร่ถึงจะครบตามค่าใช้จ่ายนั้นๆ ให้พยายามคิดคำนวณออกมา แล้วเราก็จะเห็นภาพรวมทั้งหมด ทีนี้เราก็จะนึกออกแล้วว่าเราพอที่จะทำอะไรให้เป็นรูปธรรมได้บ้าง จากนั้นเราก็มาเรียงลำดับกันว่า ในแต่ละช่วงจะทำอะไรก่อน-หลังดี โดยพิจารณาความสำคัญเป็นอย่างๆไป
สรุป เทคนิคการวางแผนการเงินให้ได้ผล นั้น จำเป็นต้องมี 4 อย่างต่อไปนี้
1.เป้าหมาย
- ระยะเวลา/ช่วงเวลา
3.ค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะต้องจ่าย (เป็นตัวเลขเท่าไหร่?)
4.มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน
การวางแผนของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน และสิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นในการวางแผนการเงินที่ดีก็คือ การสำรวจกำลังของตัวเอง จริงอยู่ที่ว่า เราวางเป้าหมายเราไว้ ว่าปีนี้เราจะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ แต่ความสำเร็จนั้นอย่าลืมว่ามันก็ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยด้วยกัน เพราะฉะนั้นอย่าลืมที่จะตรวจสอบตัวเอง โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้เงินที่เป็นตัวแปรสำคัญมาก ถามตัวเองก่อนว่า มีรายได้เข้ามาในแต่ละเดือนนั้นเท่าไหร่ แล้วต้องจ่ายอะไรบ้างในแต่ละเดือน ตัวเองมีนิสัยการใช้เงินอย่างไร ? ฟุ่มเฟือยหรือไม่? ติดหรูหรือเปล่า? พฤติกรรมแย่ๆลดได้ไหม เปลี่ยนตัวเองได้หรือเปล่า เป็นสิ่งที่ต้องให้คำตอบกับตัวเองให้ได้
แผนการเงินของเราอาจจะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการของเราด้วยค่ะ ถ้าเราทำสำเร็จได้เร็ว เราอาจจะมีเป้าหมายอื่นๆที่เพิ่มขึ้นจากที่คิดไว้ หรือเป้าหมายที่เราตั้งไว้นั้น มีความยากกว่าที่คิดเราอาจจะต้องขยายเวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นต้น แต่อย่างไรเสียก็ขอให้เรารู้ว่า แต่ละเป้าหมายแต่ละอย่างมีพัฒนาการอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง