ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความฝันของเหล่าเด็กจบใหม่ทั้งหลาย ก็คือ การได้มีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง
แต่ดูเหมือนว่าในยุคนี้ โชคจะไม่ค่อยเข้าข้างเด็กจบใหม่สักเท่าไรนัก เพราะอัตราการว่างงานของคนในสังคม มีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อมูลทางสถิติประจำเดือนพฤษภาคม 2559 พบว่ามีผู้มีงานทำอยู่ทั้งหมด 37.23 ล้านคน และผู้ที่กำลังว่างงานอยู่ทั้งหมด 3.96 แสนคน (อ้างอิงจากข้อมูลของกองวิจัยตลาดแรงงาน) เมื่อนำข้อมูลนี้ไปเทียบกับ ข้อมูลของแรงงานโดยคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ พบว่ามีอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยที่ทางสภาพัฒน์ได้เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2559 อยู่ที่ 3.7 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 0.97 เพิ่มขึ้นจากอัตราว่างงานในไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2558 ที่มี่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.94
ทางสภาพัฒน์ ยังได้เปิดเผยออกมาด้วยว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกที ทำให้เกิดการจ้างงานจากภาคการเกษตรที่ลดลงจากปีก่อน ๆ ถึงร้อยละ 2.7 เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามการจ้างงานในส่วนของนอกภาคการเกษตรกลับเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นผลจากการที่ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว ภาคการขนส่ง มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
ส่วนสาเหตุที่ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของกองวิจัยตลาดแรงงานนั้น ระบุว่า
- ประการแรก
มาจากการเลิกจ้างพนักงานด้วยสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดจำนวนพนักงานในองค์กรที่คิดเป็นร้อยละ 37.38 หรือการเลิกจ้างพนักงานเพราะปิดกิจการที่คิดเป็นร้อยละ 35.50 การหยุดกิจการชั่วคราว คิดเป็นร้อยละ 23.75 แม้กระทั่งการเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านการประเมินหรือทดลองงาน การเลิกจ้างเพราะลูกจ้างกระทำความผิด การเลิกจ้างเพราะนายจ้างเปลี่ยนไปใช้เครื่องมือที่ทันสมัยแทนแรงงานคน คิดเป็นร้อยละ 2.64, 0.54 และ 0.18 ตามลำดับ
- ประการที่สอง
ที่เป็นต้นเหตุของอัตราการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น นั่นก็คือ การที่ลูกจ้างลาออกจากองค์กรหรือตลาดแรงงานที่ทำอยู่ สาเหตุหลัก ๆ ที่พบมากที่สุด คือ
- ลูกจ้างต้องการเปลี่ยนงานใหม่ ข้อนี้คิดเป็นร้อยละ 85.18 เลยทีเดียว
- รองลงมาก็คือ การหมดสัญญาจ้าง คิดเป็นอัตราส่วน อยู่ที่ร้อยละ 5.43
- นอกจากนี้ ก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก เช่น ต้องการออกไปประกอบอาชีพอิสระ ทำไร่ ทำนาหรือออกไปดูแลครอบครัว คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 5.04
- ต้องการออกไปพักผ่อน คิดเป็นร้อยละ 4.28
- เกษียณอายุราชการ และไม่ระบุสาเหตุ คิดเป็นร้อยละ 0.06 และ 0.01 ตามลำดับ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้อัตราการว่างงานของคนไทยในปัจจุบัน (ข้อมูลของเดือนพฤษภาคม 2559) มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และดูเหมือนว่าช่วงนี้จะเกิดเหตุการณ์หลายประการที่จะกลายเป็นความเสี่ยงต่ออัตราการจ้างงาน และเป็นชนวนให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น ปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น ได้แก่ สถานการณ์ภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์นี้จะส่งผลต่อภาคการเกษตรของไทยโดยตรง ทำให้ผลผลิตที่ควรจะเก็บเกี่ยวได้ไม่สมดุลกันกับเงินที่ลงทุนไป อีกทั้งแรงงานที่อยู่ในภาคการเกษตร ส่วนมากจะเป็นผู้ที่มีคุณภาพชีวิตที่แย่ ยากจน อายุเยอะ จากการสำรวจของสภาพัฒน์ พบว่าร้อยละ 69 ของเกษตรกร เป็นคนที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป นับว่าเป็นวัยกลางคน ที่จะเข้าสู่วัยชราแล้ว แถมบรรดาแรงงานเหล่านี้ก็ไม่ได้มีการศึกษาที่สูงอะไร จากสถิติพบว่ากว่าร้อยละ 70 ของแรงงานภาคการเกษตร จบการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่าและค่าจ้างของแรงงานในภาคการเกษตร ก็ต่ำกว่าภาคอื่น ๆ ถึง 2.5 เท่า คือ อยู่ที่ประมาณ 5,582 บาท/เดือน ด้วยปัจจัยดังที่กล่าวมานี้ จึงทำให้แรงงานภาคการเกษตร ต้องตกที่นั่งลำบาก ไม่อาจจะรับมือภัยแล้งได้อย่างเต็มที่ ยิ่งเป็นการผลักให้คุณภาพชีวิตของแรงงานภาคการเกษตรจมดิ่งลงเหวไปอีก ตามมาด้วยการเลิกจ้างแรงงานในภาคการเกษตรหรือไม่มีแรงงานใหม่ ๆ ที่จะเข้าไปทำงานในส่วนของภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงประการที่สอง ที่อาจส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวที่เป็นไปอย่างงุ่มง่าม โดยเฉพาะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีน อันเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย การที่เกิดสถานการณ์นี้ขึ้น ย้อมส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยชะลอตัวลงด้วย แต่ในส่วนนี้ยังไม่แย่เท่าใดนัก ยังไม่มีการปลดพนักงานในภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจก็ใช้วิธีการปรับลดชั่วโมงการทำงานลงแทน ซึ่งก็คงต้องคอยจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าสถานการณ์ของภาคการส่งออกนี้จะดีขึ้นหรือแย่ลง หากดีขึ้นอัตราการว่างงานก็คงจะลดลง แต่ถ้าแย่ลงอัตราการเลิกจ้างก็คงจะมีมากขึ้น และทำให้การว่างงานของคนไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงประการอื่น ๆ อีก ที่ส่งผลต่อการจ้าง รายได้และการว่างงาน ไม่ว่าจะเป็นการกีดกันทางการค้า จากการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งปัญหานี้ส่งผลต่อการทำธุรกิจประมงโดยตรง อันนี้ยังไม่พบว่าเกิดปัญหาร้ายแรงอะไรขึ้นกับบรรดาแรงงานหรือเปล่า แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะมีการออกกฎบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อลดความเสี่ยงของอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคการประมงด้วย
ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้ ก็คือ สถิติการว่างงานและความเสี่ยงของแรงงานไทยในปัจจุบัน หลังจากนี้ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า อัตราว่างงานของคนไทยจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด ถ้าเกิดว่าลดลงก็อาจจะไม่เป็นไร แต่ถ้าเพิ่มขึ้นก็ได้แต่หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถเข้าไปหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นได้ ก่อนจะแก้ไขปัญหาไปทีละเปราะเพราะถ้าปล่อยให้อัตราว่างงานพุ่งทะยานสูงขึ้นละก็ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
อ้างอิง