เศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงก่อนปี 2559 ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงพอสมควร นับตั้งแต่ตอนที่เกิดปัญหาทางการเมืองจนกระทั่งเข้าสู่การทำรัฐประหารเป็นต้นมา
จนกระทั่งภายหลังจากการทำรัฐประหาร เศรษฐกิจของไทยก็มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวและกลับมาเจริญเติบโตได้อีกครั้ง ทั้งในเรื่องของการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งจะเห็นได้จากข่าวเศรษฐกิจที่ลงในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 รายละเอียดของข่าวดังกล่าวมีอยู่ว่าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) นำโดยนายกฤษฎา จีระวิจารณะ ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจประจำเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงเวลานี้มีการเจริญเติบโตสูงขึ้น ทั้งในด้านของการบริโภคและการลงทุนของเหล่าบริษัทเอกชนทั้งหลาย โดยเฉพาะในธุรกิจด้านการก่อสร้าง ในขณะที่การลงทุนของภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี
ส่วนในแหล่งข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.nesdb.go.th/ กล่าวว่าเมื่อสรุปการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2559 แล้ว พบว่ามีการขยายตัวสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 3.2 ถือว่าเป็นการขยายตัวครั้งประวัติการณ์ในรอบ12 ไตรมาสเลยทีเดียว และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในไตรมาส 4 ของเมื่อปี 2558 แล้ว ในปีนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีเพิ่มขึ้นมาถึงร้อยละ 0.9 เลยทีเดียว
สำหรับในส่วนของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะนี้น่าจะถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำเพียงแค่ 0.1 และ 0.8 ต่อปีเท่านั้น อีกอย่างหนึ่งคืออัตราการว่างงานของคนในระยะนี้ ก็ยังอยู่ในร้อยละที่ต่ำคือ 1.0 จากกำลังแรงงานรวมพูดง่าย ๆ ก็คือ มีคนที่กำลังเดินเตะฝุ่นหางานไม่ได้ปะปนอยู่ในสังคมไทยอยู่เพียงแค่ 3.96 แสนคน เท่านั้น เทียบกับปีก่อน ๆ ที่มีเยอะกว่านี้ ถือได้ว่าปัญหาการว่างงานของแรงงานไทยอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น
อีกอย่างหนึ่งที่บ่งบอกได้ถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ อัตราหนี้สาธารณะ ที่ช่วงนี้อยู่ที่ร้อยละ 44.0 จากที่กรอบความยั่งยืนทางการคลังได้กำหนดไว้ว่าอัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP ต้องอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 60.0 การที่มีหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ 44.0 เช่นนี้ จึงถือว่าอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
นอกจากนี้ในเนื้อหาข่าวดังกล่าวก็ยังมีการกล่าวถึงงบประมาณที่จะนำไปใช้ทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับรากฐานตามแนวประชารัฐ การตั้งวงเงินงบประมาณไปไว้สำหรับลงทุนรถไฟฟ้า เป็นต้น การเบิกจ่ายเหล่านี้ สศค. ได้มีการเตรียมแผนไว้อย่างชัดเจนว่าจะจำกัดวงเงินไว้ที่เท่าไร เพราะฉะนั้นการเบิกจ่ายตรงส่วนนี้ จึงไม่น่ากระทบกับอัตราเงินเฟ้อและสภาพเศรษฐกิจโดยรวมอย่างแน่นอน
ประเด็นสุดท้ายที่ทาง สศค. ได้กล่าวถึง คือ การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสต่อไป น่าจะมีการขยายตัวที่เพิ่มมากขึ้น ไม่หยุดอยู่แค่ร้อยละ 3.2 อย่างแน่นอน เนื่องจากยังมีองค์กรภาคเอกชนอีกหลายองค์กรที่เริ่มฟื้นตัวและดำเนินการลงทุน รวมถึงจะลงทุนเพิ่มขึ้นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังมีประเด็นบางอย่างที่น่าเป็นห่วงอยู่พอสมควร คือ ภาคการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบไปร้อยละ 0.7 ในส่วนนี้ก็คงต้องมีการจับตาดูกันต่อไป
จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นดังที่ว่ามาในข่าวนี้ น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีว่าเศรษฐกิจของไทยจะมีการฟื้นตัวและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคการลงทุนของเอกชนและภาคการบริโภค ตราบเท่าที่สถานการณ์บ้านเมืองยังสงบเงียบเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ การที่บ้านเมืองไม่เกิดความวุ่นวาย สงบเงียบจะเป็นตัวดึงดูดให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้ามีการลงทุนเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เศรษฐกิจก็จะเกิดการขยายตัว แต่อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าจับตามอง ก็คือ อัตราเงินเฟ้อ ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่ไม่มีความแน่นอน เพราะถ้าเกิดวันดีคืนดีอัตราเงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้นกะทันหัน ก็อาจกลายเป็นตัวที่ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและส่งผลในระยะยาวต่อสภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนนี้ ก็คงต้องมีการจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป
นอกจากค่าเงินอัตราเงินเฟ้อที่มีความผันผวนแล้ว สิ่งที่คงต้องจับตาดูและช่วยส่งเสริมกันต่อไป ก็คือ ภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีผลกับเศรษฐกิจองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรม ภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทั้ง 3 ภาคนี้ เป็นส่วนสำคัญที่จะชี้ชะตาว่าเศรษฐกิจไทยจะพุ่งทะยานสู่ท้องฟ้าหรือจะทิ้งดิ่งลงหุบเหว ถ้าเกิดเสถียรภาพของภาคทั้ง 3 นี้ ไม่มีก็เป็นการยากที่เศรษฐกิจไทยจะเจริญรุ่งเรืองได้
สำหรับหลักการสำคัญเพื่อการบำรุงภาคทั้ง 3 นี้ ก็ไม่มีอะไรมาก แค่พยายามเพิ่มสิทธิประโยชน์และสวัสดิภาพ ให้กับผู้ประกอบการในภาคให้ได้มากที่สุด ถ้าเป็นภาคการเกษตรอาจมีการส่งเสริมให้ราคารับซื้อพืชผลสูงขึ้น อนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกหรือจะประกันราคาสินค้าพืชผล อะไรก็ว่าไปส่วนถ้าเป็นภาคการส่งออก อันนี้ก็คงต้องพยายามทำตามกลไกให้รัดกุมมากที่สุด เพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ส่งออกและสุดท้าย ภาคการท่องเที่ยว ในส่วนนี้คงต้องลองใช้วิธีการแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพื่อชักจูงนักท่องเที่ยวให้หันมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้นและต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมั่นใจว่าจะได้รับความปลอดภัยมากที่สุด เมื่อมาเที่ยวเมืองไทยรวมถึงควรจะมีการรักษาความสะอาดของสถานที่ท่องเที่ยวให้เข้มแข็งด้วย ถ้าสามารถบำรุงภาคทั้ง 3 นี้อย่างได้ผล รับรองว่าเศรษฐกิจน่าจะมีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว
พูดถึงเรื่องต่าง ๆ มาเสียยืดยาวแล้ว ขออนุญาตสรุปเลยว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน เริ่มค่อย ๆ ฟื้นตัว และมีแนวโน้มที่จะมีทิศทางดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาบางอย่างที่อาจจะมาขัดความเจริญทางเศรษฐกิจได้มีทั้งปัญหาที่มีอยู่แล้วและปัญหาที่ยังไม่มี เพราะฉะนั้นขอให้หน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจจงจับตามองสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไว้ให้ดี เพื่อที่เวลาเกิดปัญหาขึ้นจะได้แก้ไขอย่างทันท่วงทีไม่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจ โดยรวมของประเทศเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตนั่นเอง
อ้างอิง
- http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/700280
- http://www.nesdb.go.th/ewt_news.php?nid=5856&filename=index