แน่นอนว่าเมื่อคุณได้รับการนัดหมายเพื่อเรียกตัวไป สัมภาษณ์งาน นั้น ทุกคนต่างต้องตื่นเต้นและดีใจ กับโอกาสอันดีที่ได้รับ แสดงว่าประวัติ ผลการเรียน หรือประสบการณ์การทำงานของคุณนั้นเป็นที่สนใจของบรรดานายจ้าง แต่ก่อนที่คุณจะไปสัมภาษณ์งาน ต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจ รวมถึงเตรียมคำตอบเพื่อรับมือกับสถานการณ์นั้น ๆ ที่อาจเกิดได้ในระหว่างสัมภาษณ์ เพื่อเสริมความมั่นใจและเพื่อป้องกันการเกิดอาการประหม่า หรือไม่รู้จะตอบว่าอะไร กับคำถามที่เราอาจจะถูกตั้งคำถามขึ้นได้หากเราไม่มีความเตรียมพร้อมที่ดีมาก่อน มาดูกันว่า คำถามยอดฮิต เหล่านั้นคือคำถามอะไรกันบ้างค่ะ
-
ช่วยเล่าถึงตัวให้ฟังหน่อยสิ
แนวทางที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ : คำถามนี้ผู้สัมภาษณ์ต้องการจะทราบถึง ชีวิต บุคลิกภาพ ไลฟ์สไตล์ แนวคิด ทัศนคติ ประสบการณ์การทำงานในแบบคร่าว ๆ ให้พอรู้ว่าตัวตนคุณนั้นเป็นเช่นไร ดังนั้น
แนวทางที่ไม่ควรตอบ : เล่าประวัติความเป็นมาโดยละเอียดตั้งแต่สมัยชั้นประถมศึกษา หรือคุณชอบสีอะไร หรือทานอะไร เพราะไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถามอยากทราบ และไม่อยากอะไรที่ยืดเยื้อ
แนวทางที่ควรตอบ : ควรเล่าประวัติการเรียน การทำงาน แบบย่อ ๆ โดยให้กระชับ และจับใจความสำคัญ รวมถึงกิจกรรมพิเศษ งานพิเศษ หรือโปรเจคพิเศษที่ได้รับมอบหมายให้ทำ เพื่อเสริมจุดเด่นให้กับตัวคุณ
-
ทำไมคุณถึงอยากออกจากงานที่ทำอยู่
แนวทางที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ : แน่นอนว่าผู้สัมภาษณ์ต่างอยากรู้ว่าที่คุณออกจากงานมานี้ด้วยเหตุผลอะไร มีปัญหากับนายจ้าง มีปัญหากับหัวหน้างาน เข้ากับผู้ร่วมงานไม่ได้ ผลงานไม่ถึงเกณฑ์การประเมิน หรือที่ร้ายสุดคือโดนให้ออกจากงาน แต่สำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มสมัครงาน ก็ข้ามปัญหานี้ไปได้เลย
แนวทางที่ไม่ควรตอบ : ดังนั้นจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะพูดในลักษณะว่ามีปัญหากับที่ทำงานเก่า ไม่ว่าในกรณีใด ๆ เพราะจะลดความน่าเชื่อถือของคุณลง
แนวทางที่ควรตอบ : ควรตอบในทำนองที่ว่า มองหาความก้าวหน้า มองหาโอกาสอันดีให้กับตัวเอง ถึงเวลาที่ควรก้าวเดินต่อไป ทำที่เก่ามาจนถึงจุดอิ่มตัว มองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อความท้าทายให้กับตัวเอง ซึ่งคำตอบเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมบุคลิกและความน่าเชื่อถือให้ดูดีขึ้น
-
ทำไมคุณถึงอยากทำงานที่นี่
แนวทางที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ : ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ว่าคุณมีความสนใจในการมาสัมภาษณ์ และสมัครงานกับทางบริษัทที่มาสัมภาษณ์นี้มากแค่ไหน มีการค้นคว้าหาข้อมูลของทางบริษัทมาก่อนหรือไม่
แนวทางที่ไม่ควรตอบ : ตอบแบบมีแต่น้ำ แต่ไม่มีเนื้อ หรือไม่เข้าประเด็น เพราะไม่ได้ทำการบ้านมาก่อน
แนวทางที่ควรตอบ : ควรตอบแบบสรุปประเด็นสำคัญของประวัติความเป็นมาของบริษัท ตามที่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมาก่อนที่จะมาทำการสัมภาษณ์ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการตอบคำถาม และส่งเสริมบุคลิกให้ดูดีน่าเชื่อถือ รวมไปถึงแสดงให้ผู้ถามเห็นว่าคุณมีความสนใจและตั้งใจในการมาสัมภาษณ์งานกับทางบริษัท
-
ข้อดีและข้อเสียของคุณ
แนวทางที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ : ข้อนี้ค่อนข้างโหดแต่สำคัญที่ผู้สัมภาษณ์งานมักจะถามกัน เพื่อต้องการเห็นจุดดีจุดด้อยของผู้สมัครงานแต่ละคน เพื่อนำผลไปประกอบในการพิจารณา
แนวทางที่ไม่ควรตอบ : พูดถึงข้อเสียที่ดูไม่ดีต่อตัวเอง โดยเฉพาะเกี่ยวกับในเรื่องการทำงาน ที่อาจส่งผลในแง่ลบจนเกินไป หรือพูดถึงข้อดีของตนเอง จนแลดูเป็นคนยกตนข่มท่าน หรือโอ้อวดเกินความเป็นจริง
แนวทางที่ควรตอบ : ควรพูดถึงข้อดีของตัวเองในแบบสุภาพ และสำรวม เพื่อความน่าเชื่อถือและบุคลิกภาพที่ดี ส่วนในข้อเสีย ควรลองทำเช็คลิสต์ข้อเสียของคุณที่นึกออกมาสัก 5 ข้อ แล้วเลือกอันที่แลดูเป็นข้อเสียที่เบาที่สุด เพื่อความปลอดภัย ไม่ส่งผลในแง่ลบจนเกินไป แต่ยังมีความเป็นจริงอยู่ เพื่อนำเสนอถึงความจริงใจการสัมภาษณ์งาน
-
คุณมีปัญหากับการต้องทำงานล่วงเวลาหรือช่วงวันหยุดหรือไม่
แนวทางที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ : ผู้สัมภาษณ์ต้องการสอบถามถึงความพร้อมของคุณในการมาทำงานกับทางบริษัท ว่าคุณพร้อมทุ่มเทกับบริษัทมากแค่ไหน
แนวทางที่ไม่ควรตอบ : อันนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคุณว่ามีข้อจำกัดในด้านการเลี้ยงดูบุตรหรือผู้สูงอายุหรือไม่ ซึ่งหากว่ามีข้อจำกัดจริง ๆ ก็อาจต้องตอบไปตามตรงตั้งแต่แรก เพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจน และไม่เป็นปัญหาต่อการทำงานในอนาคต
แนวทางที่ควรตอบ : หากคุณไม่มีข้อจำกัดและไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ ก็สามารถตอบได้เลยว่า พร้อมที่จะทำงานนอกเวลาให้ในช่วงงานที่เร่งด่วน หรือช่วงที่มีผู้ตรวจสอบบัญชีเข้า ซึ่งหากว่าพอได้รับเลือกให้เข้าทำงานแล้ว คุณค่อยอาจจะไปพูดคุยทำข้อตกลงกันภายหลัง ในเรื่องค่าล่วงเวลาเพิ่มเติม หรือเสนอเอางานกลับไปทำที่บ้าน หรือมาทำงานเช้ากว่าปกติ จะเป็นทางออกที่ดีกว่า
-
คุณมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อคำวิพากษ์วิจารณ์
แนวทางที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ : ข้อนี้เป็นอีกข้อที่ค่อนข้างโหดสำหรับผู้ถูกสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์ต้องการเห็นถึงทัศนคติ และแนวทางในการรับมือของคุณ เพื่อนำผลไปประกอบในการพิจารณา
แนวทางที่ไม่ควรตอบ : ไม่ควรพูด หรือหยิบยกเหตุการณ์ในที่ทำงานเดิม อันจะส่งผลต่อทัศนคติในเชิงลบของคุณ
แนวทางที่ควรตอบ : ควรพูดหรือหยิบยกเหตุการณ์ที่คุณประสบมา แล้วรู้สึกว่ามันจะเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อมาตอบคำถามในข้อนี้ หรือหากไม่มีประสบการณ์โดยตรง อาจพูดในเชิงแสดงทัศนคติที่ส่งผลในเชิงบวกของคุณ เช่น การวิจารณ์เป็นสิ่งสำคัญในการปรับปรุงตัว เรียนรู้ และส่งเสริมศักยภาพในการทำงาน
-
คุณเห็นตัวเองเป็นอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า
แนวทางที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ : บรรดานายจ้างต่างย่อมเห็นพนักงานของตัวเองนั้นมีความทะเยอทะยาน ตั้งใจทำงาน และทุ่มเทให้กับบริษัท ดังนั้นผู้สัมภาษณ์ย่อมต้องอยากเห็นมุมมองนี้ของผู้สมัครแต่ละคนในการสัมภาษณ์
แนวทางที่ไม่ควรตอบ : ความใฝ่ฝันที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของบริษัท เช่นใฝ่ฝันอยากไปเป็นดารา นักร้อง ช่างแต่งหน้า หรือแม้กระทั่งเดี่ยวไมโครโฟน เป็นต้น
แนวทางที่ควรตอบ : ควรตอบแบบกระชับ เข้าประเด็น ว่ามองเห็นตัวเองเติบโตในสายงาน หรือสายอาชีพนี้ ในระดับผู้บริหาร หรือผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น
คุณชอบทำอะไรเป็นงานอดิเรก
แนวทางที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ : ข้อนี้ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ถึงไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต แรงบันดาลใจ และความตั้งใจจริงของคุณในงานอดิเรก เพื่อเป็นดัชนีชี้วัดได้ถึงความมุ่งมั่นต่อการทำงานของคุณ
แนวทางที่ไม่ควรตอบ : งานอดิเรกที่จะส่งผลในเชิงลบของคุณ หรือไม่ส่งเสริมบุคลิกให้ดูดี
แนวทางที่ควรตอบ : งานอดิเรกที่จะส่งผลในเชิงบวกต่อบุคลิกภาพและประวัติของคุณ เช่น ชอบถ่ายรูป ชอบวาดภาพ ชอบเล่นกีฬา เป็นต้น
-
คุณคาดหวังเงินเดือนเท่าไหร่
แนวทางที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ : ข้อนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องลำบากใจและอึดอัดใจ กับผู้สมัครงานหลายคน แต่ทางที่ดีคุณควรจะมีข้อมูลว่าตำแหน่ง หน้าที่การงานของคุณนั้น ควรมีระดับช่วงอัตราเงินเดือนเช่นไร รวมถึงว่าอัตราในการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนหากมีการเปลี่ยนงานใหม่เป็นเช่นไร เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจของคุณได้ว่าจะเสนออัตราเงินเดือนที่ต้องการประมาณเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนายจ้างยุคใหม่สมัยนี้ จะขอดูสลิปเงินเดือนจากที่ทำงานเดิมของคุณมาดูด้วยเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาเงินเดือนในการสมัครงาน ดังนั้น ควรตอบอัตราเงินเดือนปัจจุบันที่ได้รับ ตามความเป็นจริง เพราะหากว่าคุณตอบไม่ตรงตามความจริงในตอนแรกแล้ว จะไม่ตรงกับหลักฐานที่นำมาแสดง จะส่งผลร้ายต่อตัวเองอย่างมาก
แนวทางที่ไม่ควรตอบ : ต่อรองเงินเดือนโดยวิธีที่ไม่มีไหวพริบ หรือไม่ประนีประนอมเลย
แนวทางที่ควรตอบ : พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ โดยนำข้อมูลที่คุณได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วนำมาประกอบการพิจารณาว่า อัตราที่ควรนำเสนอเป็นเช่นไร แล้วหากนายจ้างขอต่อรอง ก็ลองไตร่ตรองให้ถ้วนถี่ ว่าคุณรับได้หรือไม่ โดยหากยังไม่แน่ใจ คุณอาจขอเวลาในการพิจารณาสัก 2 – 3 วัน แล้วค่อยให้คำตอบ จะเป็นทางออกที่ดี
-
คุณมีอะไรจะถามไหม
แนวทางที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ : เมื่อผู้ถูกสัมภาษณ์เจอคำถามข้อนี้ จงสบายใจได้ว่าการสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว ปลดปล่อยความเครียดและความกดดันลงได้ระดับหนึ่ง เป็นลักษณะคำถามเปิดทั่ว ๆ ไป
แนวทางที่ไม่ควรตอบ : ไม่ควรถามคำถามที่จะแสดงออกว่าเป็นคำถามที่ไม่ฉลาด ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ถามว่าเป็นคนไม่ฉลาดเอาเสียเลย หรือไม่ตั้งใจฟังในสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ได้พูดไปแล้วก่อนหน้านี้
แนวทางที่ควรตอบ : ควรถามคำถามทั่วๆไปเกี่ยวกับการทำงานหรือบริษัท เช่น เวลาทำงานปกติคือเวลาใด สวัสดิการเรื่องการรักษาพยาบาลของที่นี่เป็นเช่นไร หรือหากไม่มีคำถามจริง ๆ คุณก็อาจจะไม่ตั้งคำถามอะไรก็ได้ เพราะการที่ไม่ถามนั่นอาจทำให้ผู้สัมภาษณ์คิดว่าคุณได้ทราบข้อมูลของบริษัทมามากพอสมควรแล้ว
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงแนวทางการรับมือในการสัมภาษณ์งานที่เป็นที่นิยมของผู้สัมภาษณ์ ที่มีทั้งง่าย และยาก ในการตอบแตกต่างกันไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณต้องจำไว้ว่า การเตรียมตัวที่ดีนั้นจะช่วยคุณได้มาก รวมถึงความมันใจ จริงใจ ควบคุมอารมณ์ให้นิ่งและไม่ตื่นเต้นจนเกินไป เพื่อสร้างบุคลิกโดดเด่นในการสัมภาษณ์งาน แค่เพียงเท่านี้โอกาสที่จะพิชิตใจนายจ้างและผู้สัมภาษณ์งานก็มีสูงแล้ว ขอให้โชคดีทุกท่านค่ะ