ชั่วโมงนี้หากใครไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อของโค้ชจักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ เจ้าของฉายา Money Coach คงจะถือว่าเชยไม่น้อย เนื่องจากโค้ชถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารเงิน เคยเป็นหนี้เมื่อสิบกว่าปีก่อน สามารถดิ้นรนจนจัดการกับหนี้สินได้สำเร็จ และหาความรู้ทางการเงินจนประสบความสำเร็จถึงขั้นมีอิสรภาพทางการเงินแล้วในทุกวันนี้ โค้ชจักรพงษ์ไม่ได้ทำงานประจำ แต่มีพอร์ตการลงทุนจำนวนมาก ที่สามารถสร้างรายได้เพียงพอให้อยู่ได้อย่างสบาย แต่เนื่องจากโค้ชเคยตั้งปณิธานในช่วงที่เป็นหนี้ชีวิตแสนลำบากเอาไว้ว่า หากปลดหนี้ได้เมื่อไหร่จะขออุทิศตนให้ความรู้ทางการเงินแก่คนไทยให้มากที่สุด และทุกวันนี้โค้ชก็กำลังทำในสิ่งที่เขาได้เคยตั้งปณิธานเอาไว้
โค้ชจักรพงษ์จบการศึกษาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริหารบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และยังได้ผ่านหลักสูตรการอบรมในเรื่องการเงิน ทั้งเรื่องวางแผนการเงิน วางแผนลงทุน และวางแผนเกษียณ ปัจจุบันงานหลักคือเป็นโค้ชทางการเงิน เป็นนักเขียนนักแปลหนังสือที่เกี่ยวกับการเงินการลงทุน เล่มที่มีชื่อเสียง ก็คือเป็นผู้แปลหนังสือ พ่อรวยสอนลูกและเงินสี่ด้าน ของ โรเบิร์ต คิโยซากิ ที่โด่งดังไปทั่วโลก ส่วนหนังสือที่เขียนเป็นของตัวเอง ก็มี Money Fitness เพิ่มพลังแกร่งให้การเงิน และ วางแผนการเงินให้รวยด้วยตัวเอง
อ่านเพิ่มเติม : รู้รอบเรื่องบริหารเงินกับ โค้ชการเงิน จักรพงษ์ เมษพันธุ์
แนวคิดเรื่องบริหารเงินหลัก ๆ ของโค้ชจักรพงษ์ ก็คือ ทำอย่างไร จึงจะใช้ช่วงเวลาทำงานที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่สามารถหาเงินให้เพียงพอที่จะใช้จ่ายไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตได้ด้วย
เพราะคนเราหลังวัยเกษียณไปแล้ว โอกาสในการทำงานเหมือนวัยหนุ่มสาวก็ลดลงแน่นอน หากนับเริ่มว่าเราสามารถทำงานหาเงินได้ตั้งแต่อายุ 20 ปี เราจะมีช่วงเวลาในการทำงานหาเงินจนถึงเกษียณตอนอายุ 60 ปี เป็นเวลาทั้งหมด 40 ปี สมมติว่าอายุขัยของเราคิดแบบเผื่อ ๆ ว่าเป็น 80 ปี การทำงาน 40 ปี ของเรานั้นจะต้องหาเลี้ยงชีวิตตลอดช่วง 60 ปี ของเราได้ ช่วงเกษียณอีก 20 ปี เราก็ควรอยู่ได้อย่างสบาย โค้ชให้หลักคิดง่าย ๆ ว่า หากอยากสบายมีเงินใช้ยามเกษียณ รายได้จากการทำงาน 1 เดือน ต้องอยู่ใช้ได้พอสำหรับเดือนครึ่ง
โค้ชจักรพงษ์บอกกับผู้เข้าฟังสัมมนาของเขาเสมอว่า อิสรภาพทางการเงินจะเกิดขึ้น ต้องอาศัย 3 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ หนึ่งต้องวางเป้าหมายการเงินที่ชัดเจน สองต้องวางแผนใช้กลยุทธ์เพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้นได้ และข้อสามข้อสุดท้าย เมื่อมีเป้าหมายและแผนการแล้ว ต้องเริ่มลงมีปฏิบัติตามและต้องทำให้ได้ตามแผนอย่างมีวินัย
- วางเป้าหมายทางการเงิน
เป้าหมายการเงินในชีวิตระยะสั้นหรือในช่วงเริ่มต้น เอาแค่บริหารค่าใช้จ่ายให้มีเงินเหลือเก็บก่อน นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด โค้ชได้บอกถึงอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนเราไม่มีเงินเหลือเก็บ ก็คือ การเริ่มก่อหนี้ตั้งแต่ยังไม่ทันไร การมีทรัพย์สินทำให้เรามีรายได้เพิ่ม ในขณะที่การมีหนี้สินทำให้เรามีรายจ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากหนี้สินจะทำให้เราเกิดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในแต่ละเดือน และต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งไปเพื่อผ่อนชำระคืนหนี้ด้วย โค้ชจะเตือนสติอยู่เสมอว่าจะซื้ออะไรก็ตามต้องคิดให้ดีก่อนซื้อว่า ของชิ้นนั้นที่เราซื้อมาเป็นทรัพย์สินที่สามารถสร้างรายได้ หรือเป็นหนี้สินที่จะก่อให้เกิดรายจ่ายในอนาคตกับเรา
- ปกป้องความเสี่ยง
การปกป้องความเสี่ยงก็เป็นหนึ่งในการวางแผนการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิต สุขภาพและทรัพย์สิน ที่เราสามารถเลือกซื้อประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ได้ วงเงินที่เราควรทำประกัน โค้ชให้แนวทางไว้ว่าเราต้องดูภาระของเราในปัจจุบันรวมกับสิ่งที่เราต้องการทิ้งไว้ให้กับคนข้างหลัง นี่เป็นความจำเป็นของการประกันที่เราต้องการ หลังจากนั้นก็ให้เรานำทรัพย์สินของเราที่มีอยู่มาหักลบออกไป เหลือเท่าไหร่ ก็จะเป็นจำนวนเงินทุนประกันที่เราควรทำประกันไว้ ในกรณีที่หากเราเป็นอะไรขึ้นมา ครอบครัวและคนข้างหลังก็ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แบบไม่ลำบาก
- การวางแผนเพื่อเกษียณ แนวคิดของโค้ช คือ ต้องเกษียณให้รวยและให้เร็ว
การเกษียณให้รวย เริ่มจากคิดจำนวนเงินก้อนที่เราต้องการเพื่อให้สามารถใช้จ่ายเพียงพอในยามเกษียณได้ คิดจากสูตร 60% ของค่าใช้จ่ายต่อปีในปัจจุบัน X จำนวนปีที่คิดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังจากเกษียณ แล้วนำเงินออมหรือเงินลงทุนที่เราวางแผนสำหรับเกษียณไว้มาหักลบออก หากไม่พอเท่ากับเราต้องออมเงินเพื่อเกษียณเพิ่ม รูปแบบการออมที่จะสามารถทำเพื่อใช้ในช่วงเกษียณได้ก็มี
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
- กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
- ประกันชีวิตแบบบำนาญหรืออมทรัพย์
การเกษียณให้เร็ว เป็นแนวคิดของการสร้างรายได้ที่เป็น passive income รายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการที่เราทำงาน แต่เป็นรายได้ที่เกิดจากทรัพย์สินของเรา เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล เป็นต้น โดยหากเมื่อไหร่ก็ตามที่รายได้ที่เป็น passive income นี้เกินกว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของเรา เราก็สามารถเกษียณได้ทันทีไม่ต้องรอจนถึงอายุ 60 ปี เช่น หากคิดว่ามีเงินเดือนละ 30,000 บาท ก็เพียงพอใช้จ่าย สามารถเกษียณได้ เมื่อมาดูรายได้ต่อเดือน มีกำไรจากธุรกิจ 15,000 บาท ค่าเช่าบ้าน 10,000 บาท กำไรจากการเปิดอบรมสัมมนา 15,000 บาท รวมเป็น 40,000 บาท แบบนี้ก็ถือว่าเกษียณได้ทันที เป็นต้น
ตัวอย่างแผนเกษียณ
ทีนี้เราก็ต้องมาดูแผนของเราเพื่อให้ได้ค่าเช่าบ้านเดือนละ 10,000 บาท เราอาจจะต้องเริ่มลงทุนตั้งแต่ตอนนี้
- โดยทางเลือกหนึ่ง ก็คือ ซื้อคอนโดทำเลดี ราคาประมาณ 3 ล้านบาท จำนวน 1-2 ห้อง รายได้ค่าเช่าต่อเดือนประมาณ 5,000-7,000 บาท
- หรือหากเราต้องการรายได้ที่เป็นดอกเบี้ยหรือเงินปันผล 10,000 บาทต่อเดือน เราก็ต้องวางแผนอาจเป็นการเริ่มลงทุนในกองทุนหุ้น เดือนละ 10,000 บาท แบ่งกระจายในหลายกองทุนก็ได้ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพื่อประโยชน์ทางภาษี เมื่อครบ 10 ปี รวมกับผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 10% ก็จะมีเงินประมาณ 2 ล้านบาท
- เมื่อเกษียณก็นำเงิน 2 ล้านบาทนี้ไปลงทุนซื้อตราสารหนี้ ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 5% ต่อปี ดอกเบี้ยต่อปีที่เราได้ก็ประมาณ 100,000 บาท หรือตกเดือนละ 8,333.33 บาท
นี่แหละคือตัวอย่างของการกำหนดเป้าหมาย วางแผนใช้กลยุทธ์และปฏิบัติแบบวินัยเพื่อให้ทำสำเร็จได้ตามเป้าหมาย โค้ชจักรพงษ์เป็นผู้ที่ถือว่าผ่านประสบการณ์ในการเป็นหนี้มาก่อน และสามารถหาความรู้และเริ่มวางแผนการเงินของตัวเองจนสามารถประสบความสำเร็จได้จริง และได้นำประสบการณ์ตรงมาแบ่งปันให้กับคนรุ่นใหม่ หรือแม้แต่ผู้ที่สนใจสามารถหาความรู้ได้ จากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่โค้ชเขียน คอร์สสัมมนาที่โค้ชจัด หรือตามดูในคลิปหรือบทความทางหน้าเฟซบุ้คของโค้ชก็ได้