ปัญหาเงินไม่พอใช้ รายได้ไม่คุ้มรายจ่าย เงินมาแค่ผ่านมือ เกิดเหตุฉุกเฉินไม่มีเงินสำรอง กู้หนี้ยืมสินท่วมหัว คงเป็นปัญหาหลักสำหรับผู้คนในยุคปัจจุบันไปแล้ว ที่มาของปัญหาเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุมาก และสาเหตุใหญ่ ๆ นั่นก็คือ การบริหารจัดการเงินไม่เป็น
ทำไมจึงต้องมีการบริหารเงิน? ก็เพราะการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวันล้วนต้องใช้จ่ายทั้งสิ้น ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้า รองเท้า ค่าโทรศัพท์ ค่ารักษาพยาบาล และอีกบลา ๆ เหล่านี้ คือ สิ่งที่เราใช้จ่ายไปโดยขาดการคิดคำนวณ รู้แต่ว่ามีก็จ่าย ไม่มีก็ยืม ทบไปทบมา วนเวียนแบบเดิม ๆ จนเหมือนกับการใช้ชีวิตไปวัน ๆ อย่าปล่อยให้ชีวิตของคุณต้องขาดหลักประกันแบบเลื่อนลอยอย่างนี้เลย หันมาบริหารจัดการเงินของคุณให้เป็นระบบกันดีกว่า วันนี้เราขอเสนอ 4 ขั้นตอน การบริหารเงินที่รับรองว่าหากคุณเริ่มปฏิบัติตามแล้วจะต้องเห็นผลสำเร็จอย่างแน่นอน ถ้าพร้อมแล้วไปเริ่มกันเลย!
ขั้นที่ 1 รู้จักวางแผนการเงิน เป็นขั้นตอนเริ่มแรกของการบริหารเงิน ซึ่งประกอบไปด้วย
- สำรวจตัวเอง คือ ดูว่าตัวเราเป็นคนใช้จ่ายแบบไหน เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับวิธีการบริหารเงินของตนเอง เช่น เป็นคนมือเติบชอบใช้จ่ายไม่คิดหน้าคิดหลัง หรือเป็นคนที่ประหยัด รู้จักใช้เงิน คิดก่อนซื้อ แต่ก็มีหลายคนที่ประหยัดมากไป เข้าขั้นตระหนี่ถี่เหนียวเกินไป ไม่รู้จักใช้เงินเพื่อทุ่นแรง ทำให้ร่างกายเหนื่อยเกินจำเป็นก็มี เช่น ลำบากขึ้นรถเมล์ร้อน (ฟรี) แทนรถไฟฟ้า ทำให้เสียสุขภาพจิต สูดดมควันพิษโดยไม่จำเป็น แบบนี้เรียกว่าไม่รู้จักใช้เงินทำประโยชน์ให้ตัวเอง
เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นคนใช้เงิน จัดการเงินอย่างไรแล้ว ก็จะเห็นว่ามีปัญหาอะไรอยู่บ้าง เช่น เงินขาดมือ ชักหน้าไม่ถึงหลังบ้างหรือไม่ หรือมีของที่ไม่จำเป็นมากมายในบ้านหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นโจทย์เพื่อกำหนดทิศทางการวางแผนการเงินได้เป็นอย่างดี
- กำหนดเป้าหมาย หมายความว่า คุณต้องมีเป้าหมายในตัวเองให้ชัดเจนเสียก่อนว่าคุณต้องการบริหารจัดการเงินไปเพื่ออะไร เช่น คุณมีเป้าหมายว่าจะต้องมีเงินในหลักล้านให้ได้ คุณจะมีบ้านหลังใหญ่สักหลังหนึ่งให้ได้ หรือคุณมีเป้าหมายว่าจะปลดหนี้ให้กับตัวเองและครอบครัวให้ได้ เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายที่ดีควรจะประกอบไปด้วยหลักการ ดังนี้
- วัดผลได้ คือ คุณต้องประมาณระยะเวลาในการประสบผลสำเร็จของเป้าหมายนั้นได้ เช่น ซื้อบ้านหรือสร้างบ้านได้ภายใน 2-3 ปี เป็นต้น
- ทำได้จริง คือ เป้าหมายที่คุณตั้งไว้จะต้องมีหนทางความเป็นไปได้ เช่น คุณอยากมีบ้านแต่คุณไม่รู้จักแบ่งสันปันส่วนไว้เพื่อเป็นทุนเลย ยังใช้จ่ายไปวัน ๆ ก็ไม่มีทางเป็นไปได้
- ความเป็นจริง คือ เป้าหมายที่คุณตั้งไว้พอไปในทางเดียวกันกับรายได้ที่คุณมีหรือเปล่า
- จัดสัดส่วนการใช้เงิน ให้คุณลองลองทำบัญชีรายรับ-จ่ายดู บันทึกให้เห็นชัดเจนว่าคุณมีรายได้เข้ามาเท่าไร และออมเท่าไร
- ลองทำแผนปฏิบัติ เช่น รวมตัวเลขรายได้ทั้งหมด รายจ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน คาดการณ์รายจ่ายในอนาคต และสรุปงบประมาณทั้งหมดดู
ขั้นที่ 2 การออมเงิน เป็นขั้นตอนของการเก็บหอมรอมริบอย่างชัดเจน แนะนำให้เปิดบัญชีเป็น 2 บัญชี คือ
- บัญชีเงินฝากประจำ เป็นประเภทบัญชีที่ถูกกำหนดการฝากถอนอย่างแน่นอน หากไม่ถึงกำหนดคุณก็ไม่สามารถเบิกออกมาใช้ได้ ถึงกำหนดก็ต้องนำเงินเข้าฝากอย่างประจำด้วย และมีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ซึ่งเหมาะมากกับหนทางแห่งการออมเงิน
- บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เป็นบัญชีที่สามารถฝากถอนเมื่อไรก็ได้ ส่วนใหญ่มักจะพ่วงมาด้วยบัตรเอทีเอ็มเสมอเพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรม บัญชีประเภทนี้จะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ จึงไม่ควรฝากจำนวนเงินเยอะ ๆ แนะนำให้เปิดไว้เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินก็พอ และไม่ควรเปิดหลายไว้หลายบัญชีเพราะหากเราบริหารไม่ดีพอ บัญชีไม่มีความเคลื่อนไหวคุณก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการรักษาบัญชีฟรีไปอีก
ขั้นที่ 3 บริหารหนี้ หากคุณมีหนี้สินนั้นหมายความว่าคุณมีภาระก้อนโตที่จะฉุดคุณถอยหลังและลดโอกาสเดินหน้าแน่นอน ดังนั้นคุณต้องจัดการกับมันเสียก่อน โดยเริ่มจาก
- รวมหนี้ทั้งหมด ลองแบ่งแยกรายการให้ชัดเจนว่าคุณมีหนี้ที่ต้องชดใช้อยู่ทั้งหมดเท่าไร เงินต้น ดอกเบี้ย ระยะเวลาที่ต้องจ่าย รวมถึงที่มาของหนี้ แล้วคุณจะเห็นว่า หนี้บางอย่างที่เรามีอาจมาจากความไม่จำเป็น ดังนั้น เราควรจะตัดมันออกไป เช่น หนี้บัตรเครดิต หรือสินค้าบางอย่างที่ไม่จำเป็น เป็นต้น
- เลือกหนี้ที่สำคัญ ให้คุณเลือกชำระหนี้ที่สำคัญและจำเป็นก่อนเป็นดับต้น ๆ
- ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าแบรนด์เนม ปาร์ตี้ที่บ่อยเกินไป เป็นต้น และหัดควบคุมตนเองให้ได้ในทุกครั้งของการใช้จ่าย
- จ่ายทั้งต้นทั้งดอก คือ พยายามจ่ายหนี้ให้ได้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย ในทุกครั้ง เพราะจะช่วยให้หนี้ไม่ยืดเยื้อ
ขั้นที่ 4 ลงทุน เคยได้ยินไหมว่าการลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนที่ให้ “เงินทำงาน” และการลงทุนยอดนิยมของสมัยนี้คงหนีไม่พ้น หุ้น และกองทุนรวม
- ลงทุนหุ้น คือ การนำเงินมาซื้อหุ้นเอง เลือกเทรดเอง วิเคราะห์เอง ได้ผลตอบแทนเร็ว แต่มีความเสี่ยงมาก คุณต้องมีความรู้และทักษะมากพอสมควร
- ลงทุนกองทุนรวม คือ การที่เรานำเงินไปฝากให้มืออาชีพเขาจัดการบริหารและลงทุนให้ให้เรา ผลตอบแทนที่ได้จะน้อยและช้ากว่าหุ้น แต่ความเสี่ยงก็น้อยลงตามไปด้วย
คำถามก็คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเหมาะกับการลงทุนใด ? ให้คุณลองวิเคราะห์ตัวเองดูว่า หากคุณมีเวลามากพอในการเฝ้าติดตาม และมีความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงมากก็ให้เลือกหุ้น หรือหากคุณไม่มีเวลาเฝ้าติดตามตลอดเวลา ใจเย็น รอผลประกอบการได้ ไม่ชอบเสี่ยงมาก ก็ให้เลือกกองทุนรวม ทั้งนี้การลงทุนหรือการบริหารจัดการเงิน ย่อมต้องมีทักษะและแนวทางที่ดี เราขอแนะนำวีดีโอตัวอย่างสอนการจัดการเงิน และการลงทุนให้คุณด้วย
อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการเงินอย่างเป็นระบบ ย่อมดีกว่าการใช้จ่ายไปวัน ๆ ถึงแม้ตอนนี้คุณยังไม่มีหนี้ แต่ยังไงอนาคตก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน การเตรียมพร้อมรับมือถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด