เดือนกรกฎาคมตลาดหุ้นกลับมาคึกคักอีกครึ่งหลังจากดัชนีวิ่งอยู่ในกรอบ Sideways อยู่นานหลายเดือนตั้งแต่ต้นปี ดัชนีที่ทะยานสูงขึ้นและโวลลุ่มตลาดที่เพิ่มมากขึ้นเกือบเท่าตัวส่งผลทำให้กระแสนักลงทุนที่ฝันอยากเป็นเทรดเดอร์อิสระ อยากลาออกจากงานประจำมาเทรดหุ้นเป็นอาชีพ อยากมีพอร์ตหุ้นร้อยล้านได้ผุดขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่บางส่วน ไม่อยากเป็นลูกจ้างนั่งกินเงินเดือนตามออฟฟิศซึ่งยิ่งวันยิ่งมีคนคิดแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่หนทางการมุ่งสู่เซียนหุ้นร้อยล้านนั้นไม่ได้ได้มาโดยง่าย
จากการที่สิบกว่าปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสคลุกคลีกับนักลงทุนขาใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์มามากมาย ทั้งพอร์ตหลักสิบ หลักร้อยไปจนถึงหลักพันล้านรวมถึงมีโอกาสได้พูดคุยกับท่านทั้งหลายเหล่านี้ทำให้พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้มักมีหลักคิดในการลงทุนหลักๆประมาณ 4 ข้อซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตการลงทุนจริงได้ดังนี้
1. มืออาชีพมักจะไม่ใช้เครื่องมือเยอะ
คำว่าเยอะในที่นี้ผู้เขียนหมายถึงเยอะชนิดมากเกินไปโดยศาสตร์ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์นั้นสามารถแบ่งหลักๆ 3 อย่าง(ตามแบบฉบับของต่างประเทศ)คือ
- การวิเคราะห์ทางด้านปัจจัยพื้นฐาน
- การวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค
- การวิเคราะห์ทางด้านสภาพจิตใจของนักลงทุน
โดยคำว่าเยอะในที่นี้หมายถึงเยอะชนิดมากเกินไปซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ทางด้านเทคนิค ซึ่งเป็นการเน้นหนักไปทางด้านการวิเคราะห์กราฟเพื่อหาจังหวะช่วงเวลาในการ ซื้อ-ขาย ซึ่งเครื่องมือที่สามารถนำมาให้เลือกใช้ในการวิเคราะห์กราฟทางเทคนิคนั้นมีมากกว่า 80 ชนิด โดยส่วนใหญ่นักวิเคราะห์หรือนักลงทุนสถาบันจะเลือกใช้เครื่องมือทางกราฟเทคนิคในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดในการลงทุน แต่มักพบว่านักลงทุนรายย่อยมักจะใช้เครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์มากจนเกินไปจนอาจเกิดผลเสียขัดแย้งกันเอง หรือสัญญาณหลอกได้บ่อยครั้ง ซึ่งนักลงทุนรายใหญ่ในชีวิตจริงเค้าจะดูเครื่องมือที่ดีเพียงไม่กี่ชริด แต่จะเน้นนำเครื่องมือต่างๆไปประยุกใช้กับสถานการณ์จริงบวกกับประสบการณ์ที่โชกโชนมากกว่า
2. ฟังหูไว้หู อย่าเชื่อข่าวลือ
ข่าวคือสิ่งที่มีผลกระทบต่อราคาขึ้นลงของหุ้นเพราะข่าวไม่ว่าจะเป็นข่าวร้ายหรือข่าวดี มันจะส่งผลต่อความคิดของนักลงทุน ส่งผลต่อความกลัว ความกล้า ความอยากได้อยากมี ซึ่งถามว่าข่าวสารในชีวิตประจำวันเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน? แล้วยิ่งข่าวสารในตลาดหุ้นเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน? โดยเฉพาะโลกยุคปัจจุบันการสร้างข่าวเท็จ หรือการปล่อยข่าวเท็จสามารถทำได้ง่ายมาก เนื่องจากมีสื่อต่างๆให้เลือกใช้ได้โดยง่ายเช่น กลุ่มไลน์ เฟสบุ๊ค เวปบอร์ดต่างๆ หรือแม้กระทั่งการบอกต่อๆกันก็ยังใช้ได้อยู่จนถึงปัจจุบันเพราะฉะนั้นเราในฐานะนักลงทุน เราต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูงในการเสพสื่อและข่าวสารทางการเงินรอบๆตัว อย่าเชื่อข่าวง่ายเกินไปจนเกิดผลเสียต่อการลงทุนได้โดยง่าย จำไว้ได้เลยว่า ข่าวที่บอกต่อๆกันมาโดยเฉพาะเรื่องหุ้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องไม่จริงครับ เพราะเรื่องจริงมักมาไม่ถึงเราหรอก เพราะฉะนั้นเมื่อได้รับข่าวสารเกี่ยวกับหุ้นมาขอจงตั้งสติ นั่งพิจารณาไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนค่อยตัดสินใจซื้อ-ขายหุ้นตัวนั้นๆครับ
3. ตลาดหุ้นนั้นไม่เหมาะกับนักลงทุนที่(จิตใจ)อ่อนแอ
ผู้คนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่เคยได้ยินแต่มีคนพูดว่าตลาดหุ้นไม่เหมาะกับนักลงทุนที่ฐานะทางการเงินอ่อนแอ ซึ่งความเป็นจริงแล้วสมัยนี้ถึงแม้ฐานะทางการเงินอ่อนแอ แต่วิธีการลงทุนของนักลงทุนชาญฉลาดถึงแม้เงินไม่มาก ก็สามารถลงทุนในตลาดหุ้นได้อย่างสบาย อาจใช้การกู้ยืมเงินจากบริษัทหลักทรัพย์(บัญชีมาร์จิ้น) หรือใช้ตราสารอนุพันธ์ซึ่งไม่ต้องมีเงินมากมายนักก็สามารถลงทุนได้ แต่สิ่งที่ยังคงถูกต้องเสมอมาคือ ตลาดหุ้นนั้นไม่เหมาะกับนักลงทุนที่(จิตใจ)อ่อนแอ เพราะการจะเทรดหุ้นให้ประสบความสำเร็จนั้นหนึ่งในหลักที่สำคัญที่สุดคือนักลงทุนต้องมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง เพราะตลาดหุ้นเป็นอะไรที่เปราะบางมาก แค่เพียงมีปัจจัยต่างๆมากระทบนิดหน่อยก็สามารถขึ้นเยอะหรือลดลงแบบหนักๆได้ง่าย ซึ่งวันๆหนึ่งทั่วโลกล้วนเกิดเหตุการณ์ต่างๆมากมายที่เป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น หรือแม้กระทั่งในตลาดหุ้นบ้านเราเอง สิ่งที่นักลงทุนต้องทำคือ ต้องมีจิตใจที่แน่วแน่ ไม่เปลี่ยนไปตามสภาวะตลาดที่แสนแปรปรวน มีจุดยืนในการลงทุนและมีเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงต้องมีแผนสำรองในการลงทุนว่าถ้าตลาดหุ้น หรือหุ้นตัวนั้นๆที่เราซื้อไม่เป็นไปตามที่เราหวัง เราต้องมีแผนสำรองเช่น มีการตั้งแนว Stop Loss หรือจะ Cut Loss หุ้นตัวนั้นๆทิ้งไปไหม ถ้าเกิดราคาเกิดลงหนักเป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม : Mental Analysis ที่สุดของการเทรดหุ้นคือการควบคุมสภาวะจิตใจ
4. Action เร็วกว่าย่อมได้เปรียบ
เรื่องของ Action นั้นก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการ Take action หรือการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เฉียบขาดโดยเฉพาะในยามฉุกเฉินเช่นมีข่าวเชิงลบมากระทบราคาหุ้นตัวนั้นๆ ทำให้ราคาดิ่งเหว แต่ความเป็นจริงแล้วถ้าเราเตรียมการเรื่องการตั้ง Stop loss ไว้ล่วงหน้าและเมื่อถึงแนวที่ตั้งไว้เราตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวไม่ลงเล ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นก็อาจไม่หนักมากมาย หรือการตัดสินใจซื้อหุ้นดี ในเวลาที่ราคามันลงมาถูกๆ อย่างเช่นหุ้นกลุ่มพลังงาน หรือกลุ่มธนาคารก่อนหน้านี้ ซึ่งการตัดสินใจที่รวดเร็ว และเฉียบขาดก็จะช่วยให้การลงทุนในตลาดหุ้นเรามีประสิทธิภาพในการทำกำไรมากขึ้นครับ
ผู้เขียน:
อาจารย์ ธัญญพัฒน์ ธัญญศิริ
Facebook Fan page: @AjBraveTanjasiri