วันที่ 23 มิ.ย. 59 เป็นอีกหนึ่งวันที่ประวัติศาสตร์โลกต้องจารึก…
เพราะประชาชนในสหราชอาณาจักร หรือ UK จะต้องออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงลงประชามติ เพื่ออยู่ในสหภาพยุโรป หรือ EU ต่อหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าคะแนนเสียงจะออกมาเป็นอย่างไร เศรษฐกิจโลกก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทันที
Brexit และ Bremain คืออะไร
นับตั้งแต่ UK ประกาศกร้าวให้มีการลงประชามติว่าจะอยู่ต่อหรือออกจาก EU ดี ในโลกการเงินก็มี 2 คำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นทันควัน นั่นก็คือ
- ‘Brexit’ ซึ่งมาจาก Britain ผสมกับ Exit หมายถึง สหราชอาณาจักรควรออกจาก EU
- ส่วน ‘Bremain’ มาจาก Britain ผสมกับ Remain หมายถึง สหราชอาณาจักรควรอยู่กับ EU ต่อไป
จึงทำให้หลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งวงการสื่อ การเมือง การเงินการธนาคาร ต่างใช้ศัพท์นี้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่จะตามมาหลังการตัดสินใจของ UK
ข้อดีข้อเสียของ Brexit และ Bremain
แน่นอนว่า ก่อนการลงประชามติ ทุกองค์กรทุกหน่วยงานต่างออกมารณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนอย่างเต็มกำลัง ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ จนถึงขั้นแบ่งฝักฝ่ายกันอย่างชัดเจน สำหรับฝ่ายที่สนับสนุนให้อังกฤษออกจาก EU ก็วิเคราะห์ให้เห็นเป็นภาพว่า ที่ผ่านมาอังกฤษต้องจ่ายเงินให้กับ EU มากกว่ารับปีละหลายพันปอนด์ และหากอังกฤษออกจาก EU เมื่อไหร่ ก็ไม่ต้องมาแบกรับภาระปัญหาผู้ลี้ภัยที่เข้ามาอยู่ และแย่งอาชีพคนอังกฤษทำ ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศให้ไม่เติบโตทั้งสิ้น
ในส่วนของผู้ที่สนับสนุนให้อังกฤษอยู่ใน EU ต่อ เพราะเห็นว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจของการออกจาก EU นั้นสูงมาก ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจอาจหดตัวสูงถึง 6-10% ภายในปี 2030 และอังกฤษจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ในการเจรจาธุรกิจกับ EU เพราะกติกาการค้าแบบเสรีระหว่างอังกฤษกับ EU ก็ถือเป็นอันสิ้นสุดลงเช่นกัน
www.producebusinessuk.com
ผลกระทบต่อโลกเมื่อเกิด Brexit หรือ Bremain
แม้ว่าผลโพลล่าสุดจะออกมาชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านการออกจาก EU นั้นมีความสูสีใกล้เคียงกันมาก แต่อย่าลืมว่า ยังมีคะแนนเงียบอีกหลายเสียงที่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม องค์การการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกรายงานแสดงความกังวลว่า หากอังกฤษตัดสินใจออกจาก EU จริง ขอให้ทุกประเทศเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะจะมีความผันผวนอย่างหนักเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย เพราะที่ผ่านมาแค่ผลโพลบอกว่า เสียงทาง Brexit มีมากกว่า สินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกก็เริ่มขยับรุนแรงตามกระแสโพลทันที ดังจะเห็นได้จาก การที่ทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 20% มาที่ระดับ 1,282 เหรียญต่อออนซ์ ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นราว 15% ตั้งแต่ปลายปี
สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้โดยตรง แต่ก็ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วยอย่างแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ นักลงทุนต่างชาติได้เคลื่อนย้ายเงินทุน โดยเข้ามาซื้อตราสารหนี้ และหุ้นไทย เพื่อกระจายความเสี่ยง จึงทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และหากเกิด ‘Brexit’ จริง นักวิเคราะห์จึงคาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทจะมีโอกาสอ่อนค่าลงราว 2.0% แต่หากเกิดกรณี ‘Bremain’ แทน คิดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าเพียง 0.5% เท่านั้น
ทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นเพียงแค่มุมมองของนักวิเคราะห์ ผลกระทบจริงจะเป็นเช่นไรคงต้องดูกันอีกครั้งหลังจากวันลงประชามติ
…จะ ‘รุนแรง’ หรือ ‘ราบรื่น’ วันนี้ รู้กัน!
ที่มา