สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นสถาบันทางการเงินแห่งหนึ่งที่มีสมาชิกเป็นบุคคลธรรมดา มีอาชีพย่างเดียวกัน หรืออาศัยในที่ชุมชนเดียวกัน การจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการออมทรัพย์ และทางสหกรณ์ก็ได้มีโครงการให้สมาชิกสามารถกู้ยืมเงินได้เมื่อเกิดความจำเป็น หรือเป็นการเพิ่มพูนเงินให้มีมากขึ้น และได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542
สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งแรกในประเทศไทย คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีการจัดตั้งขึ้นในหมู่ของข้าราชการสหกรณ์ และพนักงานธนาคาร เพื่อการพัฒนาสหกรณ์ (ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเป็น “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร”) ได้ทำการจดทะเบียนเมี่อวันที่ 28 กันยายน 2429 โดยใช้ชื่อว่า “สหกรณ์ข้าราชการสหกรณ์ จำกัดสินใช้” แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชื่อ “สหกรณ์ข้าราชการสหกรณ์ จำกัด”
ลักษณะการให้เงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์
การปล่อยให้กู้เงินของทางสหกรณ์นั่น จะมีการจ่ายให้กับสมาชิก 3 ประเภทด้วยกันคือ เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน เงินกู้สามัญ และเงินกู้พิเศษ
- เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน
เป็นเงินกู้เพื่อช่วยเหลือสมาชิกของสหกรณ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือมีรายจ่ายที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน สมาชิกสามารถขอกู้เงินประเภทนี้จากทางสหกรณ์ได้ แต่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของเงินได้รายเดือน ข้อจำกัดขั้นสูงไว้ตามฐานะของแต่ละสหกรณ์ สมาชิกที่ขอกู้จะต้องกำหนดส่งชำระคืนไม่เกิน 2 งวดรายเดือน จุดเด่นของเงินกู้ประเภทนี้คือคุณสามารถกู้ได้โดยไม่ต้องมีบุคคลค้ำประกัน
- เงินกู้สามัญ
เป็นเงินกู้ที่สมาชิกสามารถขอกู้เงินได้ประมาณ 4 – 15 เท่าของเงินได้ต่อเดือน แต่ก็จะมีจำกัดขั้นสูงไว้ตามมาตรฐานของแต่ละสหกรณ์ และได้มีการกำหนดให้คุณส่งชำระเงินคืนระหว่าง 24 – 72 งวดรายเดือน ที่สำคัญคุณต้องมีสมาชิกด้วยกันเป็นผู้ค้ำประกันอย่างน้อย 1 คน การกำหนดวงเงินกู้ฉุกเฉินและสามัญ จะต้องใช้เงินเดือนเฉลี่ยของสมาชิกแต่ละสหกรณ์ เป็นฐานในการกำหนด
ยกตัวอย่างเช่น สหกรณ์แห่งหนึ่ง สมาชิกแต่ละคนมีเงินเฉลี่ยประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน ขั้นสูงของวงเงินกู้ฉุกเฉินควรเป็น 5,000 บาท ขั้นสูงของวงเงินกู้สามัญ ควรจะเป็น 40,000 บาทถึง 150,000 บาท ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินและดุลยพินิจของคณะกรรมการเพื่อดำเนินการสหกรณ์ ในการกำหนดระเบียบขึ้นมาอีกด้วย
- เงินกู้พิเศษ
หากทางสหกรณ์เริ่มมีความมั่นคงทางการเงินแล้ว สหกรณ์จะเปิดบริการให้คุณสามารถกู้เงินพิเศษนี้ได้ เพื่อให้สมาชิกกู้ไปลงทุน ในการประกอบอาชีพ หรือขึ้นอยู่กับราคาของบ้านและที่ดินที่คุณต้องการซื้อ หรือจำกัดขั้นสูงไว้ไม่เกิน 400,000 บาทถึง 1,000,000 บาท และกำหนดให้ชำระคืน ตั้งแต่ 10 – 15 ปี โดยมีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักจำนองค้ำประกันไว้ด้วย
การดำเนินงาน
ทางสหกรณ์ออมทรัพย์จะดำเนินการโดยสมาชิก กล่าวก็คือ เมื่อได้รับการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นแล้ว สมาชิกจะต้องเลือกตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ให้เข้ามาบริหารงานในสหกรณ์ ซึ่งตัวแทนสมาชิกเหล่านี้ เรียกกันว่า “คณะกรรมการดำเนินการ” มีประมาณ 7 – 15 คนต่อหนึ่งสหกรณ์ ตามที่ได้กำหนดเอาไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น ๆ คณะกรรมการดำเนินการจะมีหน้าที่ในการบริหารจัดกิจกรรมสหกรณ์โดยจะมีการประชุม อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการกำหนดนโยบายในการทำงานนั่นเอง จากนั้นจึงมอบให้กับ “ฝ่ายจัดการ” รับไปปฏิบัติงานต่อไป ฝ่ายการจัดการนั้น ประกอบไปด้วย ผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ สมุห์บัญชี เจ้าหน้าที่การเงิน ฯลฯ
การสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์
- กรณีในหน่วยงาน หรือชุมชนที่มีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์
คุณจะต้องมีความประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก โดยการยื่นใบสมัครต่อสหกรณ์ เพื่อสหกรณ์จะได้นำใบสมัครของคุณเสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ ในการพิจารณาเพื่อเข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์ เมื่อทางคณะกรรมการดำเนินการรับคุณเข้าเป็นสมาชิกแล้ว คุณจะต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าประมาณ 20 – 50 บาท เพื่อชำระค่าหุ้นประมาณ 4 – 5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ และคุณต้องลงรายมือชื่อในการลงทะเบียนประจำทุกปี เมื่อคุณต้องการลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาพ คุณสามารถถอนค่าหุ้นคืนทั้งหมดได้ ส่วนค่าธรรมเนียมแรกเข้าสหกรณ์จะไม่จ่ายคืน เพราะถือว่าเป็นรายได้ของสหกรณ์อย่างหนึ่ง
- กรณีในหน่วยงาน หรือชุมชนที่ยังไม่มีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์
คุณที่มีความสนใจในกิจการของสหกรณ์ออมทรัพย์ และมีความประสงค์ต้องการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นใหม่ในหน่วยงาน หรือชุมชนของคุณ คุณสามารถรวมตัวกับเพื่อจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นมาใหม่ได้ โดยขอคำแนะนำจากทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์ พื้นที่ 1 และพื้นที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในส่วนภูมิภาค ทั้งนี้คุณยังสามารถติดต่อโดยตรงที่สำนักงานจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร 10200 หรือติดต่อทางโทรศัพท์ เบอร์ 0 2282 6595 ได้เช่นเดียวกัน
สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์
เมื่อคุณเป็นสมาชิกกับทางสหกรณ์ออมทรัพย์ คุณจะมีบทบาทที่สำคัญในการควบคุมการบริหารงานของสหกรณ์ โดยใช้สิทธิ และปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกให้ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ อย่างเช่นการร่วมประชุมใหญ่ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับสมาชิกได้แสดงสิทธิและป้องกันผลประโยชน์ของตน ตลอดจนการติดตามผลการดำเนินงาน การจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างยุติธรรม นอกจากนี้คุณยังสามารถแสดงความคิดเห็น หรืออธิบายเกี่ยวกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น มีความแตกต่างกัน รวมถึงนโยบายของการจัดตั้งด้วย คุณจะต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจกับรายละเอียดต่าง ๆ ก่อนที่คุณจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับทางสหกรณ์ออมทรัพย์ ทั้งนี้เป็นการป้องกันปัญหาที่ตามมาในอนาคต ที่คุณไม่คาดคิดจะเกิดขึ้นได้
ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก http://webhost.cpd.go.th/rlo/saving.html