ประกันสังคมถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ไกลตัวเลยสำหรับประชาชนคนไทย ทั้งคนที่ทำงานประจำมีรายได้ต้องส่งเงินสมทบเป็นประจำทุกเดือนตามมาตรา 33 ทั้งคนที่เลือกประกันตนเองต่อเนื่องหลังจากลาออกจากบริษัทเอกชนตามมาตรา 39 หรือจะเป็นคนที่เป็นแรงงานนอกระบบหรืออาชีพอิสระตามมาตรา 40 ที่ควรศึกษาหาความรู้เพื่อให้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการเป็นผู้ประกันตน
มีผู้ประกันตนจำนวนมากที่ให้ความสนใจในส่วนของเงินกรณีชราภาพ โดยตั้งแต่งวดสมทบวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา ประกันสังคมเริ่มเก็บเงินสมทบเพิ่มในกรณีชราภาพเพื่อจัดเป็นกองทุนเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับผู้ประกันตนในวัยเกษียณให้สามารถมีเงินพอเพียงเลี้ยงชีพทุกเดือนไปตลอดชีวิต โดยที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม มาตราที่ 77 ทวิ ดังนี้
“ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนให้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ เว้นแต่เมื่อมีอายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์และความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา ๓๘ หรือ มาตรา ๔๑ ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนและความเป็น ผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา ๓๘ หรือมาตรา ๔๑ ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ”
ผู้ประกันตนหลายท่านมีความสงสัยว่าหากเราส่งเงินสมทบเป็นเวลา 15 ปี หรือ 180 เดือน สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับกรณีชราภาพจะเป็นอย่างไร
จากมาตรา 77 ทวิ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคมได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนไปจนกว่าจะเสียชีวิต ภายใต้ 2 เงื่อนไขที่สำคัญ คือ หนึ่งต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสองต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนคือต้องลาออกจากประกันสังคมเท่านั้น กฎหมายประกันสังคมได้ระบุไว้ชัดเจนว่า หากส่งเงินสมทบถึง 180 เดือน ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นเงินบำนาญหรือเงินรายเดือนไปจนตลอดชีวิต หากผู้ประกันตนต้องการได้รับเงินบำนาญชราภาพต้องรอจนมีอายุครบ 55 ปีเท่านั้น และจะต้องลาออกจากประกันสังคมด้วย โดยเงินสมทบ 180 เดือน ให้นับเฉพาะเดือนที่มีการส่งเงินสมทบเข้ามาและจะส่งติดต่อกันหรือไม่ก็ได้
ทีนี้ก็มาถึงคำถามว่าแล้วเงินบำนาญรายเดือนที่ว่าจะได้เท่าไหร่ คิดคำนวณอย่างไรทางประกันสังคมก็ได้ให้รายละเอียดไว้ โดยสามารถเข้าไปอ่านศึกษาได้ที่ลิงค์เว็บไซต์ประกันสังคมตามนี้
โดยสรุปคือหากส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน เงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่จะได้ คิดจากอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน หากส่งเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน เงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่จะได้ ให้คิดเพิ่มจากอัตราร้อยละ 20 อีกร้อยละ 1.5 ต่อการจ่ายเงินสมทบเพิ่มทุก ๆ 12 เดือน สำหรับค่าจ้างเฉลี่ยที่ประกันสังคมให้นำใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ
- หากเป็นกรณีที่ทำงานกับบริษัทเอกชนอยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 ค่าจ้างสูงสุดที่ประกันสังคมให้คิดเป็นฐานส่งเงินสมทบคือ 15,000 บาท ก็ใช้ 15,000 บาท เป็นฐานในการคำนวณเงินบำนาญชราภาพนี้ด้วย หากค่าจ้างไม่ถึง 15,000 บาท ก็ให้นำค่าจ้างจริงมาคำนวณ
- สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่ประกันสังคมให้ใช้ฐานเงินเดือนที่ 4,800 บาทต่อเดือน ในการคำนวณเงินสมทบก็ให้ใช้ 4,800 บาท เป็นฐานในการคำนวณเงินบำนาญชราภาพนี้เช่นกัน หากภายใน 60 เดือนสุดท้าย ก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมีทั้งช่วงเวลาที่ทำงานกับบริษัทเอกชนและช่วงที่ลาออกมาประกันตนเองตามมาตรา 39 ก็ให้คิดเฉลี่ยตามจำนวนเดือน
เรื่องเงินบำนาญชราภาพของประกันสังคมมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องทำความเข้าใจกันมาก จึงขอยกตัวอย่างการคำนวณเงินบำนาญชราภาพเพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น สมมติว่าเราทำงานในบริษัทเอกชนเริ่มส่งเงินสมทบตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2540 ตอนอายุ 22 ปีพอดี เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 จึงได้ลาออกมาเพื่อประกอบอาชีพอิสระแต่ก็เลือกสมัครประกันตนเองโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในกรณีนี้จะคำนวณเงินบำนาญชราภาพอย่างไร
ก่อนจะถึงขั้นตอนการคำนวณ อยากให้เข้าใจก่อนว่าการคำนวณเงินบำนาญชราภาพ ณ ขณะนี้ก็เพื่อให้เราทราบถึงสถานะปัจจุบันของเงินบำนาญชราภาพของเราเท่านั้น แต่หากอายุของเรายังไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ และก่อนจะถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ เงินเดือนหรือค่าจ้างรายเดือนของเราอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน รวมถึงระยะเวลาที่จะส่งเงินสมทบประกันสังคมก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาต่อจากปัจจุบันด้วย ว่าจะหยุดส่งหรือส่งต่อไปจนถึงอายุ 55 ปี ไม่ว่าจะหยุดส่งหรือส่งต่อไปจนถึงอายุ 55 ปี ก็จะมีโอกาสได้รับสิทธิเงินบำนาญชราภาพ เพียงแต่เงินรายเดือนที่ได้อาจมากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบส่วนที่เกิน 180 เดือน ว่านานกว่านั้นแค่ไหน
กลับมาที่ตัวอย่างของเรากันต่อ ในกรณีนี้เงินบำนาญชราภาพที่เราจะได้รับรายเดือนเมื่อมีอายุครบ 55 ปี และได้ลาออกจากประกันสังคมเพื่อรับสิทธิ์เงินบำนาญ คำนวณดังนี้
- ฐานค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนล่าสุด คิดจากปัจจุบันคือเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2559
- ย้อนกลับไปวันที่เราลาออกจากบริษัท คือเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 นับรวมได้ 42 เดือน
- ช่วง 42 เดือนนี้เป็นช่วงที่เราประกันตนเองตามมาตรา 39 คิดฐานเงินเดือนที่เดือนละ 4,800 บาท
- เหลืออีก 18 เดือนก่อนหน้าที่ต้องนำมาคิดเฉลี่ยด้วย เงินเดือนต่อเดือนเกิน 15,000 บาท ให้คิดสูงสุดที่ 15,000 บาท 18 เดือน นั้น ก็คิดฐานเงินเดือนตามนี้ ดังนั้น
ฐานค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนล่าสุด = [(4,800 x 42) + (15,000 x 18)] / 60 = 7,860 บาท
เริ่มส่งเงินสมทบเดือนแรกเดือนมีนาคม พ.ศ. 2540 แต่เงินกรณีชราภาพทางประกันสังคมเริ่มเก็บเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2541 ดังนั้น เงินสมทบที่ส่งมาก่อนหน้านั้นไม่นับรวมเป็นงวดสมทบกรณีชราภาพ ให้เริ่มนับตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบัน เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 รวมส่งเงินสมทบทั้งหมด 216 เดือน เมื่อย้อนกลับไปดูในเงื่อนไขเป็นการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน เกินอยู่ 36 เดือน เมื่อคิดส่วนเกินทุก ๆ 12 เดือน ก็จะมีส่วนเกินอยู่ 3 ขั้น (36/12 =3 )
ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญ
= 15 ปี (แรก) ได้อัตราเงินบำนาญ 20%
= 5 ปี (หลัง) ได้อัตราเงินบำนาญ (1.5% (ปรับเพิ่ม) × 3 ปี ) = 4.5%
รวมอัตราเงินบำนาญ 20 ปี = 20% + 4.5% = 24.5%
ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน 24.5 % x 7,860 = 1,925.70 บาท
เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากประกันสังคมเพื่อได้รับเงินบำนาญชราภาพ ผู้ประกันตนก็จะได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือน 1,925.70 บาท เท่ากันไปจนกว่าจะเสียชีวิต
อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่าเงินบำนาญรายเดือนที่คำนวณได้ในตอนนี้ อาจมีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการเป็นผู้ประกันตนและระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ หากกรณีตามตัวอย่างปัจจุบันเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 เรามีอายุ 41 ปี หากเราส่งเงินสมทบต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 55 ปี การคำนวณนี้ก็จะเปลี่ยนไป เงินบำนาญรายเดือนก็จะต้องคำนวณใหม่ด้วย
ทางประกันสังคมได้มีการจัดทำโปรแกรมการคำนวณเงินบำนาญชราภาพเบื้องต้นเพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าใช้งานและได้ทราบถึงสถานะเงินกรณีชราภาพของตนเองได้ โดยใส่ข้อมูลเบื้องต้นที่ใช้ในการคำนวณโปรแกรมก็จะคำนวณเงินบำนาญให้เราเห็นได้เลย ผู้สนใจสามารถเข้าไปลองใช้ได้ตามลิงค์ของประกันสังคมตามนี้
เรื่องประกันสังคมโดยเฉพาะในกรณีชราภาพเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก มีความเป็นไปได้ในหลายกรณีที่ผู้ประกันตนมีความสงสัย เช่น กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนอายุครบ 55 ปี ใครจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญชราภาพหรือ หากผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปี ลาออกจากประกันสังคม รับเงินบำนาญชราภาพ ภายหลังจะกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนได้อีกหรือไม่ หรือกรณีอื่น ๆ อีกมาก หากเราต้องการทราบข้อมูลเฉพาะเจาะจงเป็นกรณี ๆ ช่องทางที่จะให้ข้อมูลได้ชัดเจนมากที่สุด ควรโทรถามเจ้าหน้าที่สายด่วนประกันสังคมที่โทร. 1506 ก็จะได้คำตอบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นได้
อ้างอิง http://www.sso.go.th/wpr/postAction.do?method=view&topicId=4880&webId=0&page=1