การคุ้มครองเงินฝาก เป็นระบบที่ทางรัฐบาลได้จัดขึ้น เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้ กับสถาบันทางการเงิน และจ่ายเงินคืนให้กับผู้ฝากภายในวงเงินที่กำหนด ในกรณีที่สถาบันทางการเงิน อยู่ภายใต้ความคุ้มครองถูกปิดกิจการลง โดยไม่ต้องรอขอชำระหนี้จากการชำระบัญชีทรัพย์สิน
จุดประสงค์หลักของการคุ้มครองเงินฝาก
- เพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อย ไม่ให้เกิดผลกระทบ ในกรณีที่สถาบันทางการเงินถูกสั่งปิดกิจการ ระบบคุ้มครองเงินฝากจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับสถาบันทางการเงินให้สามารถชำระเงินคืนให้กับผู้ฝากเงินได้
- เป็นกระบวนการสร้างวินัยทางการเงิน ให้กับผู้ฝากเงิน โดยการคุ้มครองเงินฝากนั้น มีการกำหนดจำนวนเงินที่จะจ่ายคืน ซึ่งส่งผลถึงผู้ฝากเงินให้เห็นความสำคัญในการติดตามฐานะและการดำเนิงานของสถาบันทางการเงิน ในขณะเดียวกันสถาบันทางการเงินก็จะดำเนินงานอย่างระมัดระวัง มีความโปร่งใส และให้บริการที่ดีแก่ผู้ฝากเงิน รวมทั้งมีการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันด้วย
การคุ้มครองเงินฝากมีประโยชน์กับใครบ้าง
- ผู้ฝากเงิน
สำหรับผู้ฝากเงินทุกรายจะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สถาบันการคุ้มครองเงินฝากโดยอัตโนมัติ ดังนั้นผู้ฝากเงินจึงไม่ต้องกังวล เกี่ยวกับการไม่ได้รับเงินคืน และจะได้รับเงินโดยเร็ว หากมีสถาบันทางการเงินใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากจำนวนไม่เกินวงเงินที่ได้รับความคุ้มครอง คุณก็จะได้รับเงินคืนทั้งหมด แต่หากผู้ฝากเงินที่มีจำนวนเงินฝากเกินวงเงินที่ให้การคุ้มครอง คุณก็มีสิทธิ์ได้รับเงินคืนทั้งหมดสูงเช่นเดียวกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของระบบการคุ้มครองเงินฝาก
- สถาบันทางการเงิน
ทางสถาบันทางการเงิน จะมีการแข่งขันตามกลไกการตลาดที่มากขึ้น และจะเริ่มให้ความสนใจต่อการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันตนเองในแง่ของ ความมั่นคงของสถาบันทางการเงินนั้น ๆ แก่ผู้ฝากเงินมากขึ้น จึงทำให้ระบบการเงินมีแนวโน้มด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
- ภาครัฐ
ช่วยลดภาระการจ่ายเงินในการช่วยเหลือ หรือเงินชดเชยให้กับผู้ฝาก ที่นำมาจากเงินภาษีประชาชน และช่วยลดภาระในการหามาตรการต่าง ๆ มาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในแต่ละสถานกาณ์ ทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ไข
ระบบการคุ้มครองเงินฝาก แต่ละประเทศ
*ข้อมูล ณ พฤศจิกายน 2558
สถาบันการคุ้มครองเงินฝาก เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีการบริหารงานและกำหนดนโยบายโดยคณะกรรมการ ประกอบด้วยประธาน ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้แต่งตั้ง โดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งการคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 11 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา
หน้าที่สำคัญของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
- มีหน้าที่รับผิดชอบในการจ่ายเงินคืนให้กับผู้ฝากเงิน ในกรณีที่สถาบันทางการเงินได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองเงินฝาก ถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือถูกปิดกิจการ
- มีหน้าที่เก็บเงินจากสถาบันทางการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากที่ได้นำส่ง เพื่อสะสมไว้เป็นกองทุน สำหรับการจ่ายเงินคืนให้กับผู้ฝาก
- ชำระบัญชีสถาบันทางการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกปิดกิจการ เพื่อนำเงินมาชำระคืนเจ้าหนี้ของสถาบันทางการเงินนั้น ๆ ซึ่งรวมถึงผู้ฝากเงินในส่วนที่มีเงินฝากเกินวงเงินคุ้มครองด้วย
สถาบันทางการเงินที่ได้รับความคุ้มครอง
สถาบันทางการเงินภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก มีทั้งหมด 35 แห่ง (ข้อมูล ณ กันยายน 2558)
สถาบันทางการเงินนอกเหนือจากนี้ จะได้ไม่ได้รับความคุ้มครองเงินฝาก อย่างเช่น ธนาคารของรัฐ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์ รวมทั้งธนาคารอื่น ๆ ที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ซึ่งเป็นธนาคารที่รัฐบาลถือหุ้น และดูแลผู้ฝากเงินอยู่แล้ว เช่น ธนาคารอิสลาม หากต่อไปเห็นเหมาะสมที่จะขยายความคุ้มครองไปยังธนาคารของรัฐเหล่านี้ ก็กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ประเภทเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน, เงินฝากประจำ, เงินฝากออมทรัพย์, บัตรเงินฝาก, ใบรับฝากเงิน (ที่เป็นเงินบาท), เงินฝากใน “บัญชีร่วม” และ เงินฝากใน “บัญชีเพื่อ”
ประเภทเงินฝากที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ, เงินฝากใน “บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ” ซึ่งเป็นประเภทบัญชีพิเศษที่เปิดเพื่อทำรายการเฉพาะตาม พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน, เงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝง และ เงินฝากระหว่างสถาบันการเงิน