บางคนอาจคิดว่า ความรัก กับ เงินตราไม่น่าจะเป็นสองสิ่งที่จะมาพูดให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ มีคู่รักอีกหลายคู่ที่กำลังคิดเรื่องวางแผนอนาคตก่อนที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการดี เพราะจะได้มีการวางแผนตั้งแต่ การจัดงานแต่งงาน และการมีเงินออมในช่วงหลังแต่งงาน รวมถึงการมีลูกน้อยและการออมที่ยาว แต่มีอีกหลายคู่ที่ไม่ได้เตรียมการเรื่องนี้ พอแต่งงาน หรืออยู่กินกันไปแล้ว กลับทำให้เกิดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาการเงิน จนทำให้เกิดการทะเลาะ และกลายเป็นปัญหาครอบครัว มีหลายคู่ที่เกิดปัญหาเรื่องค่าสินสอด พิษจากเงินสินสอด หรือค่าสินสอดและการแต่งงาน เรียกได้ว่ามีให้เห็นกันทุกวัน การปรับทัศนคติใหม่เกี่ยวกับเรื่องความรักและเงินกัน จะต้องไล่กันแบบเป็นสเต็ปตั้งแต่ช่วงเริ่มคบจนไปถึงแต่งงาน
ช่วงเวลาตั้งแต่เกิดความรักครั้งแรกจนกระทั่งเริ่มคบกัน
เวลาแห่งความสุขของคนที่จีบกันใหม่ๆ เริ่มคบกันแรกๆ อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เงินในทางที่ฟุ่มเฟือยเสมอไป ลองชวนกันหากิจกรรมดีๆ ไม่ว่าจะเดินคุยกัน เดินเล่นในสวนสาธารณะเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด หรือชวนกันมาทำอาหารทานกินกันเอง หรือแม้แต่การไปดูฟรีคอนเสิร์ต เรียกว่าเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ดีๆ แบบไม่ต้องใช้ตังค์ให้มากที่สุด
ช่วงแรกของการคบ ส่วนใหญ่มักจะนำเสนอแต่ด้านดีของตัวเอง คุณควรให้ความสนใจกับนิสัยทางการเงินของคนรักหรือแฟน เพราะการที่อีกฝ่ายเป็นคนอ่อนโยน และแสนดีมีน้ำใจนั่น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแฟนของคุณจะมีความรับผิดชอบทางการเงินที่ดีเสมอไป ลองสังเกตวิธีที่เค้ารับมือกับปัญหาในชีวิตศึกษาไลฟ์สไตล์ และ ศึกษานิสัยเรื่องการใช้จ่ายด้วย ลองพูดคุยถึงความฝันและเป้าหมาย ของชีวิตที่คุณจะทำด้วยกันในอนาคต อาจรวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายร่วมกัน เพื่อดูแนวโน้มว่าเป้าหมายของคุณและคนรักมุ่งไปในทางเดียวกันรึไม่
สัมผัสรักในช่วงดูใจ ดูดีๆ ก่อนตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน
แม้ว่าคุณจะตกหลุมรักแฟนคุณมากแค่ไหน แต่อย่าเพิ่งคิดจะหอบไปปักหลักปักฐานไปอยู่ด้วยกัน หากยังไม่เคยได้พูดคุยกันเรื่องในเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในบ้านหรือแม้แต่ค่าหอพัก แต่เมื่อเป็นเหตุสุดวิสัยและไม่สามารถห้ามใจไม่ให้ใกล้กันได้ และเมื่อย้ายไปอยู่ด้วยกันแล้วก็ควรจะมีข้อตกลงร่วมกัน และควรพูดถึงเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำค่าไฟ รวมไปถึงของใช้เล็กๆน้อย และหากดูใจกันมาสักระยะแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มมีการเอาเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องกันมากขึ้น ควรคิดให้รอบคอบก่อนสำหรับเรื่องเงิน ในกรณีที่อีกฝ่ายขอร้องให้กู้ร่วมในกรณีใดๆ ก็ตาม
พร้อมลั่นระฆังวิวาห์ หากตัดสินใจพลาดชีวิตจะเปลี่ยนทันที
หลังจากที่ศึกษาและพร้อมที่จะเป็นครอบครัวกันแล้ว ก็ตกลงปลงใจกันเตรียมตัวแต่งงาน แต่อย่าลืมว่าค่าจัดงานนั้นไม่ใช่น้อยๆ การแต่งงานแบบพิธีใหญ่ๆ เพื่อรักษาหน้าตาหรือแสดงความมั่งมี ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่มี อาจจะทำให้จนในพริบตา เหมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ลองทบทวนดูก่อน และหากหันมาจัดเป็นพิธีเล็กๆ ที่สามารถจัดการได้ง่ายแถมดูอบอุ่นน่าจะเป็นความท้าทายอีกอย่างและทำให้แขกที่มางานจดจำมากกว่า ก่อนจะไปถึงพิธีสมรส ลองช่วยกันเก็บเงินเพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในงานแต่งกันก่อนดีไหม จะได้ไม่ฉุกละหุกในวันอันใกล้ ที่สำคัญไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน สามารถเปิดบัญชีร่วมกัน หากเงินเหลือหลังจากจัดงานก็ยังสามารถทำให้กลายเป็นต้นทุนชีวิตคู่อีกก้อน เพราะหากไม่มีการเตรียมตัวใดๆ ก็อาจจะทำให้จนกรอบหลังจากเริ่มต้นชีวิตคู่ และอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องเงินตามมา ส่วนเรื่องการจดทะเบียน ทรัพย์สินส่วนตัวที่มาก่อนกับสินสมรสควรแยกให้ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายในหลัง ถึงแม้ว่าความรักของคุณอาจไม่ได้เริ่มต้นที่เรื่องของฐานะและการเงิน แต่การอยู่ร่วมกันจำเป็นต้องมีปัจจัยที่ต้องใช้ในการดำรงชีวิต เหมือนกับชีวิตคู่ก็เช่นเดียวกัน จะต้องมีการวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ
วางแผนรักร่วมชีวิตกับและการจัดการรายได้
เรื่องราวของความรักที่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า มีความเกี่ยวข้องกันของความสัมพันธ์ตั้งแต่เริ่มคบหาดูใจจนไปถึงการก้าวเข้าสู่การแต่งงาน ชีวิตรักไม่เหมือนในละครที่จะจบลงที่ฉากสุดคือการแต่งงาน เพราะในความเป็นจริง คู่รักยังคงต้องดำเนินต่อไปและจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่จะต้องเกิดขึ้น ซึ่งคุณจะต้องเตรียมรับมือและแก้ปัญหาให้ได้ การแต่งงานและการจดทะเบียนสมรสย่อมมีผลต่อสถานะ ในเรื่องของการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ซึ่งหากคู่สมรสไม่มีเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงที่ไม่มีเงินได้ ก็จะทำให้อีกฝ่ายสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าจะอยู่ด้วยกันครบตลอดปีภาษีหรือไม่ก็ตาม แต่หากต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ เรื่องการหักค่าลดหย่อน ภาษี จากค่าใช้จ่ายของเงินที่หาได้ รวมถึงการนำเงินไปยื่นรวมกับการคำนวณภาษีก็จะแตกต่างกันด้วย ทางที่ดีทดลองทำแบบรายการกันก่อนแล้วจึงค่อยทำการตัดสินใจว่าจะยื่นรวมหรือแยกยื่น เพราะภาษีที่ต้องเสียอาจต่างกัน แต่หากคนหนึ่งอยู่ดูแล และอีกคนออกไปทำงานเต็มเวลา ก็ต้องยอมรับในเรื่องของบทบาทหน้าที่ การเงินและค่าใช้จ่ายในแต่ละวันที่จะต้องแตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมาจากการพูดคุยกันเพื่อให้เข้าใจกัน
หากออกไปทำงานทั้งคู่ ก็ต้องคุยกันด้วยว่าใครจะเป็นคนจ่ายค่าอะไร รับผิดชอบเรื่องไหนในบ้าน หรือแบ่งตามสัดส่วนของรายได้ แต่ก็ควรมีเงินเหลือไว้สำหรับใช้จ่ายส่วนตัว และเงินออมในอนาคต จะได้รู้สึกเป็นอิสระและชีวิตรักจะมีความสุข หากทุกอย่างลงตัว
อ่านเพิ่มเติม : เทคนิค ออมเงินแต่งงาน วางแผนก่อนใช้ชีวิตคู่