ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรที่ต้องการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรืออียูนั้นส่งผลกระเทือนไปทั่วทุกภาคส่วนของโลก ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทั้งตลาดเงินและตลาดทุน เศรษฐกิจ การค้าและแรงงาน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเรา โดยมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยน่าจะอยู่ในวงจำกัด คือ กระทบ GDP ราว 0.07% เนื่องจากการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศอังกฤษคิดเป็นสัดส่วนเพียงไม่ถึงร้อยละ 2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ส่วนในภาคการท่องเที่ยวน่าจะได้รับผลกระทบบ้าง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยน่าจะลดน้อยลง
ผลของการลงประชามติของสหราชอาณาจักรที่ต้องการออกจากการเป็นสมาชิกของอียูนี้ ยังส่งผลโดยตรงต่อค่าเงินของปอนด์สเตอร์ลิง ทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 31 ปี โดยมีการคาดการณ์กันว่า ในสิ้นปีนี้เงินปอนด์จะอยู่ที่ 1.2 ปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ผลของ Brexit นี้ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น คาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นเพราะมีเงินทุนจากนอกไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง คาดผลกระทบนี้จะยาวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า มีการคาดการณ์ว่าในไตรมาสแรกของปีหน้า ค่าเงินบาทจะแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 35.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และในไตรมาสที่สองจะแข็งค่าขึ้นอีกเป็น 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
การไหลเข้าของเงินทุนเป็นสาเหตุมาจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางทั้งอังกฤษและยุโรปต่างก็ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน โดยคงดอกเบี้ยระดับต่ำไว้ที่ 0% ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ทำให้ต่างชาติเลือกนำเงินมาลงทุนในประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดเองก็ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างที่คาดการณ์ไว้ ต้องรอดูช่วงปลายปีคือเดือนธันวาคม 2559 นี้อีกครั้ง ซึ่งการไม่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ ผลก็ของเงินทุนก็ยังคงไหลไปยังประเทศเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่า
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจของ TMB ได้สรุปผลกระทบของ Brexit ที่มีต่อประเทศไทยมากที่สุดมีสองเรื่อง คือ เรื่องการค้าและเรื่องความผันผวนของตลาดเงิน
ในส่วนของค่าเงินบาทคาดว่าจะมีความผันผวนมากยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 คาดว่าค่าเงินบาทน่าจะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 34-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การแข็งขึ้นหรืออ่อนตัวของค่าเงินบาทยังขึ้นอยู่กับปัจจัยที่อังกฤษจะตกลงกับอียูในเรื่องการค้าการลงทุนในช่วง 1 ปีข้างหน้า หากการตกลงเป็นไปด้วยดี ผลกระทบน่าจะมีไม่มากนัก แต่หากตกลงกันไม่ได้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นอีกครั้ง เงินทุนก็จะมีการไหลออกไปถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่าอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงไปถึงระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ได้เช่นกัน ทางศูนย์วิเคราะห์ของ TMB ยังได้เตือนผู้นำเข้าและส่งออกด้วยว่า ในช่วงที่ค่าเงินบาทอาจมีความผันผวนได้สูงจากความไม่แน่นอนนี้ ควรมีการทำประกันความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไว้ด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็ออกมารายงานเช่นกันว่า ตลาดเงินของไทยน่าจะมีความผันผวนจากเหตุการณ์นี้ไปอีกสักระยะ กรอบค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เหตุการณ์ Brexit นี้ ทำให้ตัวแปรในการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศในช่วงครึ่งปีหลังมีมากขึ้นไปอีก ทั้งเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพทางการเงินอีก
ในแง่คนไทยที่ต้องการเดินทางไปเที่ยวประเทศอังกฤษในช่วงนี้ก็ต้องถือว่าดี เพราะค่าเงินปอนด์ถูกลงเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต์ก็ประมาณ 10% ส่งผลให้หากคนไทยไปเที่ยวที่อังกฤษก็จะมีต้นทุนที่ถูกลง ตรงกันข้ามกับนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ก็อาจมีโอกาสหดตัวลงด้วยได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากความไม่แน่นอนทำให้นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษอาจชะลอการท่องเที่ยวลงในทุกประเทศ รวมถึงมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายกันมากขึ้นด้วย
ผลของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ทำให้มีผลกับการส่งออกสินค้าโดยตรง คือ สินค้าไทยจะแพงขึ้นในสายตาของชาวอังกฤษและอียูด้วย โดยหมวดสินค้าที่จะได้รับผลกระทบก็มี อาหาร ยานยนต์ เครื่องใช้ในครัวเรือนและอุปกรณ์ไฟฟ้า ผลกระทบกับประเทศไทยจะเป็นในส่วนของอียูมากกว่า และจะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการเจรจากันของทั้งอังกฤษและอียู ถ้าเจรจาตกลงกันได้ ผลกระทบก็จะไม่รุนแรงนัก
ประธานเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา นายตรรกะ บุนนาค ก็ได้ออกมากล่าวถึงแนวโน้มของค่าเงินบาทว่าจะยังคงมีความผันผวนอยู่ คาดในช่วงครึ่งหลังของปีเงินทุนยังคงไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้น โดยค่าเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.50 -36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากการลงมติของอังกฤษในครั้งนี้น่าจะทำให้ธนาคารกลางของสหรัฐหรือเฟดคงยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ หรือหากต้องการปรับขึ้นจริงก็คงไม่เกิน 1 ครั้ง ในช่วงปลายปี นอกจากนั้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 นี้ ก็จะมีผลต่อการไหลของเงินทุนด้วย ความผันผวนและไม่แน่นอนเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ นักลงทุนหรือนักธุรกิจควรลงทุนเพื่อปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ด้วย
อ้างอิง