สร้างความตกใจให้กับคนไทยไม่น้อย เมื่อ “Ensogo” เว็บดีลชื่อดังได้ปิดตัวลงปานสายฟ้าแลบ ทำเอาลูกค้าที่เคยใช้บริการ และกำลังใช้บริการเกิดช็อกไปชั่วขณะ พร้อมคำถามว่า เพราะเหตุใด? หรืออะไร? ที่ทำให้ Ensogo ต้องจากประเทศไทยไปแบบไม่สวยงาม
ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ Ensogo ต้องขอโบกมือลา บ๊าย…บาย…แบบม้วนเสื่อรวดเดียวจบ แต่ทุกประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ หรือมาเลเซียที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด ก็ต้องปิดกิจการลงเช่นเดียวกัน
…เพราะนี่คือธุรกิจ…
แววสัญญาณร้าย
ผู้บริหารของ Ensogo ได้ออกมาแถลงว่า บริษัทจำเป็นต้องตัดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรออก เพื่อรักษาสภาพคล่อง และเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนใหม่ในอนาคต ซึ่งเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา Ensogo ต้องประสบปัญหาอย่างหนัก ทั้งไม่สามารถดึงให้ร้านค้าและผู้บริโภคมาเป็นคู่ค้าหรือลูกค้าได้ รวมถึงปัญหาในการรวมศูนย์การบริหารที่สิงคโปร์ จึงกลายเป็นไฟไหม้ฟางที่ลุกลามให้บริษัทเกิดวิกฤตรุนแรง จนต้องปลดพนักงานออกครึ่งหนึ่งจาก 600 คน ให้เหลือเพียง 300 คนเท่านั้น
สัญญาณร้ายได้เริ่มส่อแววไม่สวยใสมาตั้งแต่ปี 2013 แล้ว หากย้อนกลับไปค้นข่าวตลาดหุ้นในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Ensogo จะพบว่า ตัวเลขผลประกอบการของบริษัทไม่ดีเท่าที่ควร และเริ่มผิดนัดจ่ายเงินให้กับร้านค้าที่เป็นคู่ค้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการตำหนิประจานกันตามสื่อ และโซเชียลต่างๆ อยู่เนืองๆ
เมื่อทนแบกรับการขาดทุนไม่ไหว Ensogo จึงต้องขออำลาวงการ โดยตัดเงินทุนสนับสนุนในทุกๆ ด้าน กับบริษัทลูกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรักษาเงินที่เหลือไว้ ในรายงานผลประกอบการต่อเอเอสเอ๊กซ์พบว่า Ensogo มีกระแสเงินสดหมุนเวียนอยู่เพียง 17.6 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือราว 464 ล้านบาท ซึ่งหาก Ensogo ไม่สามารถกอดรักษาเงินก้อนนี้ไว้ ด้วยการลดต้นทุน หรือระดมทุนใหม่ได้ อนาคต Ensogo อาจต้องดับสูญในไม่ช้า
เพราะเหตุใด Ensogo จึงไปไม่รอด
นักวิเคราะห์ทางการตลาดได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิกฤตของ Ensogo ไว้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการโมเดลทางธุรกิจรูปแบบ Multiple Side Platform ซึ่งเป็นการสร้างกำไรจากการเป็นตัวกลางระหว่างคู่ค้ากับผู้บริโภค แต่โมเดลนี้จะประสบความสำเร็จได้ ทั้งคู่ค้าและผู้บริโภคต้องได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่ตัวกลางเป็นผู้ได้รับแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่เช่นนั้นแล้ว คู่ค้าก็ไม่อยากจะลงทุนด้วย จนมีการบอกต่อเพื่อนธุรกิจด้วยกันถึงผลเสียมากกว่าผลดี และเมื่อไม่มีคู่ค้าที่ดี ผู้บริโภคก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อดีลที่ไม่สมราคา หรือไม่น่าสนใจอย่างแน่นอน ซึ่งในปีแรกๆ ของการเปิดดีลยอมรับว่า Ensogo ได้ดีลจากร้านค้า ร้านอาหาร บริการ และที่พักเปี่ยมคุณภาพมากๆ จนขนาดบางดีลเกิดสงครามแย่งซื้อกันเลยทีเดียว
ในทางกลับกัน คุณภาพของผู้บริโภคก็เป็นปัจจัยสำคัญในธุรกิจโมเดลนี้ หากร้านค้าต้องเจอกับลูกค้าประเภทนักล่าโปรมืออาชีพ (deal hunter) คือลูกค้าที่มีพฤติกรรมแข่งขันอวดประชันความคุ้มจากดีลที่ซื้อ จึงใช้บริการจากร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ อย่างสิ้นเปลือง ไม่มีความเกรงใจลูกค้าอื่นๆ ที่มาใช้บริการตามปกติ เมื่อเจอลูกค้าลักษณะนี้จากดีลมากเข้า คู่ค้าหลายรายก็ต้องขอ Say Goodbye จาก Ensogo ไปเหมือนกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ Ensogo จึงเป็นเพียงเว็บที่มีแค่คู่ค้าเพิ่งเปิดใหม่ หรือรายเล็กๆ ที่ต้องการอาศัยสื่อโปรโมทร้านตัวเองในช่วงสั้นๆ เท่านั้น ซ้ำร้ายมีบางร้านแอบลักไก่ขายของไม่เหมือนตามที่โฆษณา ก็ทำให้ผู้บริโภคหลายคนไม่ประทับใจกับการซื้อดีลจาก Ensogo อีกต่อไป ในที่สุด ภาพลักษณ์ที่เคยดีงามจากทั้งคู่ค้า และผู้บริโภคก็หมดลง แล้วอย่างนี้ธุรกิจจะหากำไรจากส่วนไหนมาจุนเจือ
นับจากนี้ผู้บริโภคต้องทำอย่างไร
จากการปิดตัวของ Ensogo แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ร้านค้าหลายแห่งที่ดีลกับ Ensogo ได้เริ่มประกาศงดรับคูปองจากลูกค้าที่ซื้อไว้ จึงทำให้ผู้บริโภคเกิดคำถามว่า แล้วตนจะเรียกหาความรับผิดชอบเงินที่สูญไปจากใครดีระหว่าง Ensogo หรือร้านค้า จนมีการรวมตัวสร้างเพจ “รวมผู้ได้รับผลกระทบensogo” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมกับให้คำแนะนำว่า หากชำระค่าดีลด้วยบัตรเครดิต ให้ติดต่อไปยัง Call Center ของธนาคาร แล้วระงับการเรียกเก็บ หรือขอเรียกเงินคืน โดยแจ้งเหตุผลถึงสถานะของผู้ให้บริการไม่น่าเชื่อถือ แต่สำหรับผู้ที่ชำระค่าดีลด้วยการโอนเงิน คงได้แต่เพียงรอให้ทาง Ensogo ออกมาแสดงความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น
เพราะไม่เพียงแต่ผู้บริโภคเท่านั้นที่รอ ยังมีร้านค้าอีกมากมายที่รอรับค่าดีลจาก Ensogo ด้วยเช่นกัน
ที่มา