จะทำยังไงดีเมื่อเราไม่สามารถปฏิเสธที่จะ เป็นคนค้ำประกัน เงินกู้ยืมทั้งหลายให้กับเพื่อนหรือกับญาติพี่น้องได้ เนื่องจากเคยมีบุญคุณต่อกันมาก่อน เมื่อยามที่เราลำบากเรื่องเงินๆ ทองๆ คนเหล่านั้นก็เคยช่วยเราไว้ มาถึงวันนี้หากเราต้องช่วยเหลือกลับคืนบ้างโดยการเป็นคนค้ำประกันเงินกู้ยืมให้บ้าง เราจะต้องเตรียมตัว เตรียมใจและเตรียมข้อมูลให้กับตัวเองยังไงบ้างมาดูกัน
ก่อนอื่นมารู้จักการค้ำประกันก่อน ว่าคือ การทำสัญญาที่ทำให้คนๆ หนึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน และมีการสัญญาว่าจะชำระเงินให้กับเจ้าหนี้ถ้าลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ โดยหนี้ที่ค้ำประกันนี้จะเป็นหนี้สินอะไรก็ได้ เช่น หนี้เงินกู้ หนี้ค่าสินค้า หรือจะเป็นค่าหนี้จากการก่อสร้างก็ได้ โดยหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาค้ำประกันก็มีเพียงสองข้อเท่านั้น คือ หนึ่งต้องทำสัญญาที่เป็นตัวหนังสือชัดเจนหรือที่เรียกว่าทำสัญญาไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และสองก็คือ ต้องลงลายมือชื่อของผู้ค้ำประกัน จึงจะนำไปฟ้องร้องต่อศาลได้
ทั้งนี้แล้วสัญญาค้ำประกันนั้นสามารถแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ
- แบบที่หนึ่งเป็นสัญญาค้ำประกันอย่างไม่จำกัดจำนวน นั่นก็หมายความว่า ถ้าเรายอมไปเป็นคนค้ำประกันให้กับเพื่อนแล้วเลือกทำสัญญาแบบไม่จำกัดจำนวนเงินแล้วล่ะก็ หากเพื่อนของเราไม่ยอมไปจ่ายหนี้ขึ้นมา เราจะต้องรับผิดชอบจำนวนเงินทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินของเพื่อนเราในครั้งนี้ คือ เงินต้น ดอกเบี้ย ค่าทวงหนี้ รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในการฟ้องร้องบังคับคดีด้วย
- และแบบที่สองเป็นสัญญาค้ำประกันที่จำกัดความรับผิด นั่นก็หมายถึงว่าเราในฐานะที่เป็นคนค้ำประกันให้เพื่อนระบุไว้ชัดเจนว่าจะรับผิดชอบเงินเพียง 100,000 บาท จากวงเงินกู้ 500,000 หากเพื่อนไม่ยอมจ่ายหนี้และยังมีหนี้ที่ต้องจ่ายอีก 300,000 บาท เราก็รับผิดชอบจ่ายคืนให้กับเจ้าหนี้เพียง 100,000 บาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือเจ้าหนี้ก็ต้องไปตามจากลูกหนี้เอาเอง
เมื่อเราได้รู้จักแล้วว่าการค้ำประกันคืออะไรและมีเงื่อนไขอะไรบ้างแล้ว เรามาลองดูในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันดูบ้าง
โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ำประกันนั้น จะใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเรื่องการค้ำประกัน ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งจะคุ้มครองและช่วยให้คนค้ำประกันไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหนี้ เพราะแต่เดิมนั้นเวลาที่ลูกหนี้ตัวจริงไม่ยอมไปจ่ายชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้นั้น ก็จะไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้คนค้ำประกันได้ทราบ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการเบี้ยวหนี้คนค้ำประกันจะมารู้ตัวก็ตอนที่เจ้าหนี้มีหนังสือฟ้องร้องให้มาชำระหนี้แล้ว ซึ่งทำให้คนค้ำประกันตกใจจนรับไม่ทันกันเลยทีเดียวว่าจะต้องจ่ายหนี้แทนคนอื่น แถมยังไม่รู้จำนวนที่แน่นอนอีก แถมด้วยเมื่อลูกหนี้ตัวจริงไม่ยอมจ่ายหนี้ เจ้าหนี้ก็หันมาเล่นงานกับคนค้ำประกันในทันที โดยที่ไม่ได้ไปตามเก็บจากลูกหนี้ให้ถึงที่สุดก่อน
ดังนั้นเมื่อมีการแก้กฎหมายจึงทำให้คนค้ำประกันได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ยอมจ่ายหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่ทำไว้ ซึ่งที่เห็นได้ชัด ก็คือ
- เจ้าหนี้จะต้องตามเรียกเก็บจากลูกหนี้ให้ถึงที่สุดก่อนที่จะมาเรียกเก็บจากคนค้ำประกัน
- เจ้าหนี้จะต้องมีหนังสือแจ้งให้คนค้ำประกันทราบภายใน 60 วัน นับจากวันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ หากเจ้าหนี้ไม่มีหนังสือแจ้งมายังคนค้ำประกันแล้ว คนค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดในจำนวนหนี้ที่เกิดขึ้น แต่เมื่อได้รับหนังสือแจ้งแล้วคนค้ำประกันก็ต้องทำตามสัญญาค้ำประกันที่ได้กำหนดไว้เช่นกัน
- และถ้าหากลูกหนี้ยอมมาชำระหนี้ที่ได้ค้างไว้ ซึ่งจะทำให้จำนวนหนี้ที่เกิดขึ้นลดลง เจ้าหนี้ก็ต้องแจ้งให้คนค้ำประกันได้ทราบและพ้นจากความรับผิดชอบในการจ่ายหนี้แทนลูกหนี้โดยทันที
เพราะฉะนั้นก่อนที่จะตกลงปลงใจในการเป็นคนค้ำประกันให้กับเพื่อนหรือญาติพี่น้องก็แล้ว เราจะต้องอ่านเงื่อนไขการค้ำประกันให้ละเอียด ทำความเข้าใจกับขอบเขตของการค้ำประกัน ตรวจสอบจำนวนเงินที่เราต้องรับผิดชอบและต้องจำให้ดีว่าธนาคารแห่งประเทศไทยห้ามทำสัญญาค้ำประกันแบบไม่จำกัดจำนวน สุดท้ายถ้าไม่แน่ใจในเงื่อนไขของสัญญาค้ำประกันจะต้องถามให้เข้าใจก่อนที่จะลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน ทั้งนี้แล้วก็เพื่อประโยชน์ของตัวเราเองทั้งนั้นเลย ซึ่งถ้าเลือกได้เราก็คงจะไม่อยากไปค้ำประกันให้กับคนอื่นๆ แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องรอบคอบและมีสติก่อนลงนามในสัญญาเสมอ
อ่านเพิ่มเติม : ค้ำประกันเงินกู้ กระดูกแขวนคอที่อาจจะแขวนทั้งชีวิต