การสร้างครอบครัว ก็เหมือนกับการออกแบบชีวิต ที่จะต้องมีการวางโครงสร้างให้แข็งแรง เพื่อที่จะทำให้ชีวิตคู่ ราบรื่น ก็เหมือนกับการสร้างบ้านให้น่าอยู่ ซึ่งจะประกอบด้วยการออกแบบลงตัวและเหมาะกับการอยู่อาศัย ซึ่งจะต้องวางโครงสร้างแข็งแรงรองรับทุกสถานการณ์ และตกแต่งสวยงาม การสร้างครอบครัวเองก็ต้องเริ่มต้นจากความรัก และการพัฒนาความสัมพันธ์จนถึงการตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน การวางแผนเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงาน เงิน เวลา ก็เปรียบเหมือนการวางโครงสร้างที่แข็งแรงให้กับชีวิตคู่ได้ราบรื่น รวมถึงการใช้จ่ายหาความสุขไม่ว่าจะไปเที่ยวพักผ่อน หรือซื้อบ้าน ซื้อรถใหม่ ซึ่งจะทำให้ชีวิตมีสีสันมากขึ้น วางแผนการเงินเป็นการวางโครงสร้างที่แข็งแรงให้กับครอบครัว ซึ่งไม่ได้ง่ายมากแต่ก็อาจะไม่ยากจนเกินความตั้งใจ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่การตั้งเป้าหมายชัดเจน และการวางแผน การเงินเพื่อครอบครัว รวมถึง วางแผนผ่อนบ้าน ได้แบบไม่ทุกข์ใจ
1.ตั้งเป้าหมายการเงินชัดเจน
ตัวเลขที่สำคัญของการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนคือ ทรัพย์สินสุทธิหลังหักหนี้สิน ซึ่งจะต้องเป็นบวกและเพิ่มขึ้นทุกปีทั้งนี้ก็เพื่อสะสมความมั่งคั่งให้กับชีวิตที่มั่นคง ส่วนมูลค่าทรัพย์สินเท่าไหร่ดีถึงจะเพียงพอนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกในครอบครัว และค่าใช้จ่ายต่อเดือนของสมาชิกในบ้านแต่ละคน และระยะเวลาที่ต้องเลี้ยงดู ซึ่งอาจตั้งเป้า ว่าจะมีทรัพย์สินสุทธิประมาณ สิบล้านบาทภายในอายุ 60 ปี
2.ทำงบการเงินเพื่อให้เห็นสถานะการเงิน
งบที่สำคัญก็คือ งบดุลและงบรายได้ และค่าใช้จ่าย ซึ่งงบดุลจะแสดงรายการทรัพย์สินทั้งหมดที่มี แล้วนำมาลบด้วยหนี้สินทั้งหมดที่มี สำหรับส่วนที่เหลืออาจจะเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ลองทำงบปีละครั้งช่วงสิ้นปีทั้งนี้ก็จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินสุทธิในแต่ละปี ส่วนงบรายได้ค่าใช้จ่ายจะมีการแสดงรายการของรายได้ทั้งหมดที่มี และลบด้วยรายจ่ายทั้งหมดที่มี ส่วนที่เหลือก็จะเป็นเงินออม ซึ่งในทางปฏิบัติหากมีนิสัยใช้เงินเก่งและเก็บเงินไม่ค่อยอยู่ ลองหักเงินออมทันทีเมื่อมีรายได้เข้ามาอย่างน้อยประมาณ 10% แล้วค่อยนำเงินที่เหลือไปไว้สำหรับใช้จ่าย
3.จัดการทรัพย์สินและบัญชีหนี้สิน
จุดสำคัญของการออมเงินเพื่อครอบครัวคือ ทรัพย์สินต้องเพิ่มมูลค่าเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อให้ได้ ควรมองหาลู่ทางการออมและการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า อย่างบัญชีที่เป็นเงินฝากประจำที่มีดอกเบี้ยสูง หรือพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ประกันชีวิต หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กองทุนรวม หรืออสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ส่วนหนี้สินหากมีก็ไม่ควรเกิน 2 เท่าของทรัพย์สิน เพราะหากจ่ายไม่ไหวจะกลายเป็นหนี้เสีย และหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่จะมาจากบ้าน บัตรเครดิต รถยนต์ และสินเชื่อเงินสด จึงไม่ควรสร้างหนี้เกินฐานะของครอบครัว
4.จัดการรายได้และรายจ่าย
จุดสำคัญของการออมเพื่อครอบครัวอีกอย่างคือ คือ รายจะได้ต้องมากกว่ารายจ่ายพอสมควร ซึ่งหากรายได้มีหลายทางก็จะเป็นหลักประกันว่าหากรายได้หลักมีการสะดุด ก็ยังคงมีรายได้จากทางอื่นเข้ามาเสริม อาจแบ่งเป็นรายได้จากเหงื่อแลกเงิน กับรายได้จากทรัพย์สินที่สร้างเงิน โดยรายได้แบบหลังคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญมาก แต่จริง ๆ แล้วสำคัญ เมื่อวันที่หยุดทำงานประจำ จะเห็นได้ว่ารายได้จากทรัพย์สินสร้างเงินก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป ส่วนเรื่องรายจ่ายนั้น ก็ต้องแยกแยะให้ได้ว่าอะไรคือ รายจ่ายจำเป็นกับรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือย ซึ่งหากลดได้ก็จะดี เพราะแม้ว่าทำให้มีความสุขแต่อาจทุกข์ในระยะยาว
นอกจากจัดการการวางแผนเงินออมเพื่อครอบครัวแล้ว หากไม่มีการประเมินตัวเอง และยังอยู่ในภาวะที่มีภาระมากมาย จนทำให้มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือเพียงพอต่อการผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน ก็ไม่ควรที่จะกู้เงินมาผ่อนบ้านโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เป็นหนี้ และสุดท้ายอาจจะถูกยึดบ้านที่คุณอุตส่าห์ตั้งใจหามาทั้งชีวิต ก่อนจะซื้อบ้านสิ่งที่ควรจะเตรียมพร้อมนั้นมีอะไรบ้าง
1.การประเมินและประมาณเงินที่ต้องผ่อน
เมื่อคิดจะมีบ้านควรประเมินตัวเองก่อน และควรมีเงินออมเพื่อเตรียมไว้ดาวน์ 10–15 % ของราคาบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักเกินไปสำหรับการผ่อนสินเชื่อกับธนาคารในแต่ละงวด ธนาคารมักให้วงเงินกู้ประมาณ 80-90% ของมูลค่าบ้าน แต่ก็ขึ้นอยู่กับอาชีพและประวัติทางการเงิน ธนาคารที่มักจะอนุมัติเงิน โดยจะต้องผ่อนต่องวดประมาณ 30-40% ของรายได้ของผู้กู้ คุณจะต้องเข้าใจเรื่องรูปแบบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อบ้าน โดยต้องศึกษาเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เข้าใจ เพราะว่าเป็นส่วนประกอบหลักในการคิดเรื่องการผ่อนจ่ายเงินในแต่ละงวด และยังเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตในการผ่อนบ้าน
2.หาสินเชื่อประเภทที่เหมาะสมกับตัวเอง
ปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อหลากหลายประเภท ที่แยกตามกลุ่มลูกค้าและอาชีพ เช่น สินเชื่อสำหรับโครงการจัดสรรที่ธนาคารได้ให้การสนับสนุน ที่เหมาะสำหรับผู้ซื้อบ้าน ส่วนใครที่อยากจะรีไฟแนนซ์ เพื่อเป็นการไถ่ถอนหลักทรัพย์จำนองจากสถาบันการเงินอื่น เพื่อให้ได้รับดอกเบี้ยต่ำในสถาบันการเงินแห่งใหม่ จากเงื่อนไขพิเศษ ซึ่งทางธนาคารก็ยังมีบริการต่อเติมบ้านเพิ่ม หรือต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ ของตกแต่งบ้านที่สามารถขอกู้สินเชื่อเพิ่มเติมได้ โดยใช้ที่อยู่อาศัยจำนองเป็นหลักประกัน
3.ผ่อนบ้านอย่างมีชั้นเชิง
ใครๆ ก็อยากจะผ่อนบ้านหมดไวๆ ลองใช้วิธีจ่ายเงินต่อเดือนเพิ่มขึ้น ซึ่งการคิดดอกเบี้ยบ้าน เป็นแบบลดต้น-ลดดอก ซึ่งหากจ่ายเงินต้นเยอะเท่าไหร่ ก็จะทำให้ดอกเบี้ยลดลงไปมากเท่านั้น ระยะเวลาในการผ่อนก็จะลดลงเร็วขึ้น
หรือจะทำการทำรีไฟแนนซ์บ้าน (เป็นการนำบ้านที่เสียอัตราดอกเบี้ยแพง ๆ มาขอกู้ใหม่ให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง) ซึ่งจะช่วยให้คุณมีโอกาสได้ผ่อนดอกเบี้ยที่ถูกลง แต่ก็ต้องตรวจสอบจากอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารด้วยว่าเงื่อนไขเป็นอย่างไร เมื่ออัตราดอกเบี้ยถูกลง และคุณมีเงินก้อนก็ควรที่จะโปะเงินก้อนลงไป จะทำให้ช่วยลดระยะ เวลาการผ่อนบ้านให้หมดเร็วขึ้นไปอีก
อ่านเพิ่มเติม : อยากรีไฟแนนซ์บ้าน คุ้มหรือไม่คุ้มมาดูกัน !
การขอสินเชื่อบ้านนั้นเป็นเรื่องง่าย หากมีข้อมูลที่เพียงพอ ก็จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องดอกเบี้ยได้ด้วย ข้อดีที่ลืมไม่ได้คือ สามารถนำดอกเบี้ยบ้านนั้นไปลดหย่อนภาษีได้ถึง 1 แสนบาทเลยทีเดียว