ย้อนนับไปตั้งแต่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มที่ประเทศอังกฤษเป็นที่แรกและก็มีการขยายตัวต่อเนื่องไปทั่วยุโรปและไปเติบโตอย่างมากที่ประเทศสหรัฐอเมริกา การปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งนั้นส่งผลให้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเกิดขึ้นมากมาย เป็นบริษัทที่เน้นการผลิตสินค้าในจำนวนที่มากตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งทฤษฎีความเชื่อเรื่องของการผลิตจำนวนมากเพื่อให้ได้ต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลง การเกิดขึ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ในหลากหลายวงการอุตสาหกรรมทำให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมากด้วย ยกตัวอย่าง ในปี 1973 บริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา 25 บริษัท มีการจ้างแรงงานรวมกันสูงถึง 10% ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ General Motors ที่มีพนักงานมากอยู่แล้วถึง 5 แสนคน ในปี 1950 กลับมีพนักงานเพิ่มมากขึ้นไปอีกเป็น 8 แสนคน ในปี 1973 นี้
ไม่เพียงแต่ตำแหน่งงานเท่านั้นที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล แต่ลักษณะของงานที่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นนำเสนอให้ เป็นรูปแบบของงานที่มีความมั่นคง มีโอกาสได้เงินเดือนสูงขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับตำแหน่งงานที่สูงขึ้นด้วย นอกจากเป็นงานที่มีรายได้ที่มั่นคงแล้ว งานเหล่านี้ยังให้สวัสดิการให้เรื่องอื่น ๆ เช่น การรักษาพยาบาล เงินเกษียณ เป็นต้น เด็ก ๆ ทุกคนต่างมุ่งเข็มเรียนบริหารธุรกิจเพราะทราบดีว่าจบออกมาจะต้องมีงานที่มากมายและมั่นคงรออยู่ บริษัทในฝันของเด็กเหล่านั้นก็เป็นบริษัทขนาดใหญ่มีสวัสดิการดี มีเงินเดือนสูง มีโอกาสก้าวหน้าในการทำงานและมีความมั่นคง
แต่จากข่าวคราวการล้มละลาย การเลิกกิจการหรือการล้มหายตายจากไปของบริษัทที่เคยเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Mitsubishi Motors, General Motors, Eastman Kodak, American Airlines, Chrysler และอีกหลายบริษัทที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงบางบริษัทที่แม้ยังอยู่แต่ก็ต้องมีการปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่ นี่เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจที่เคยยิ่งใหญ่ในยุคของอุตสาหกรรมกลับไม่ได้เป็นธุรกิจที่เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของโลกในยุคปัจจุบันอีกต่อไป เหตุผลที่สำคัญที่สุดในการอธิบายเรื่องนี้ ก็คือ เรื่องของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของอินเทอร์เน็ตที่มีส่วนอย่างมากในการทำให้ภาพรวมของการทำธุรกิจทุกแขนงต้องเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีด้านข้อมูลและข่าวสารที่เชื่อมโยงโลกทั้งใบเข้าไว้ด้วยกัน เป็นตัวช่วยกำจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่เคยมีในธุรกิจอุตสาหกรรมให้หายไปจนแทบจะหมดสิ้น
บริษัทแรก ๆ ที่มีการปรับตัวในเรื่องนี้ ก็คือ ไนกี้ ที่ขั้นตอนการผลิตทั้งหมดไม่ได้ทำเอง แต่เป็นการจ้างซัพพลายเออร์เป็นผู้ผลิตทั้งหมด ส่วนพนักงานของไนกี้เองที่มีกว่า 5 หมื่นคน ก็ทำหน้าที่ในเรื่องอื่นที่จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น การตลาด การออกแบบและการบริหารตราและสัญลักษณ์ของสินค้า เป็นต้น ถือเป็นการโอนงานในส่วนที่สามารถทำได้ง่ายและมีต้นทุนถูกให้กับคนอื่นเป็นคนทำ ในขณะที่งานที่มูลค่าสูงก็จะทำเองต่อมามีหลายธุรกิจที่ทำตามแบบอย่างของไนกี้ ทั้งอุตสาหกรรมยาที่กว่า 40% ของยาสามัญที่ขายในอเมริกาเป็นยาที่ผลิตในประเทศอินเดีย ระบบปฏิบัติการทางด้านไอทีก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันธุรกิจสามารถดำเนินการผ่าน cloud service ได้โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนในด้านไอทีที่หากต้องลงทุนเองก็ถือว่าต้องใช้เงินทุนสูงอยู่ไม่ใช่น้อย สิ่งเหล่านี้ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าที่ผลิตได้ ก็ไม่ได้มีความได้เปรียบอีกต่อไป
อ่านเพิ่มเติม : Just Do it วิถี ความสำเร็จ แบรนด์ยอดนิยม Nike ตอนที่ 1
โมเดลธุรกิจใหม่นี้ทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจแบบดั้งเดิมต้องมีการปรับตัว หากมีธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นและสามารถบริหารต้นทุนให้ถูกกว่าและขายได้มากกว่าก็จะมาแทนที่บริษัทดั้งเดิมเหล่านี้ในที่สุด หากไม่สามารถบริหารรายได้ให้มากกว่ารายจ่ายและมีกำไรได้ หรือไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจใหม่ ๆ ได้ บริษัทดั้งเดิมเหล่านี้แม้จะเคยใหญ่แค่ไหนมาต่างก็ต้องปิดตัวลงไปกันทั้งนั้น กระแสที่เกิดขึ้นกับธุรกิจนี้มีผลใหญ่หลวงกับการจ้างงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยต่อไปเราน่าจะเห็นตำแหน่งงานที่มีรายได้มั่นคง มีโอกาสเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น มีสวัสดิการรักษาพยาบาลหรือเงินเกษียณ น่าจะลดน้อยลงไปด้วย งานที่เปิดรับต่อไปจะมีลักษณะเป็นงานที่เป็นการจ้างแบบชั่วคราวหรือเป็นซับคอนแทรกต์มากขึ้น ค่าตอบแทนก็จะเป็นแบบแรงงานขั้นต่ำ ส่วนสวัสดิการก็ไม่ต้องพูดถึง
ธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่จะสามารถอยู่รอดได้จะต้องเป็นธุรกิจที่ทำตัวให้เล็ก ไม่มีการจ้างงานขนาดใหญ่คือเรียกว่าเป็นการกระจายการจ้างงานออกไป เรียกกันว่า platform หรือ sharing economy
ยกตัวอย่างเช่น Uber บริษัทให้บริการรถแท็กซี่ในอเมริกาที่มีพนักงานแค่ไม่กี่พันคน ในขณะที่มีเครือข่ายที่เป็นรถแท็กซี่ทั่วประเทศกว่าแสนคนหรือบริษัทที่ผลิตและขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชื่อ Vizio ก่อตั้งเมื่อปี 2002 มีพนักงานเพียงแค่ 400 คน แต่มียอดขายโทรทัศน์เท่ากับ Sony บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีพนักงานเป็นแสนคน เพียง Vizio มีบัตรเครดิตและอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำธุรกิจแข่งกับ Sony ในต้นทุนที่ต่ำกว่าได้ สำหรับอนาคตข้างหน้าจะไม่ใช่เฉพาะในอเมริกาหรือญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ธุรกิจในรูปแบบใหม่นี้จะขยายวงกว้างออกไปมากยิ่งขึ้น เพียงมีมือถือ ระบบไอทีและอินเทอร์เน็ต ก็สามารถรวบรวมผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกมาทำธุรกิจร่วมกันได้
ทีนี้มาถึงเรื่องของการศึกษาต้องเรียนอะไรถึงจะเป็นแรงงานที่ต้องการในอนาคตข้างหน้า สามารถมีงานรองรับได้
แน่นอนว่าการศึกษาในเรื่องของความรู้ความเข้าใจในเรื่องของอินเทอร์เน็ตถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นสาขาอาชีพใดก็ตามความรู้ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่ต้องทำให้ได้ การเลือกเรียนในสายวิชาชีพเฉพาะทางอาจไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีนักในอนาคต เนื่องจากต่อไปจะเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ควรเลือกเรียนในสาขาที่สอนให้รู้จักปรับตัวเข้ากับชีวิตในระยะยาว สอนวิธีคิดอย่างมีเหตุมีผล ยิ่งเป็นช่วงที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแบบนี้แล้ว การเลือกเรียนทางด้านศิลปศาสตร์น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานในอนาคต สำคัญที่สุด คือ การต้องรู้จักปรับตัวให้ทันกับโลกดูเหมือนจะหมุนเร็วขึ้น เปลี่ยนแปลงไปทุกวันเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เหมือนที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน เคยบอกไว้ว่า “ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุดหรอกที่จะอยู่รอด แต่เป็นผู้ที่ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก” เป็นคำพูดที่น่าจะนำมาใช้กับเรื่องนี้ได้ดีที่สุด