หลังจากที่ได้เปิดประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว นับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา ประเทศไทยเองก็ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา มีการเพิ่มเนื้อหาที่เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนลงในหนังสือแบบเรียน รณรงค์ให้มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับบุคคลทั่วไป เตรียมความพร้อมในด้านของแรงงาน ทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนความรู้ในการประกอบอาชีพ และการใช้ภาษาต่างประเทศ
จะสังเกตได้ว่า นโยบายการรับเข้าทำงานในบริษัทหลายบริษัท นอกจากจะต้องมีความรู้ด้านวิชาชีพแล้ว ยังต้องมีความรู้ในการสื่อสารภาษาอังกฤษด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการส่งออก และสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยอย่าง SMEs และส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ในด้านของการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) และระบบการขนส่ง (logistics)นั้น โครงการล่าสุดที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการก็คือ โครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ที่จะเชื่อมต่อกับประเทศมหาอำนาจอย่างจีน และประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่าง กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนามและมาเลเซีย เป็นต้น โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะสร้างให้ครอบคลุมทุกภาคของไทย แบ่งเป็น 5 สายหลักๆ คือ สายเหนือ (กรุงเทพ – เชียงใหม่) ,สายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพ – หนองคาย), สายตะวันออก (กรุงเทพ – ระยอง) ,สายใต้ (กรุงเทพ – ปาดังเบซาร์) ซึ่งแม้ว่าจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ แต่รัฐบาลก็มีการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
อ่านเพิ่มเติม : แนวโน้ม สภาพการลงทุนทั้งในและระหว่างประเทศ ปี 59
จะว่าไปแล้วตลาดอาเซียน ไม่ใช่ตลาดที่ใหม่สำหรับไทย ตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่จะทำให้ธุรกิจของไทยนั้นมีอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้นได้ โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง CLMV เนื่องจากการลดกำแพงภาษีแล้ว ทำให้ไทยมีสามารถที่จะขยายการลงทุนในกิจการต่างๆไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ ทั้งนี้แม้ว่าตลาดของอาเซียนจะเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ที่รอให้นักสำรวจเดินทางเข้าไปค้นพบความล้ำค่า แต่ผู้ประกอบการส่วนมากก็ยังกลัวๆกล้าๆ อาจจะเนื่องมาจากความพร้อมและข้อมูลด้านการลงทุน การบริหารจัดการความเสี่ยง หรือแม้แต่เงินลงทุนขยายกิจการ ดังนั้นแม้ช่วงนี้จะมีข่าวสารเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนออกมามากมาย แต่ก่อนที่เราจะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เราก็ควรมีการวิเคราะห์อย่างรอบด้านในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
ความเข้มแข็งของธุรกิจ
การคิดการใหญ่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นเรื่องที่ดีในการทำธุรกิจ แต่ถ้าคิดใหญ่แต่ยังขาดความพร้อมในหลายๆด้าน แล้วต้องการก้าวกระโดดข้ามไปเลยก็คงเป็นไปได้ยาก หรืออาจจะเสี่ยงต่อการล้มไม่เป็นท่าได้ เหมือนอย่างบทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 40 ที่ผ่านมา ฉะนั้น เรื่องราวในอดีตจะช่วยย้ำเตือนไม่ให้เราประมาท ก่อนที่จะเข้าแข่งขันในสนามใหญ่ได้ ควรเตรียมความพร้อมจากการลงแข่งในสนามเล็กๆก่อน เกมธุรกิจอาจมีความคล้ายคลึงกับเกมกีฬาตรงที่ ต้องมีประสบการณ์พร้อม เคยแข่งขันในระดับประเทศ ก่อนจะก้าวไปสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลก
สินค้าของเรามีความพร้อมแล้วหรือยัง ?
สินค้าที่เราจัดจำหน่ายนั้นเป็นที่ต้องการในตลาดมากน้อยเพียงใด? มีคนรู้จักมากน้อยแค่ไหน? ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือไม่? การที่เราจะขายสินค้าได้นั้นแสดงว่าสินค้าเป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และสามารถตอบสนองได้ทั้งความจำเป็นและความต้องการอย่างสอดคล้องกัน การที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งก็แสดงว่า ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในคุณภาพและไว้วางใจในสินค้านั้นๆ แล้วสินค้าของเราสามารถทำได้หรือไม่? มีความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในประเภทเดียวกันได้มากน้อยแค่ไหน มีจุดอ่อน อะไรที่ยังต้องพัฒนา หรือมีจุดแข็งอะไรที่เป็นจุดขาย เพราะเมื่อไหร่ที่เราหยุดที่จะพัฒนาสินค้า ไม่มีอะไรใหม่ๆ ไม่ปรับตัวให้อยู่รอด ธุรกิจก็มีแนวโน้มที่จะสะดุดได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อมให้แบรนด์ สร้างจุดขายที่โดดเด่น และปรับตัวอยู่เสมอ
ศักยภาพของเงินลงทุน
เมื่อแบรนด์มีความพร้อมแล้ว ต้องการขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องมีการลงทุนขยายการผลิตเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังคน วัตถุดิบ หรือแม้แต่การลงทุนด้านเทคโนโลยี เครื่องจักรอุตสาหกรรมต่างๆ จะหาเงินลงทุนได้จากที่ไหน และมีการวางแผนธุรกิจดีพอแล้วหรือยัง เป็นต้น
ความต้องการของชาวต่างชาติ
ถ้าคิดจะขยาย เราก็ต้องมีการวิเคราะห์ถึงความต้องการรวมถึงบริบทที่เกี่ยวข้องก่อน เช่น สินค้าของเราเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติมากน้อยแค่ไหน ชาวต่างชาติมีความต้องการสินค้าเหมือนคนไทยหรือไม่? ถ้าไม่ มีความต้องการอย่างไร เรียกว่า ต้องวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคอย่างละเอียด เพราะการที่จะบุกเข้าตลาดอื่นที่ไม่คุ้นเคย แบรนด์ต้องสามารถตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่ง เมื่อผู้บริโภครู้จักเราแล้ว การที่จะขยายไปยังอีกกลุ่มก็ง่ายขึ้น เพราะมีการประชาสัมพันธ์และบอกต่อแบบปากต่อปาก อย่าหยุดที่จะรุกอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จุดเริ่มต้นที่จะรู้ว่าเราควรรุกหรือควรดูทีท่านั้น เราจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์หลักๆ ต่อไปนี้
- วิเคราะห์ตลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน ค่านิยมด้านการบริโภค ดังคำกล่าวที่ว่า “ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” อย่างเช่น ถ้าเราทำธุรกิจด้านอาหาร ไม่เพียงแต่จะต้องรู้วัฒนธรรมการกินของประเทศนั้นๆ แต่เรายังต้องสร้างเอกลักษณ์และจุดขายของเราให้ได้ เหมือนเช่นที่ชาติตะวันตกนำเอาวัฒนธรรมการบริโภคแบบฟาสต์ฟู๊ดเข้ามาในไทย เป็นต้น
- วิเคราะห์กำลังซื้อ ของคนในประเทศนั้นๆ เราต้องศึกษาว่าประชากรในประเทศมีรายได้ต่อหัวเท่าไหร่ การศึกษาอยู่ในระดับใด ประกอบอาชีพอะไร เป็นต้น เพราะนั่นจะเป็นตัวชี้วัดเบื้องต้นว่า เราควรขายอะไร ให้ใคร ในราคาเท่าไหร่? ผู้บริโภคมีกำลังที่จะซื้อสินค้าของเราหรือไม่? ถ้าประชากรมีความรู้ในระดับหนึ่ง มีรายได้ปานกลางถึงขั้นดี ก็เป็นโอกาสที่สินค้าของเราน่าจะขายได้ แต่ก็ต้องดูด้วยว่า สินค้าของเรานั้นเป็นสินค้าประเภทไหน ตอบสนองในด้านใด ถ้าเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็นหรือฟุ่มเฟือย อาจจะเติบโตยากในประเทศที่ยังขาดการศึกษา หรือในประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำ เพราะประเทศเหล่านี้ต้องการเพียงสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันเพียงเท่านั้น
คู่แข่งในสนาม
แน่นอนว่า ไม่ได้มีแค่เราแน่นอนที่วิ่งอยู่ในสนาม การแข่งขันนั้นต้องมีคู่แข่งมากกว่าหนึ่ง ถ้ามองในแง่ดีเราจะได้มีโอกาสสร้างและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ แม้ว่าจะมีคู่แข่งหลายรายทั้งในประเทศนั้นๆเองก็ตาม อย่างที่กล่าวไปว่า เราต้องมีจุดแข็งเป็นของตัวเอง แบรนด์ถึงจะไปรอด
อ้างอิงข้อมูล(บางส่วน)จากนิตยสาร
กองบรรณาธิการ.2559.เข้าใจ(CLMV)เข้าถึงความสำเร็จ.เพื่อนคู่คิดธุรกิจเอสเอ็มอี. พฤษภาคม 2559.