คนส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะฝากเงินไว้กับธนาคารเนื่องจากความคุ้นเคยกับสถานที่และขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำธุรกรรมกับธนาคาร ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยที่ได้ค่อนข้างแน่นอนและมั่นคง
โดยปกติดอกเบี้ยที่เราได้รับจากเงินฝากธนาคารจะต้องเสียภาษีให้กับรัฐด้วย เพราะถือเป็นเงินได้ของเรา โดยธนาคารมีหน้าที่จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในจากดอกเบี้ย 15% ก่อนจ่ายดอกเบี้ยให้กับเรา ดังนั้นรายได้ดอกเบี้ยที่ได้รับจริงจะไม่ได้เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่แต่ละธนาคารประชาสัมพันธ์เอาไว้ หากอยากทราบอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่จะได้รับก็ต้องนำอัตราดอกเบี้ยมาหัก 15% ออกไป เช่น สมมติว่าอัตราดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์กำหนดไว้ที่ 0.75% ดอกเบี้ยที่เราได้รับจริงหลังหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% คิดจาก 0.75% x (100%-15%)=0.6375% เป็นต้น
รายได้ที่เป็นดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคารนี้ รัฐให้เราเลือกที่จะนำมาคำนวณเป็นเงินได้เพื่อยื่นแบบรายการเสียภาษีประจำปีหรือไม่ก็ได้ เราก็ควรพิจารณาเงินได้ทั้งปีของเรา หากเงินได้ที่จะต้องเสียภาษีของเราน้อยทำให้เสียภาษีไม่ถึงอัตรา 15% ก็ควรนำรายได้ดอกเบี้ยไปคิดรวมยื่นเสียภาษีประจำปี เพื่อที่จะได้ขอเครดิตภาษีคืนจากที่เราโดนหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว แต่หากเงินได้ที่จะต้องเสียภาษีของเราทำให้เราต้องเสียภาษีในอัตรามากกว่า 15% ก็ไม่ควรนำรายได้ดอกเบี้ยไปรวมคำนวณยื่นเสียภาษีประจำปี เพราะจะทำให้ต้องเสียภาษีมากขึ้น
ภาษีเงินได้ที่รัฐจัดเก็บจากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในอัตรา 15% นี้ก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน หากทั้งปีดอกเบี้ยจากบัญชีออมทรัพย์ของทุกบัญชีทุกธนาคารรวมกันไม่เกิน 20,000 บาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี ดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน
นอกจากบัญชีออมทรัพย์แล้ว บัญชีเงินฝากประจำก็มีข้อยกเว้นในเรื่องภาษีเช่นกัน หากผู้มีเงินได้มีอายุมากกว่า 55 ปี มีรายได้ดอกเบี้ยจากเงินฝากประจำประเภท 1 ปีขึ้นไป รวมกันทุกบัญชีทุกธนาคารไม่เกิน 30,000 บาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี หรือการฝากเงินประจำแบบเป็นงวด ๆ ฝากทุกเดือน หากระยะเวลา 24 เดือนขึ้นไป ดอกเบี้ยที่ได้ก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน และหากเงินฝากประจำนั้นเป็นการฝากประจำเพื่อการศึกษาหรือเพื่อที่อยู่อาศัยมีระยะเวลาในการฝากมากกว่า 5 ปีขึ้นไป ก็ให้เสียภาษีที่อัตรา 10% เท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม : เทคนิคการออม รวยด้วยการฝากประจำ
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารอยู่ในระดับที่ต่ำมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารประชาสัมพันธ์กับลูกค้าก็ถือว่าต่ำอยู่แล้ว เมื่อต้องมาเจอกับภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย 15% อีก ก็แทบจะไม่เหลืออะไร แทบไม่สามารถดึงดูดเงินฝากจากนักลงทุนได้เลย ทั้งที่จริงเงินฝากก็ถือเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของธนาคารแต่ละแห่ง เนื่องจากธนาคารต้องการกำไรส่วนต่างจากการปล่อยกู้และการฝากเงิน หากไม่มีเงินฝากธนาคารก็ไม่มีเงินจะไปปล่อยกู้ได้เช่นกัน ธนาคารแต่ละแห่งจึงต้องขยันในการหารูปแบบของการฝากเงินใหม่ ๆ ออกมาเพื่อดึงดูดเงินฝากจากนักลงทุนกัน และหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญที่ธนาคารมักนำมาใช้เพื่อเรียกเงินฝากได้เสมอ ก็คือ เงินฝากธนาคารแบบปลอดภาษีที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประเภทอื่น โดยที่ธนาคารและนักลงทุนนิยมกันก็เป็นเงินฝากประจำแบบปลอดภาษีที่ต้องฝากทุกเดือน ตั้งแต่ 24 เดือนขึ้นไป นั่นเอง ปกติธนาคารจะให้เปิดบัญชีประเภทนี้ได้เพียงแค่คนละ 1 บัญชีและจะกำหนดต่อเดือนให้ฝากได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทเท่านั้น ส่วนขั้นต่ำก็เริ่มตั้งแต่ 500 บาท ไปจนถึง 15,000 บาท แล้วแต่ธนาคาร ตลอดระยะเวลา 24 เดือนจะขาดฝากได้ไม่เกิน 2 ครั้ง มิเช่นนั้นจะถือว่าไม่ได้สิทธิ์ยกเว้นภาษี และจะคิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับเงินฝากออมทรัพย์ให้เท่านั้น
วันนี้เราจะมาจัดอันดับเงินฝากปลอดภาษีของแต่ละธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูง แบบฝากประจำ 24 เดือน ปี 2559 กันดูว่า มีของธนาคารไหนน่าสนใจบ้าง
*ข้อมูลข้างต้นอาจมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ควรสอบถามรายละเอียด และเงื่อนไขจากธนาคาร
ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2559
จากตารางด้านบนจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือน ถือว่าน่าสนใจมาก ธนาคารบางแห่งให้ดอกเบี้ยสูงถึง 3.4% เลยทีเดียว ข้อดีอีกอย่างของเงินฝากประเภทนี้นอกเหนือจากการได้ยกเว้นภาษี ก็คือตัวช่วยในการสร้างวินัยในการออมเงินให้กับเรา เพราะต้องนำเงินไปฝากเพิ่มทุกเดือน หากขาดไปก็จะไม่ได้รับดอกเบี้ยสูงตามที่คาดหวังไว้ เมื่อเปิดบัญชีแล้วก็เหมือนเป็นการบังคับให้ต้องทำให้ได้ ฝากให้ทันและให้ครบระยะเวลาด้วย แต่เนื่องจากเป็นการฝากทุกเดือนเป็นเวลา 24 งวด จำนวนเงินที่จะฝากในแต่ละเดือนเราควรพิจารณาให้ดี ไม่ควรน้อยหรือมากจนเกินไป หากน้อยเกินไปก็อาจเป็นการเสียโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยสูง เพราะธนาคารให้เปิดแค่คนละ 1 บัญชีเท่านั้น แต่หากจำนวนเงินมากเกินไป บางเดือนเก็บเงินไม่ถึงหรือมีค่าใช้จ่ายมากทำให้มีเงินไม่พอนำมาฝากก็จะมีปัญหาได้