ในยุคสมัยที่ใคร ๆ ต่างก็อยากมีอิสรภาพทางการเงินและมีอิสระในการทำงาน ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาทำงานไม่ประจำ หรือที่เรียกว่า Freelance กันมากขึ้น แม้ว่างานฟรีแลนซ์นั้น มีข้อดีมากมายตอบโจทย์ต่อไลฟ์สไตล์ของคนในยุคดิจิตอล แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อเสียของฟรีแลนซ์ คือ เรื่องของความไม่มั่นคงทั้งทางเรื่องรายได้ และหน้าที่การงาน ซึ่งรวมไปถึงปัญหาในการกู้เงินจากธนาคารเพื่อซื้อรถหรือซื้อบ้าน ซึ่งมักจะไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากว่าไม่มีสลิปเงินเดือน ที่แสดงถึงหลักฐานเงินเดือนเข้าบัญชีประจำทุกเดือนสำหรับพนักงานประจำ ที่ธนาคารมองว่าเป็นความมั่นคงทางความสามารถในการผ่อนชำระ หรือว่าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือรวมทั้งไม่มีผู้ค้ำประกัน นั่นเอง
ทำให้บรรดาฟรีแลนซ์ต่างต้องหันไปตัวช่วยอื่น ๆ ที่เป็นทางเลือกในการกู้เงิน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากสินเชื่อประเภทนี้เหมาะกับผู้กู้ที่กำลังมองหาแหล่งทุนเพื่อประกอบอาชีพหรือประกอบธุรกิจ แต่มีหลักฐานทางการเงินไม่เพียงพอ เช่น ไม่มีสลิปเงินเดือน หรือไม่มีการเดินบัญชีกับทางธนาคารมาก่อน โดยสินเชื่อประเภทนี้มีข้อดี คือ จะได้รับการอนุมัติไว เพราะว่ามีเงื่อนไขไม่มากนักในการพิจารณาเหมือนสินเชื่อประเภทอื่น แต่ข้อเสีย คือ ดอกเบี้ยมีอัตราค่อนข้างสูง ดังนั้น ผู้ที่จะกู้ต้องคิดให้ดี ๆ ว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ต่อเดือนไหวหรือไม่ เมื่อต้องผ่อนชำระหนี้หลังจากที่ได้ทำเรื่องขอกู้ไปแล้ว
เรามาดูกันว่าสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นมีประเภทใดกันบ้าง เพื่อท่านจะได้ทราบข้อมูลเบื้องต้น เพื่อนำไปใช้พิจาณาและประเมินกับสถานการณ์ของคุณที่กำลังเผชิญ ว่าสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไหนที่จะเหมาะกับคุณ
- สินเชื่อเงินสดหรือสินเชื่ออเนกประสงค์ของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
ที่ไม่ต้องใช้หลักประกันในการขอกู้ วัตถุประสงค์ส่วนมากมักจะนำไปใช้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่อง ในการประกอบอาชีพ หรือ นำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล หรืออาจนำไปใช้เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่ออื่น ๆ กับทางสถาบันการเงินที่ท่านมีภาระหนี้ โดยส่วนมาก วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ โดยคำนึงจากรายได้สุทธิที่แสดงการเดินบัญชีในแต่ละเดือนจากสมุดบัญชีเพื่อใช้เป็นหลักฐานทางการเงินในการประกอบการพิจารณา หรือหากเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว อาจมีเงื่อนไขว่าต้องดำเนินธุรกิจปัจจุบันเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 – 3 ปี เพื่อแสดงถึงความมั่นคงในธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่ แต่อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดนั้นต้องทำใจว่าดอกเบี้ยค่อนข้างสูงกว่าผู้กู้ที่มีรายได้ประจำ โดยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 20% – 28 % ต่อปี ขึ้นอยู่กับจำนวนวงเงินกู้ และระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้เงินกู้นั้น ๆ
- โครงการสินเชื่อพิเศษกับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ
ในรูปของสถาบันการเงินที่มีรัฐบาลเป็นประกัน เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารกรุงไทย ซึ่งธนาคารเหล่านี้ มักจะออกรูปแบบของสินเชื่อพิเศษ ที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อสอดรับนโยบายของภาครัฐที่ได้กำหนดแนวทางออกมา โดยโครงการสินเชื่อพิเศษประเภทนี้ รวมไปถึงสินเชื่อสวัสดิการส่วนบุคคลด้วย แต่สินเชื่อนี้มักจะกำหนดเงื่อนไขสำหรับผู้กู้ที่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสากิจเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางโครงการที่ปล่อยกู้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือประชาชนทั่วไป โดยผู้กู้อาจต้องคอยติดตามข้อมูลข่าวสารกับโครงการพิเศษใหม่ ๆ ที่ออกมาในแต่ละช่วงเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในการกู้ด้วย เพราะข้อดีของโครงการสินเชื่อพิเศษประเภทนี้ คือ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปกติ
- นาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance)
ซึ่งเป็นมาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่ร่วมมือกันกันระหว่างกระทวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการกำหนดรูปแบบการปล่อยกู้ให้ประชาชน ในวงเงินกู้จำนวนไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือไม่มีแหล่งรายได้ที่ชัดเจน รวมถึงใครที่มีปัญหาในเรื่องเครดิตบูโร ก็ยังสามารถมากู้เงินกับสถาบันการเงินที่ได้จดทะเบียนประกอบธุรกิจ นาโนไฟแนนซ์ กับทางธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทำธุรกิจและปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ให้กับคนทั่วไปได้ โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อลดขั้นตอนและเงื่อนไขในการพิจารณาให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายหลัก ที่เป็นบรรดาพ่อค้า แม่ขาย หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ เพื่อนำเงินกู้ไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนหรือเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ เพื่อเข้าถึงเงินกู้ในระบบอย่างถูกกฎหมาย โดยไม่ต้องไปกู้หนี้นอกระบบที่มีปัญหาอย่างมากในเรื่องการติดตามทวงหนี้ที่ไม่มีมนุษยธรรม แต่ข้อเสียข้อสินเชื่อประเภทนี้คือ อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไป
รายชื่อผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ได้แก่ (อัพเดทข้อมูล ณ วันที่ 3 มิ.ย. 2558)
-
บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด
-
บริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด
-
บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน)
-
บริษัท สหไพบูลย์ (2558) จำกัด
-
บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน)
แต่ไม่ว่าท่านสนใจที่จะขอวงเงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลกับสถาบันการเงินประเภทใดก็ตาม พึงตระหนักเสมอว่า วัตถุประสงค์ของสินเชื่อเหล่านี้ นำมาเพื่อเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพ หรือเพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจเท่านั้น มิใช่เพื่อนำไปใช้จ่ายอุปโภค หรือบริโภคส่วนตัว เพราะนั่นเท่ากับว่าท่านก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงก่อให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง หรือเกิดปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามภาระหนี้ทั้งหมดที่ท่านมี อันจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย ดังนั้น ท่านควรที่จะพิจารณาให้ดีก่อนที่ก่อหนี้ใหม่ว่ามีความจำเป็นในการกู้จริงหรือไม่ และหากว่าจำเป็นต้องกู้แล้ว ควรมีวินัยในการใช้จ่าย มีวินัยในการอดออมเพื่ออนาคตอันสดใสในวันข้างหน้าค่ะ