ด้วยช่วงนี้ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารไม่ค่อยจูงใจที่จะให้เราฝากเงินกันสักเท่าไร จะออมเงินในหุ้นกับกองทุนที่คนอื่นๆ เลือกลงทุนกันก็ยังไม่ค่อยกล้าเสี่ยง วันนี้มีทางเลือกอีกทางที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากธนาคารแถมยังมีความเสี่ยงในการลงทุนที่ต่ำมาก นั่นก็คือการ ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ที่ตอนนี้มีพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังออกจำหน่ายอยู่
อ่านเพิ่มเติม : จัดอันดับ เงินฝากประจําดอกเบี้ยสูง ไม่เสียภาษี 2559
แต่ก่อนที่เราจะไป ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เรามาทำความเข้าใจกับพันธบัตรรัฐบาลกันก่อนว่า
พันธบัตรรัฐบาลนั้นจัดอยู่ในกลุ่มของตราสารหนี้ ที่ถือได้ว่ามีความเสี่ยงในการลงทุนต่ำมาก เพราะผู้ออกพันธบัตรรัฐบาล คือ กระทรวงการคลัง และที่กระทรวงการคลังจะต้องออกพันธบัตรรัฐบาลมาจำหน่ายนั้น ก็เพื่อเป็นการระดมทุนจากประชาชนทั่วไปหรือพูดกันง่ายๆ ก็คือ กระทรวงการคลังขอกู้เงินจากประชาชน เพื่อนำเงินที่ได้ไปดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล นั่นก็หมายความว่าหากเราเลือกที่จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลแล้ว เราจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และมีกระทรวงการคลังเป็นลูกหนี้นั่นเอง
โดยผลตอบแทนที่เราจะได้รับจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล
ก็คือ อัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกับการฝากเงินแต่จะสูงกว่าเล็กน้อย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนมาเลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมากกาว่าเงินการไปลงทุนในเงินฝาก แต่เราจะต้องไม่ลืมว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนระยะยาวมักจะอยู่ที่ 5-10 ปี ดังนั้นหากเลือกที่จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแล้วต้องมั่นใจจริงๆ ว่าเป็นเงินที่กันไว้สำหรับการลงทุนจริงๆ ไม่ได้เป็นเงินที่จะต้องนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือใช้จ่ายในภาวะฉุกเฉินของครอบครัว
คราวนี้มาดูรายละเอียดของพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ปีงบประมาณ 2559 ครั้งที่ 2 แบบไร้ใบตราสาร โดยมีวงเงินในการจัดจำหน่ายทั้งหมด 20,000 ล้านบาท ซึ่งมีเงื่อนไขในการลงทุนเป็นแบบไหน เรามาดูกันเลย
- พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังนี้มีให้เลือก 2 รุ่น คือ รุ่น 5 ปี และ รุ่น 10 ปี
- เงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยจะเป็นแบบขั้นบันได และจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง คือ ทุกวันที่ 12 พฤษภาคม และ 12 พฤศจิกายน ของทุกปีจนครบกำหนด
- พันธบัตรออมทรัพย์นี้จะจำหน่ายให้กับบุคคล/ประชาชนทั่วไปที่มีสัญชาติไทยหรือมีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น โดยจะจัดจำหน่ายระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2559 ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย
- วงเงินการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ขั้นต่ำ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท ต่อ 1 ราย และต่อ 1 ธนาคาร ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์นี้ทั้งหมด 3,000,000 บาท ดังนั้นเราจะซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ที่ธนาคารกรุงไทยได้สูงสุดเพียง 2,000,000 บาท ส่วนอีก 1,000,000 บาท เราสามารถเลือกซื้อได้ที่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย
- การเสียภาษี แน่นอนว่าเมื่อมีรายได้เข้ามาเราก็ต้องถูกหักภาษีไว้ด้วยเช่นกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้หักภาษีไว้ทุกครั้งที่มีการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งจะหักไว้ร้อยละ 15 สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีรายรับมาจากดอกเบี้ย และธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับเรา
- การจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หรือบัญชีเงินฝากกระแสรายวันให้กับเราเมื่อครบกำหนด เพราะพันธบัตรออมทรัพย์นี้เป็นแบบไม่มีตราสารหรือ Scrip less นั่นเอง แต่ถ้าหากระหว่างที่เราครอบครองพันธบัตรออมทรัพย์นี้ไว้ แล้วเราไปแจ้งความประสงค์ให้ออกใบตราสาร ดังนั้นเวลาที่ครบกำหนดเราจะต้องนำใบตราสารนี้ไปคืนให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน เราถึงจะได้รับเงินคืน โดยการโอนเข้าบัญชีเงินฝากเช่นกัน