การเป็นเจ้าของกิจการของตนเองย่อมเป็นความใฝ่ฝันของใครหลาย ๆ คน แต่การจะประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลาย ๆ ด้วยกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการบริหารเงินให้เป็นนั้นเอง ทำอย่างไรเงินทองที่หามาได้จึงจะไม่รั่วไหลออกไปโดยเปล่าประโยชน์ ทำอย่างไรการเงินในกิจการจึงจะเดินได้อย่างคล่องตัว ไม่ฝืดเคือง สิ่งเหล่านี้มีเทคนิคและวิธีการที่ต้องอาศัยความใส่ใจพอสมควร การบริหารเงินสำหรับเจ้าของกิจการ มีดังนี้
ต้องแยกบัญชีให้ชัดเจนระหว่างเงินส่วนตัว
และเงินทุนในกิจการ เจ้าของกิจการบางคนชอบนำค่าใช้จ่ายส่วนตัวมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายในกิจการด้วย ทั้งค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในการซื้อรถ จ่ายประกันรถ เพราะมองว่าเงินทุนในกิจการก็คือเงินของเรา เพราะเป็นเงินที่เราเอาไปลงทุน ซึ่งความคิดเช่นนี้ถือว่าเป็นความคิดที่ผิด การนำเงินส่วนตัวมาปะปนกับเงินทุนในการประกอบกิจการ จะทำให้เราไม่ทราบผลกำไรหรือรายได้ของที่แท้จริงของกิจการ นอกจากจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการทำบัญชีแล้ว ยังทำให้เกิดความสับสนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล
ซึ่งการแยกบัญชีเงินส่วนตัว และเงินทุนในกิจการที่ง่ายที่สุดคือการกำหนดเงินเดือนให้ตนเอง แล้วจึงนำเงินเดือนไปใช้ในกิจส่วนตัว โดยเงินเดือนตนเองก็คือค่าใช้จ่ายในกิจการของเรา เมื่อแยกได้เช่นนี้แล้ว เราจะสามารถมองเห็นภาพได้ว่าส่วนไหนคือ รายจ่าย ส่วนไหนคือ รายรับของกิจการ
มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายที่ชัดเจน
เมื่อมีรายรับหรือรายจ่ายเกิดขึ้นในกิจการ ควรมีการบันทึกไว้อย่างละอียด และควรมีการสรุปยอดเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เราทราบถึงภาวะทางการเงินของกิจการ ว่ามีการรั่วไหลของเงินหรือไม่ ในทางใด หรือกิจการของเรามีหนี้ค้างชำระอยู่หรือไม่ ถ้ามีเป็นจำนวนเท่าไร เพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ ในส่วนนี้ยังรวมไปถึงยอดหนี้ที่เราต้องเรียกเก็บจากลูกค้าเช่นกัน
ให้ความสำคัญกับกระแสเงินสด
เนื่องจากรายรับรายจ่ายของกิจการนั้นแตกต่างกับรายรับรายจ่ายของมนุษย์เงินเดือน ดังนั้น เจ้าของกิจการหน้าใหม่ควรทำความเข้าใจกับคำว่ากระแสเงินสดเอาไว้บ้าง เพราะเงินที่เข้าออกในกิจการส่วนตัวนั้น บางครั้งก็ไม่ใช่เงินสดเสมอไป แม้ผลประกอบการจะดีเพียงใด แต่เมื่อเป็นเงินที่อยู่ในรูปของเครดิต เป็นเงินที่เราต้องรอเรียกเก็บจากลูกค้า และเป็นจำนวนมาก ก็อาจทำให้กิจการขาดสภาพคล่องได้
มีการสำรองเงินไว้ในกรณีฉุกเฉินบ้าง
การทำบัญชีการเงินของบริษัท ควรมีการกันเงินไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน สำหรับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น ลูกค้าไม่ยอมชำระหนี้ แต่กิจการจำเป็นต้องจ่ายหนี้ให้กับคู่ค้าอื่น ๆ การมีเงินสำรองก้อนนี้ไว้ จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นนี้ได้
ติดตามผลของการลงทุนเพิ่มทุกครั้ง
เจ้าของกิจการไฟแรงบางคนมีความกล้าในการทำกิจการของตน โดยเฉพาะเมื่อลงทุนแล้วเห็นว่ามีผลประกอบการดี ก็รีบลงทุนเพิ่มเพื่อขยายกิจการ โดยไม่ได้ติดตามว่าเงินที่ลงทุนไปนั้นคืนทุนมาหรือยัง เพราะมัวแต่สนุกกับการทดลองสิ่งใหม่ ๆ กับกิจการของตนเองอยู่ วิธีนี้นับเป็นวิธีที่ผิด เพราะจะก่อให้เกิดหนี้ก้อนโตอย่างไม่รู้ตัว ดังนั้นเมื่อคิดจะลงทุนในแต่ละครั้ง ควรติดตามผลการลงทุนด้วยว่าได้รับผลตอบแทนกลับมาเท่าไหร่ และคุ้มกับที่ลงทุนไปหรือไม่
ให้ความสำคัญกับการทำบัญชีการเงินไว้บ้าง
เจ้าของกิจการหลายคนประสบปัญหาไม่สามารถทำรายการบัญชีด้วยตนเองได้ ซึ่งหากกิจการของเรามีขนาดไม่ใหญ่มาก อาจจ้างสำนักงานบัญชีมาช่วยดำเนินการให้อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจสอบรายรับรายจ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกิจการของเรา รวมถึงเงินภาษี และรายงานให้กรมสรรพกรทราบ ซึ่งหากเราไม่ดำเนินการอย่างรัดกุม อาจทำให้ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ซึ่งบอกได้เลยว่าค่าปรับในส่วนนี้ไม่คุ้มกับการที่เราลดรายจ่ายโดยการจ้างสำนักงานบัญชีมาจัดการให้อย่างแน่นอน
ตั้งเป้าหมายของกิจการให้ชัดเจน
เป้าหมายของกิจการไม่จำเป็นต้องเป็นยอดเงินเสมอไป แต่อาจเป็นเป้าหมายที่กิจการของเราสามารถดำเนินการได้ เช่น ตั้งเป้าหมายเป็นยอดขาย หรือจำนวนลูกค้า เป็นต้น ซึ่งเมื่อกิจการสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายแล้วยอดเงินก็จะตามมาเองในภายหลัง ยิ่งตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้เราสามารถกำหนดทิศทางของกิจการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
มีวินัยทางการเงิน
ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการหรือลูกจ้างกินเงินเดือน หากขาดวินัยทางการเงิน โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการบริหารการเงินก็จะไม่มีทางเป็นไปได้เลย ดังนั้น เจ้าของกิจการจึงควรมีวินัยทางการเงินที่ดี เมื่อเป็นหนี้ควรรีบชำระให้หมดตามวาระที่เจ้าหนี้กำหนดเพื่อป้องกันดอกเบี้ยที่พอกพูนขึ้น และหากมีลูกน้องควรจ่ายเงินเดือนให้ตรงเวลาตามที่ได้ตกลงกันไว้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน กิจการที่ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้พนักงานหรือให้เจ้าของกิจการได้ ย่อมแสดงว่ากิจการนั้นเกิดวิกฤตทางการเงินแล้ว