ทุกวันนี้หลายๆ คนน่าจะรู้จักคำว่า E-Payment กันมากขึ้น เพราะเป็นระบบการชำระเงินที่ธนาคารต่างๆ ได้พัฒนาขึ้นมาสำหรับช่วยให้การโอนเงิน การชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยการนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาช่วย จึงทำให้เราสามารถโอนเงินหรือชำระเงินทำได้ทุกที่ทุกเวลา และไม่จำเป็นต้องพกเงินสดเป็นจำนวนมาก สำหรับซื้อสินค้าหรือบริการเหมือนเช่นในอดีต แต่ก็ยังมีบางคนที่ยังเกิดความลังเลไม่พร้อมที่จะใช้ระบบการชำระเงินแบบ E-Payment นี้ เพราะฉะนั้นเรามาทำความรู้จักกับ E-Payment
ซึ่งจริงๆ แล้ว E-Payment นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเราเลย เพราะส่วนใหญ่จะเป็นบริการพื้นฐานของทุกธนาคารเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้แก่ บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต บัตรเดบิตและบัตรเติมเงินต่างๆ ส่วน E-Payment อีกสองแบบคือ Internet และ Mobile Banking และอีกประเภทหนึ่ง คือ การโอนเงินผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น บาทเนต หรือการทำคำสั่งให้มีการชำระเงินโดยอัตโนมัติ ระบบ E-Payment เหล่านี้มีขึ้นมาเพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ของเราสะดวกสบายมากขึ้น
และอย่างที่บอกไปว่า E-Payment นี้เป็นสิ่งที่เข้ามาทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น แต่ก็ยังมีคนอยู่ส่วนหนึ่งที่ยังไม่ค่อยมั่นใจในระบบ E-Payment และเลือกที่จะทำธรุกรรมทางการเงินผ่านช่องทางนี้ เพราะบางครั้งก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองเรื่องนี้อย่างเพียงพอหรือเปล่า ซึ่งในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่อง E-Payment คือ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 และประกาศกระทรวงการคลังซึ่งออกตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (บัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งเราสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.bot.or.th
โดยกฎหมายทั้งสามฉบับออกมาเพื่อสร้างความมั่นใจและคุ้มครองผู้ใช้บริการระบบ E-Payment แบบเราๆ นั่นแหละ ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าผู้ให้บริการหรือธนาคารต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามในเรื่องต่อไปนี้
- ต้องออกหลักฐานการชำระเงินให้แก่ลูกค้าไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง และต้องมีรายละเอียดในการใช้บริการ เช่น ชื่อผู้ให้บริการ จำนวนเงิน วันที่ชำระเงิน รายละเอียดของสินค้า ซึ่งเราจะสังเกตได้เวลาที่สลิปของตู้เอทีเอ็มหมด จะมีข้อความขึ้นมาเตือนว่าไม่สามารถทำรายการโอนเงินหรือชำระสินค้า/บริการได้ เพราะจะทำให้ธนาคารเจ้าของตู้เอทีเอ็มทำผิดกฎหมายได้
- ธนาคารต้องกำหนดหลักเกณฑ์การเก็บรักษาเงินที่ได้รับจากลูกค้าเพื่อส่งมอบให้กับเจ้าหนี้ เช่น การให้บริการ E-Money และการให้บริการรับชำระเงินแทน ซึ่งข้อนี้จะทำให้เรามั่นใจได้ว่าเมื่อธนาคารรับเงินจากเราไปแล้ว ธนาคารจะนำเงินของเราไปส่งให้เจ้าหนี้ต่างๆ เช่น การไฟฟ้า การประปา องค์การโทรศัพท์ เป็นต้น
- ธนาคารต้องเปิดเผยค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้ลูกค้าทราบอย่างชัดเจน
- ธนาคารต้องรักษาความลับข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า
- ต้องตรวจสอบและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบ E-Payment ที่ให้บริการอย่างสม่ำเสมอ และส่งรายงานการตรวจสอบให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยทุกปี
- การเปิด/ปิดสถานที่ทำการต้องแจ้งหรือขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย
- การยกเลิกบริการ E-Payment ต้องแจ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบล่วงหน้าก่อนเลิกให้บริการและธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะสั่งให้ธนาคารผู้ให้บริการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้าก่อนยกเลิกบริการได้
- สำหรับผู้ให้บริการ E-Payment ที่มีการรับเงินล่วงหน้าจากลูกค้ามาแล้ว จะต้องเก็บรักษาเงินจำนวนนั้นแยกต่างหากจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท และต้องฝากไว้กับธนาคารไม่ต่ำกว่ายอดคงค้างที่ได้รับจากผู้ใช้บริการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีเงินเพียงพอสำหรับถอนเงินของลูกค้า
- ธนาคารต้องดำเนินการเมื่อมีการร้องเรียนหรือข้อโต้แย้งกับลูกค้า เช่น กรณีพบข้อผิดพลาดในการโอนเงินที่เกิดจากระบบ E-payment ของธนาคารเองนั้น จะต้องดำเนินการแก้ไขข้อผิดพลาดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง