ในปัจจุบันมีคำจำนวนไม่น้อยเลยล่ะที่พยายามที่จะหางานให้กับตัวเอง เพื่อที่จะได้มีรายได้ในการนำไปใช้ซื้อสิ่งของต่างๆที่ตัวเองอยากได้ รวมไปถึงการเก็บเงิน ออมเงินไว้เพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคตให้กับตัวเอง เริ่มแรกของใครหลายๆคนนั้น ก็อาจจะพยายามหางานโดยที่ไม่เลือกงานนั้นว่าจะเป็นงานอะไร เป็นงานแบบไหน ขอเพียงแค่เรามีคุณสมบัติตรงกับที่สถานประกอบการนั้นต้องการก็พอก็พร้อมที่จะเดินหน้าสมัครงานแล้ว โดยคนจำนวนไม่น้อยก็หวังลึกๆไว้ว่าในอนาคตจะต้องเจองานใหม่ที่ดีกว่าและสบายกว่าเดิม แต่ตอนนี้ได้งานอะไรมาก็ทำไว้ก่อน
เมื่อพนักงานเหล่านั้นทำงานจนถึงจุดๆหนึ่งแล้ว ความต้องการที่จะออกจากงานเดิมของใครหลายๆคนก็ล้วนเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อาจจะเป็นเพราะเจองานใหม่ที่ดีกว่าเดิม สบายกว่าเดิม เงินเดือนเยอะกว่าเดิมหรืออาจจะทนแรงกดดันจากงานเดิมไม่ไหว ซึ่งในการลาออกหรือออกจากที่ทำงานนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถขาดงานนานๆโดยไม่บอกกล่าวว่าจะลาออก หรือเดินไปคุยกับนายจ้างว่าจะลาออกในวันพรุ่งนี้แล้วก็จะไม่ไปทำงานในวันรุ่งขึ้นนะ ในการลาออกจากงานก่อนกำหนด เราจำเป็นต้องเข้าใจสิ่งต่างๆดังนี้
ลำดับแรกก่อนที่เราจะลาออก ต้องดูสัญญาจ้างเป็นอันดับแรก
ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม สัญญาจ้างที่ถูกเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรจะเป็นตัวที่แสดงให้เรารู้ว่า เราสามารถทำอะไรได้ บ้าง ซึ่งสัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงานนั้นจะมีอยู่ 2 ลักษณะใหญ่ๆเลยก็คือ
- สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา อย่างเช่นข้อตกลงที่ว่าจะจ้างทำงานหนึ่งปี สองปี ตามข้อตกลงระหว่างทั้งสองฝ่าย
- สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา
โดยงานที่เรากำลังทำอยู่จะมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแบบไหน ก็ดูตามระยะเวลาการจ้างตามสัญญาการจ้างงานเท่านั้น และสัญญาจ้างทั้ง 2 ลักษณะนี้ก็จะมีข้อกำหนดหลักๆที่แตกต่างกันไปก็คือ สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา จะไม่สามารถให้ลูกจ้างลาออกได้อย่างเสรีและนายจ้างก็ไม่สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้อย่างเสรีเช่นกัน ซึ่งแต่ต่างจากสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ที่นายจ้างและลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญา ลาออกได้อย่างเสรี
สำหรับใครที่มีลักษณะสัญญาจ้างเป็นแบบกำหนดเวลา การลาออกก่อนกำหนดก็จะต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายให้กับนายจ้าง แต่ถ้าหากว่าสัญญาจ้างนั้นมีลักษณะที่ไม่ค่อยเป็นธรรมสักเท่าไหร่ อย่างเช่นระยะเวลาในสัญญาที่เขียนไว้ว่าให้เราทำงานกับนายจ้างถึง 3 ปี อันนี้เราก็สามารถนำสัญญาจ้างไปฟ้องศาลได้ เนื่องจากศาลฎีกาคดีแรงงานเคยมีคำพิพากษาไว้ว่าให้ระบุระยะเวลาห้ามไว้ในสัญญาได้ไม่เกินหนึ่งปี การนำสัญญาไปฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้สัญญานั้นเป็นโมฆะ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามการนำสัญญาไปฟ้องก็ควรจะมั่นใจว่าสัญญานั้นไม่เป็นธรรม
ในส่วนของสัญญาจ้างที่ไม่มีระยะเวลานั้น จะเป็นการจ้างงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการทำงานหรือที่เราเรียกกันบ่อยๆว่าพนักงานประจำ นายจ้างหรือลูกจ้างต้องการที่จะบอกยกเลิกสัญญาจ้าง จำเป็นต้องมีการบอกล่วงหน้าโดยการเขียนเป็นหนังสือมาให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบก่อนเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง โดยจำเป็นต้องบอกให้อีกฝ่ายบอกกล่าวกันล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง แต่ไม่ต้องบอกกล่าวกันล่วงหน้าเกิน 3 เดือน
ถึงแม้ว่านายจ้างจะมีการกำหนดเงื่อนไขในการลาออกไว้ อย่างเช่นพนักงานที่ประสงค์จะลาออก ต้องได้รับอนุมัติจากนายจ้างก่อน แต่ด้วยลักษณะของสัญญาจ้างที่เป็นการจ้างงานแบบไม่มีกำหนดระยะเวลา ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ได้ทั้งนั้น
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การลาออกจากงานนั้นก็ไม่ควรที่จะลาออกอย่างกระชั้นชิดเกินไป ทำเรื่องวันนี้แล้วออกพรุ่งนี้หรือทำเรื่องในวันที่ 31 ธ.ค. ในปีนี้ แล้วก็ออกจากงานในวันที่ 1 ม.ค. ในปีหน้าไปเลย เพราะการทำลักษณะนี้เป็นการเลิกจ้างที่ฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากมีระยะเวลาการบอกล่วงหน้าที่สั้นเกินไป นายจ้างจึงอาจจะได้รับความเสียหายจากการลาออกของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบงาน การคืนของต่างๆ ซึ่งถ้าหากว่าเราละเลยในส่วนนี้ นายจ้างมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้
เรียกได้ว่าเราจะเป็นที่จะต้องลาออกให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อที่จะไม่ให้เกิดผลเสียกับตัวเองและไม่เสียสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งในปัจจุบันนี้ มีการลาออกมากกว่าถูกให้ออก จากข้อมูลสถิติมนุษย์เงินเดือนที่เป็นผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมที่มาขึ้นทะเบียนว่างงานของกรมกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงาน เป็นผู้ที่สมัครใจลาออกเองเป็นถึง 2 ใน 3 ของคนที่ว่างงานทั้งหมด นั่นหมายถึงคนจำนวน 1 ใน 3 เป็นกลุ่มคนที่นายจ้างให้ออก ซึ่งในการลาออกเอง เราจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างตามกฎหมายแรงงานแต่อย่างใด แต่สิ่งที่เราจะได้ก็คือกองทุนประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนช่วงที่ว่างงานให้ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเป็นเวลา 3 เดือนตามปีปฏิทิน โดยจะต้องรีบขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันถึงจะได้เงินในส่วนนี้นะ การลาออกจากงานที่ดีที่สุด ก็คือการลาออกจากงานโดยที่เรามีความมั่นคงรองรับไม่ว่าจะเป็นงานใหม่หรืออื่นๆ เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ลำบาก
อ่านเพิ่มเติม : ออกจากงาน ประกันสังคม จ่ายเท่าไหร่ ?