จากที่เป็นข่าวใหญ่ไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมาว่าบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้มีการประกาศเลิกจ้างลูกจ้างของบริษัทที่เป็นการจ้างแบบเหมาค่าแรง โดยเป็นไปตามความสมัครใจของลูกจ้างมีเป้าหมายการเลิกจ้างในครั้งนี้ 900 คน หรือ 40% โดยได้บอกถึงสาเหตุของการต้องประกาศเลิกจ้างในครั้งนี้ว่าเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ยอดส่งออกรถยนต์นั้นไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงยอดขายรถยนต์ในประเทศเองก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวนี้ด้วย เมื่อรถยนต์ขายไม่ดีก็จำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลงมีผลให้จำนวนของลูกจ้างในปัจจุบันมากเกินความจำเป็น จึงจำเป็นต้องปรับตัวโดยการขอเลิกจ้างลูกจ้างแบบเหมาค่าแรงนี้
สำหรับรายละเอียดในการเลิกจ้างลูกจ้างแบบเหมาค่าแรงของโตโยต้าในครั้งนี้ จะเป็นการเลิกจ้างแบบสมัครใจให้ลาออกเอง กำหนดอายุงานของลูกจ้างที่จะสมัครใจลาออกเป็นลูกจ้างที่ทำงานมาไม่ถึง 10 ปี และบริษัทได้กำหนดจำนวนลูกจ้างที่จะลาออกของแต่ละไลน์การผลิตไว้ด้วย โดยกำหนดระยะเวลาของการสมัครไว้ที่ 1 สัปดาห์ และบริษัทได้ยืนยันว่าหากเศรษฐกิจดีขึ้นและผลประกอบการของบริษัทดีขึ้น ก็จะมีการพิจารณาลูกจ้างแบบเหมาค่าแรงที่เคยทำงานกับโตโยต้ากลับเข้าทำงานใหม่ โดยใช้อัตราค่าจ้างเดิมและคำนวณอายุงานต่อเนื่องให้ด้วย สำหรับการเลิกจ้างแบบสมัครใจนี้ โตโยต้าจะจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมายทั้งค่าชดเชยตามอายุงานและเงินพิเศษ พร้อมค่าจ้างและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือนด้วย
ผลของการเปิดให้ลาออกโดยสมัครใจในครั้งนี้ มีลูกจ้างแบบเหมาค่าแรงที่สมัครมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ มีลูกจ้างสมัครลาออกมากถึง 1,200 คน โตโยต้าจ่ายเงินทดแทนไปทั้งหมดเป็นยอดเงินรวมกว่า 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีเรื่องโตโยต้าเลิกจ้างลูกจ้างในประเทศไทยครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายอดวิตกไม่ได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ เป็นเหตุผลในเรื่องของเศรษฐกิจชะลอตัวหรือมีเหตุผลอะไรที่มากกว่านั้น เพราะโตโยต้าเองก็ได้มีการเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ใหม่ที่ประเทศมาเลเซียเป็นแห่งที่ 2 ด้วย นี่จะเป็นสัญญาณการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นหรือไม่ รวมถึงเรื่องของเทคโนโลยีของการผลิตที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาแทนแรงงานคนด้วยหรือไม่ และนี่ยังไม่นับรวมเรื่องเทรนด์ของรถไฟฟ้าที่กำลังมีการพัฒนาการผลิตเพื่อให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ที่บางคนก็มองว่ารถไฟฟ้าอาจจะเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันในอนาคตอันใกล้นี้ มันเกี่ยวข้องกับเรื่องการปลดลูกจ้างของโตโยต้าในครั้งนี้ด้วยหรือไม่
ที่จริงแล้วเรื่องของเศรษฐกิจชะลอตัวมีผลกระทบไปทั่วทุกหย่อมหญ้ามาตลอดเป็นเวลากว่า 2 ปี เป็นเรื่องที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์มีการชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีผลกระทบไปถ้วนหน้าทุกบริษัทไม่ใช่เฉพาะกับโตโยต้าบริษัทเดียว บริษัทหลายบริษัทมีการเลิกจ้างพนักงาน หรือได้รับผลกระทบ แต่ที่เราไม่เห็นเป็นข่าวใหญ่โตก็เพราะเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ในขณะที่โตโยต้าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไม่ว่าจะขยับตัวในเรื่องใดก็เป็นข่าวใหญ่อยู่แล้ว สำหรับเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกันทั้งที่จริงการเลิกจ้างลูกจ้างแบบเหมาค่าแรงนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งในการปรับตัวของธุรกิจในช่วงเศรษฐกิจขาลงเท่านั้น เรื่องย้ายฐานการผลิตก็ยังเป็นไปได้ยากเพราะปริมาณรถยนต์ที่เป็นฐานการผลิตของโตโยต้าในประเทศไทยนั้นมีมากกว่าหลายแสนคัน ส่วนการตั้งโรงงานใหม่ที่ประเทศมาเลเซียก็เพราะตลาดในมาเลเซียตอนนี้มียอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ดีขึ้น อย่างค่าแรงในประเทศมาเลเซียเองก็ไม่ได้ถูกกว่าประเทศไทย จึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลในการย้ายฐานการผลิตอย่างแน่นอน สำหรับเรื่องของรถไฟฟ้านั้นเป็นอนาคตที่จะต้องมาแน่ เพียงแต่คงยังจะไม่สามารถเข้ามาแทนที่เทคโนโลยีของรถยนต์ในปัจจุบันในช่วงเวลาสั้น ๆ นี้ได้ คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ๆ
ล่าสุด นายฉัตรชัย ทวีสกุลวัชระ รองกรรมการผู้จัดใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ได้ออกมาแถลงข่าวต่อกรณีที่เป็นกระแสข่าวดังกล่าวว่า การเลิกจ้างลูกจ้างในครั้งนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับยอดการส่งออกรถยนต์ที่หดตัวลง ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศแต่อย่างใด สำหรับการส่งออกรถยนต์ที่ลดลงเป็นผลจากประเทศในตะวันออกกลางลดการสั่งซื้อลง เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาและลูกจ้างที่ลาออกโดยสมัครใจในครั้งนี้ก็มีจำนวนแค่ 1,200 คน ไม่ใช่ 4-5 พันคนอย่างที่เป็นข่าว สำหรับข่าวเรื่องของการใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนนั้น โตโยต้าก็ยืนยันว่าไม่ได้ปลดลูกจ้างเพราะจะนำหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนและยังยืนยันว่าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น สถานการณ์การส่งออกรถยนต์ดีขึ้น ก็พร้อมรับลูกจ้างแบบเหมาค่าแรงกลับเข้าทำงานอีกครั้ง โดยจะให้ค่าจ้างตามเดิมพร้อมกับคำนวณอายุงานต่อเนื่องให้ด้วย และยังได้เผยถึงตัวเลขของลูกจ้างแบบเหมาค่าแรงที่บริษัทยังจ้างอยู่ว่ามีจำนวนมากถึง 4,000 คน
สำหรับลูกจ้างแบบเหมาค่าแรงที่ลาออกโดยสมัครใจนั้น นอกจากได้รับเงินจ้างและเงินชดเชยจากบริษัทเรียบร้อยแล้วนั้น ทางบริษัทได้ส่งรายชื่อของทุกคนที่เข้าร่วมโครงการไปยังกระทรวงแรงงาน ทางกระทรวงแรงงานยังได้หางานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์โดยตรงไว้รองรับลูกจ้างเหล่านี้ด้วย มีงานรองรับใน 4 เขตจังหวัด ทั้งในสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง รวมถึงมีงานอาชีพอิสระไว้รองรับเพิ่มเติมด้วย
สุดท้ายไม่ว่าข่าวการเลิกจ้างของโตโยต้าในครั้งนี้จะส่งสัญญาณอะไรหรือไม่นั้น สิ่งที่จริงแท้แน่นอนอย่างที่สุด ก็คือ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมีผลกระทบกับผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะตัวลูกจ้างและครอบครัว ดังนั้น ในฐานะลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัท เราเองก็ต้องมีความพร้อมในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับเราได้ในวันใดวันหนึ่งเช่นกัน
อ้างอิง