เงิน เป็นสิ่งสำคัญมากในชีวิตของคนเรา เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่แปลกที่ไม่มีวิชา “เงิน” สอนให้แก่เด็กๆในโรงเรียน จะมีก็แต่วิชาการเงินขั้นสูงที่สอนกันในระดับมหาวิทยาลัย เงินทองที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านนั้นไม่ค่อยมีสอน ทำให้คนส่วนใหญ่ละเลยและไม่ตระหนักในเรื่องศาสตร์และศิลป์ของการหาเงินและใช้เงิน ใครๆต่างก็อยากจะเป็นเศรษฐีมีเงินล้าน ก็ได้แต่ทำงานได้เงินมา แล้วก็ใช้สอยออกไป สนุกสนาน ส่วนใหญ่ไม่มีแผนการว่าจะจัดการเงินอย่างไร การจะมีเงินล้านไม่ใช่จะได้มาง่ายๆ ต้องมีการจัดการและวางแผนให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้
ขั้นที่ 1 การหาเงิน
การหาเงินเป็นขั้นตอนแรกสุดที่เราจะมีเงิน วิธีหาเงินมีหลายวิธี และขึ้นอยู่กับความสามารถ ความรัก ความชอบในการหาเงินนั้น เช่น การค้าขาย การปลูกข้าวปลูกผัก การทำธุรกิจ การรับจ้าง การรับราชการ วิธีเหล่านี้ก็คือการประกอบอาชีพของเรานั่นเอง การหาเงินจะหาได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสามารถและความชำนาญของคนคนนั้นเอง ที่สำคัญต้องเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ไม่ได้คดโกงใครมา
ขั้นที่ 2 การใช้เงิน
เมื่อเราหาเงินมาได้แล้ว ก็ต้องนำเงินนั้นมาใช้ดูแลและดำรงชีวิต หลักการใช้จ่ายเบื้องต้นก็คือต้องใช้เงินอย่างรู้คุณค่า จ่ายในราคาที่เหมาะสม ใช้เท่าที่จำเป็น ไม่สุรุ่ยสุร่าย ฟุ้งเฟ้อ และอย่าใช้เกินกว่าที่จะหาได้ เพราะจะทำให้เป็นหนี้ เมื่อเป็นหนี้แล้ว โอกาสที่จะสร้างเงินล้านจะเป็นไปได้ยาก
ขั้นที่ 3 การใช้เงินไปหาเงินมาเพิ่ม
เงินที่เราหาได้จากการประกอบอาชีพการงาน ต้องไม่ใช้จ่ายจนหมด จะต้องกันไว้ส่วนหนึ่งสำหรับให้เงินส่วนนี้ไปทำงานหาเงินมาเพิ่ม การใช้เงินไปหาเงินมาเพิ่ม ก็คือนำเงินไปลงทุนให้เงินนั้นงอกเงยขึ้นมานั่นเอง ซึ่งมีหลายรูปแบบ หลายระดับความยากง่าย อย่างง่ายก็เช่น นำเงินไปฝากธนาคาร เพื่อให้เกิดดอกเบี้ย เป็นเงินที่งอกเงยขึ้นมา หรือนำเงินไปลงทุนตลาดหุ้น เพื่อรับปันผล การนำเงินไปต่อเงินในตลาดหุ้น มีความเสี่ยงอยู่มากพอสมควร ต้องมีความรู้และความชำนาญจึงจะเห็นผล
ขั้นที่ 4 การปกป้องเงิน
คือการป้องกันไม่ให้คนอื่นหรือสิ่งอื่นมาเอาเงินของเราไป สิ่งที่หมายตาจ้องจะเอาเงินเราได้แก่ ขโมย โรคภัย ดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินเฟ้อ ตัวการดังกล่าวเริ่มซับซ้อนและดูเหมือนจะไกลตัว โดยเฉพาะเงินเฟ้อ เงินเฟ้อเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ แต่เราไม่ตระหนักถึงมันต่างหาก เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงของมันเกิดขึ้นช้าๆ ตัวอย่างเงินเฟ้อ เช่น เมื่อก่อนไข่ไก่ฟองละ 1 บาท แต่ปัจจุบันฟองละ 5 บาท ทั้งที่ไข่ก็มีขนาดเท่าเดิม รสชาติก็เหมือนเดิม แต่เราต้องใช้เงินมากขึ้นในการแลกกับไข่ฟองเดิม สรุปใจความสั้นๆก็คือ ภาวะเงินเฟ้อ เป็นเรื่องธรรมชาติที่เงินจะเล็กลงเรื่อยๆ คือด้วยจำนวนเงินเท่าเดิมในวันนี้ จะด้อยค่าลงเรื่อยๆ เงิน 40 บาทของเราในวันนี้ซื้อข้าวกระเพราะไข่ดาวได้ 1 จาน แต่อีก 20 ปี เงิน 40 บาทจะซื้อได้เพียงข้าวเปล่า 1 จาน การจะรับมือกับตัวการที่จะจ้องเอาเงินเรา ต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีการจัดการที่ดี
อ่านเพิ่มเติม : เงินเดือนเท่าไหร่ ถึงจะอยู่รอดในสังคมเงินเฟ้อ ?