คำว่า “หนี้” คำนี้คงไม่มีใครอยากมีแน่นอน แต่คนเรายังมีกิเลสและความอยากได้อยากมีกันทุกคน ยิ่งในสังคมปัจจุบันด้วยแล้ว กลายเป็นสังคมที่แข่งกันมีหนี้ ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต ฯลฯ ของที่เราอยากซื้ออยากใช้ก็มีล่อตาล่อใจมากมาย ซึ่งการจะซื้อหาอะไรโดยเราไม่มีทุนมากมาย ก็ต้องอาศัยบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด ยิ่งเดี๋ยวนี้แต่ละคนต้องมีบัตรเครดิตอย่างน้อยสองใบขึ้นไป ซึ่งก็อย่างว่า ตอนรูดบัตรน่ะง่าย สนุก ไม่ต้องจ่ายเงินสด แต่ตอนจ่ายนี่ทุกข์ถนัดกันทุกคนจริงๆ ค่ะ แต่ทำไงได้ ในเมื่อเพื่อนๆ ต่างมี เราก็ต้องมีเหมือนกัน นี่คือสังคมเราทุกวันนี้ กลายเป็นมีหนี้ หรือ “มีเครดิต” กันถ้วนหน้าเกือบทุกบ้าน
ก่อนเราคิดจะเป็นหนี้ ขอให้เราได้ใช้สติคิดสักนิดว่า รายได้เราเท่าไร กำลังเราพอจ่ายไหม รายรับกับรายจ่ายเป็นยังไง แต่ละเดือนให้คิดคำนวณอย่างละเอียดไว้ว่า เรามีรายได้เดือนละเท่าไร ถ้าเราเป็นหนี้ ต้องผ่อนจ่ายเดือนละเท่าไรถึงจะมีเงินเหลือพอใช้จ่าย ไม่งั้นไม่มีเงินจ่าย อาจเสียเครดิตโดยไม่รู้ตัว
ถ้าจะว่าถึงเรื่องประสบการณ์เป็นหนี้ของผู้เขียน กรณีการซื้อรถ
ก่อนออกรถ ดิฉันและสามีก็ต้องคิดก่อนว่า รถคันนี้จำเป็นต้องซื้อไหม จะเอามาใช้ประโยชน์ในงานอะไรบ้าง เมื่อออกรถมาแล้ว เราจะสามารถนำรถคันนี้มาหารายได้เพิ่มได้หรือเปล่า และได้ศึกษาก่อนว่า ค่ารถราคาเท่าไร จะต้องผ่อนจ่ายเดือนละเท่าไร แล้วลองเก็บเงินเท่ากับค่างวดแต่ละเดือนดูว่าตัวเองส่งไหวไหมก่อน เป็นเวลาอย่างน้อยหกเดือน ก่อนจะตัดสินใจซื้อ ถ้าจะถามว่า ทำไมถึงทำอย่างนี้เหรอคะ คำตอบก็คือ ในเมื่อรถราคาเป็นหลักแสน แค่เงินดาวน์ก็ต้องเสียเป็นแสนแล้ว ถ้าเราออกรถแบบส่งๆ เหมือนคนอื่น ตามคนอื่นเขา เราก็จะแย่ ยิ่งถ้าเราไม่ได้คิดถึงเรื่องการนำมาใช้ประโยชน์ที่แท้จริงแล้ว แค่ออกรถเพื่อให้เท่ เราก็จะลำบากทีหลัง เพราะรถยนต์น่ะ ราคาหลักหลายแสน ไม่ใช่เงินน้อยๆ เงินที่ผ่อนแต่ละเดือนก็ไม่น้อย ถ้าไม่คิดให้รอบคอบจะทำให้เราลำบากในระยะยาว
นี่คือหลักการเป็นหนี้ง่ายๆ ที่ใครก็ลองทำได้ ลองเก็บเงินเท่ากับค่างวดที่ต้องจ่ายเพื่อส่งหนี้ก่อนเป็นหนี้จริง พอครบหกเดือนโดยที่เงินเราส่งเข้าธนาคารไม่สะดุดหรือทำให้เราช็อต จึงจะเริ่มการออกรถได้ ส่วนเงินหกเดือนที่เราเก็บมาก่อนหน้านี้ก็ปล่อยไว้แบบนั้น เผื่อเหตุฉุกเฉินจริงๆ ในกรณีที่เราช็อต หาเงินค่างวดไม่ทันในเดือนใดเดือนหนึ่ง เราก็สามารถดึงเงินกองนี้มาช่วยได้ แต่ถ้าเราเริ่มหมุนทันก็ให้เอามาเติมไว้อย่างเดิม คือเงินส่วนนี้ให้เราทำลืมไปเลยว่ามีอยู่ ถ้าไม่คับขันจริงๆ ก็อย่าไปยุ่งกับเขา ให้ระลึกไว้เสมอว่า “หนี้” นี้เรามีได้ เเต่เราต้องเป็นหนี้อย่างมีสติกำกับเสมอ
อีกกรณีตัวอย่าง ได้แก่ กรณีเป็นหนี้บัตรเครดิต
การจับจ่ายซื้อของโดยใช้บัตรเครดิตเป็นการซื้อความสะดวกสบายที่ไม่ต้องพกเงินสดติดตัว ทำให้บัตรเครดิตเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งชาวเราที่มีบัตรเครดิตทั้งหลายควรจำไว้เสมอว่า อย่าใช้บัตรเครดิตเกินจำนวนเงินที่จะสามารถจ่ายได้ในแต่ละเดือน เพราะทุกคนต่างรู้กันดีว่า ถ้าจ่ายหนี้บัตรเครดิตแต่ละเดือนจนครบจำนวนภายในระยะเวลาสูงสุด 50 วัน นับจากวันบันทึกรายการ จะไม่มีดอกเบี้ย แต่ถ้าจ่ายไม่ครบ หรือจ่ายแค่ขั้นต่ำอย่างที่หลายๆ คนนิยมทำกัน จะเสียดอกเบี้ยถึงร้อยละ 20 (บัตรเครดิตกรุงศรีอยุธยา ก.ค. 59) หรือถ้าหากก่อนถึงกำหนดชำระเงิน เรารู้ล่วงหน้าว่า เราไม่สามารถชำระหมดได้ ในหลายธนาคาร เรายังสามารถแจ้งขอผ่อนชำระได้หลายงวด โดยเสียดอกเบี้ยต่ำ ประมาณ 0.94% ต่อเดือน สำหรับยอดค่าใช้จ่ายสูงๆ อีกด้วย (บัตรเครดิตกรุงศรีอยุธยา ก.ค. 59)
อ่านเพิ่มเติม : บัตรเครดิตไหนบ้างที่มีโปรโมชั่น ผ่อน 0% 3 เดือน
ในกรณีการใช้บัตรเครดิตนี้ ถ้าคิดให้ดีแล้ว เราสามารถใช้ประโยชน์จากการมีบัตรเครดิตในการลดค่าใช้จ่ายของฟุ่มเฟือยจุกจิกเกินจำเป็นได้ โดยวางแผนการใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้ดี โดยเขียนรายการของแห้งและข้าวของที่ต้องใช้ในแต่ละเดือน ไปซื้อตามรายการโดยใช้บัตรเครดิตในครั้งเดียว จะใช้เงินสดซื้อเฉพาะข้าว หรือของกินประจำวันที่ใช้บัตรเครดิตรูดไม่ได้เท่านั้น และไม่ไปเที่ยวเดินซื้อของบ่อยๆ เราจะได้ทั้งคะแนนบัตรเครดิตสำหรับแลกส่วนลด หรือข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้คะแนนแลกมา แล้วยังประหยัดเงินที่จะซื้อของสิ้นเปลืองที่ล่อตาล่อใจตามร้านค้าไปได้อีกเยอะทีเดียว
เห็นไหมคะ ถ้าจะเป็นหนี้ ก็ให้รู้จักเป็นหนี้อย่างฉลาด จะไม่เกิดปัญหาทีหลังค่ะ