หลายๆคนคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันนี้ ตลาดแรงงานไทย มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากแต่บางคนอาจจะนึกค้านอยู่ในใจว่า ไม่เห็นจริงเลย จบมาตั้งนานแล้ว ยังหางานทำไม่ได้ ลอยไปลอยมาเตะฝุ่นอยู่เนี่ย แท้จริงแล้วปัญหาที่ตลาดแรงงานไทยประสบอยู่นั้น เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งปัญหาคนตกงาน ปัญหาเรื่องค่าแรง และคุณภาพของแรงงาน การขึ้นค่าแรงจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
มาดูกันเลยดีกว่า ว่าเพราะเหตุใด ทำให้คนไทยบางคนยังว่างงาน ทั้งที่แรงงานขาดแคลน
- อย่างแรก ก็คือ ปัญหาในระบบการศึกษาไทย
หลักสูตรการศึกษาที่ไม่มีมาตรฐาน ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตบัณฑิตคุณภาพออกสู่ตลาดแรงงานได้ ยกตัวอย่างเช่นการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ที่ไม่สามารถสอนให้เด็กไทยสื่อสารได้ ทั้งที่เด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล แต่เนื่องจากการเรียนการสอนที่เน้นไปที่ไวยากรณ์ แต่ขาดการมีส่วนร่วมของเด็ก ทำให้เด็กไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้
เมื่อระบบการศึกษาไทยมีปัญหามาตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ก็ป่วยการจะกล่าวถึงระดับอุดมศึกษาที่ผลิตบัณฑิตคุณภาพที่ตลาดแรงงานต้องการออกมาไม่เพียงพอ ในขณะที่บัณฑิตที่ไม่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานกลับมีเกลื่อนกลาด ในยุคสมัยที่สังคมยังไม่มีค่านิยมว่า บุคคลต้องจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี และมีทางเลือกในการเล่าเรียนเพื่อประกอบอาชีพ ทั้ง สถาบันอาชีวะ วิทยาลัยสารพัดช่าง โรงเรียนเลขานุการ โรงเรียนการบัญชี ระบบการศึกษากลับสามารถผลิตบุคคลากรที่เป็นที่ต้องการของตลาดได้มากกว่านี้
แต่เมื่อสังคมไทยมีค่านิยมว่า ผู้ที่เรียนสายอาชีพ เป็นบุคคลากรคนละระดับกับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ทำให้การเรียนในสายอาชีพไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป ตลาดแรงงานขาดแคลนบุคคลากรในสายอาชีพ ในขณะเดียวกัน บัณฑิตที่จบการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษากลับมีแนวโน้มว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะบัณฑิตที่จบจากสถาบันที่ไม่มีชื่อเสียง
- ปัญหาอีกประการหนึ่งในตลาดแรงงานไทย คือ ค่านิยมด้านการหางาน ที่ต้องการทำงานสบาย และรายได้ดี ให้สมกับที่ตัวเองเรียนจบมา
ถ้าหากไม่สามารถหางานที่ต้องการได้ ก็เลือกที่จะศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไป ทั้งที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน โดยหวังแต่เพียงว่าระดับการศึกษาที่สูงขึ้น จะทำให้หางานได้ง่ายขึ้น กลายเป็นว่าตลาดแรงงานขาดแคลน ในขณะที่คนว่างงานที่มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรี-โท เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ ค่านิยมที่สวนทางกัน ระหว่างนายทุน และแรงงาน ก็เป็นชนวนเหตุที่ทำให้ปัญหาแรงงานทวีความรุนแรงขึ้น นายทุนมักมีความคิดที่ว่า จ้างแรงงานต่างด้าวมาทำงานแทนแรงงานไทยเป็นการลดต้นทุน เนื่องจากแรงงานไทยนอกจากจะมีค่าแรงสูงกว่า ยังมีความต้องการด้านต่างๆจากนายจ้าง ส่งผลให้ภาคการผลิตเต็มไปด้วยแรงงานต่างด้าว
ความผิดพลาดทางด้านการศึกษา และค่านิยมที่ผิดๆดังกล่าว เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ภาคแรงงานไทยประสบปัญหาดังเช่นในปัจจุบัน รัฐเองก็พยายามช่วยยกระดับคุณภาพแรงงานไทยโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทำให้การจ้างงานขยายไปสู่แรงงานต่างด้าว
เมื่อปัญหาเชิงโครงสร้างยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น การขึ้นค่าแรงยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ปัญหาในภาคแรงงานทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจได้เห็นว่าตลาดแรงงานไทยมีแต่แรงงานต่างด้าวเต็มไปหมด ในขณะที่คนไทยเองต้องว่างงานต่อไป
ได้แต่หวังว่าปัญหาในตลาดแรงงานจะได้รับการแก้ไขอย่างถูกจุด เพื่อให้ปัญหาบรรเทาเบาบางลง และบรรดานายทุนต่างๆหันกลับมาจ้างแรงงานไทย อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาควรเริ่มมาจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติของบัณทิตทั้งหลายด้วยว่า ควรเร่งพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ความสามารถ หากความสามารถไม่ถึงขั้นและมัวแต่เลือกงาน คงได้วิจัยฝุ่นต่อไปอย่างแน่แท้