วันนี้หากเราไม่พูดถึงเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังจะได้ใช้กันในปี 2560 คงจะไม่ได้แล้ว เพราะเชื่อได้ว่าหลายๆ คนน่าจะมีบ้านเป็นของตัวเอง และก็คงจะกังวลว่าบ้านและที่ดินที่เราครอบครองอยู่นั้นจะต้องเสียภาษีที่ดินตามกฎหมายใหม่นี้ด้วยหรือเปล่า บทความนี้ไปหาคำตอบมาให้แล้ว
ก่อนที่เราจะไปถึงภาษีที่ดินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เรามาทำความรู้จักภาษีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งปลูกสร้างที่ต้องมีการจัดเก็บกันในปัจจุบันก่อน
คือ ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ ที่หน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บเพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองโดยที่ไม่ต้องส่งรายได้จากการจัดเก็บภาษีนี้ให้กับกระทรวงการคลัง โดยภาษีโรงเรือนจะเก็บจากฐานรายได้จากการนำสิ่งปลูกสร้างออกไปให้คืนเช่า ส่วนภาษีบำรุงท้องที่จะเก็บจากราคาประเมินของที่ดินเปล่า ซึ่งกระทรวงการคลังมองว่าวิธีการต่างๆ ของการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ประเภทนี้ล้าสมัยและบางครั้งก็ซ้ำซ้อนกับการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร จึงเป็นสาเหตุให้กระทรวงการคลังจะยกเลิกภาษีทั้ง 2 ประเภทนี้แล้วทดแทนด้วย ภาษีที่ดิน
โดยการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้คาดว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสัมคมได้ คือ ใครที่มีที่ดินในครอบครองหลายแปลงและมีมูลค่าสูงก็ต้องจ่ายภาษีที่สูงขึ้นด้วย อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินต่างๆ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการกักตุนที่ดินเพื่อการเก็งกำไรด้วยอีกทาง นอกจากนั้นแล้วยังจะส่วนให้องค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ มีรายได้เพิ่มมากขึ้นที่จะนำไปพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น และผู้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ ก็ได้แก่ เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เจ้าของอาคารชุด และผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ หรือจะแปลให้เข้าใจง่ายๆ ใครก็ตามที่ได้ใช้พื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐในการทำมาหากินก็จะต้องเสียภาษีนี้ด้วยเหมือนกัน
ซึ่งสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็คือ บ้านรูปแบบต่างๆ อาคาร ห้องชุด หรือสิ่งปลูกสร้างในรูปแบบอื่นๆ ที่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยหรือใช้เป็นที่ประกอบการต่างๆ ได้ โดยฐานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะคิดจากมูลค่าทั้งหมดของที่ดินรวมกับสิ่งปลูกสร้างหรือไม่มีสิ่งปลูกสร้างก็ได้ โดยวิธีการคำนวณฐานภาษีแต่ละประเภทจะเป็นแบบนี้
ที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง จะคำนวณภาษีจากมูลค่าของที่ดิน x อัตราภาษี โดยมูลค่าของที่ดินจะคิดจากราคาประเมินของกรมธนารักษ์ x ขนาดพื้นที่ดิน
ที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้าง จะคำนวณภาษีโดย นำมูลค่าที่ดินมารวมกับมูลค่าของสิ่งปลูกสร้าง แล้วค่อยนำไปคูณกับอัตราภาษี โดยมูลค่าทรัพย์สินนั้นจะคำนวณได้จากราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างต่อตร.ม. คูณขนาดพื้นที่ของสิ่งปลูกสร้างหักด้วยค่าเสื่อมราคา โดยราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างและค่าเสื่อมราคานี้กรมธนารักษ์จะเป็นผู้กำหนดมาให้ใช้คำนวณกัน
ส่วนอาคารชุดก็จะมีวิธีคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหมือนกันเพียงแต่ไม่ต้องนำมูลค่าของที่ดินมาคำนวณภาษี จะใช้ก็เพียงแต่มูลค่าของอาคารชุดตามที่กรมธนารักษ์เป็นผู้กำหนดมาใช้คำนวณเท่านั้น
และมาถึงส่วนที่ทุกคนกังวลกันอยู่ คือ ถ้าเราซื้อบ้านมาเพื่อเป็นที่อยู่ของเรานี้จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ด้วยหรือไม่
คำตอบจากกระทรวงการคลังคือ ไม่ต้องเสีย ด้วยเหตุผลที่ว่าบ้านที่ซื้อไว้เพื่อเป็นที่พักอาศัยกันนั้นประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่มีอยู่นั้นมีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากต้องการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่พักอาศัยเป็นของตัวเอง โดยคนที่ต้องเสียภาษีที่ดินนี้ก็คือ คนที่เป็นเจ้าของบ้านที่มีราคามากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งตามที่มีการสำรวจในปี 2556 ของสำนักงานสถิตฯ นั้นมีเพียง 8,500 กว่าหลังเท่านั้นเอง และก็เสียเฉพาะส่วนที่เกิน 50 ล้านขึ้นไปเท่านั้น เพราะฉะนั้นคนทั่วไปอย่างเราที่มีบ้านเป็นของตัวเองก็สบายใจได้แล้วว่าไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้แน่นอน