ปัญหาการใช้เงินเกินตัว เป็นปัญหาที่หลายท่านอาจรู้สึกว่าตนเองกำลังเผชิญ ซึ่งถึงแม้จะพยายามสักเพียงใดก็ไม่สามารถแก้ไขได้เสียที เพราะเมื่อมีรายได้ ก็มักจะเผอเรอใช้จ่ายไปอย่างสูญเปล่าอยู่เสมอ สำหรับวันนี้ เพื่อเป็นการแบ่งปันเทคนิคดีๆให้กับท่านที่กำลังพยายามจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงขอนำเสนอเทคนิค 3 ขั้นตอนในการแก้ปัญหาการใช้เงินเกินตัวด้วยการวางแผนการเงิน ส่วนแต่ละขั้นตอนจะมีรายละเอียดและความน่าสนใจอย่างไรนั้น ขอเชิญไปติดตามกันเลยครับ
เทคนิคขั้นที่ 1 สำรวจรายรับ
ในการบริหารจัดการเงินนั้น ปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก็คือเรื่องของรายรับ เพราะรายรับเป็นที่มาของเงินที่จะใช้จ่าย ทั้งนี้ ในการสำรวจรายรับ ผู้สำรวจควรจะจำแนกช่องทางและจดบันทึกไว้โดยละเอียด เพื่อที่จะสามารถทราบได้ว่าในแต่ละเดือนท่านมีรายรับกี่ช่องทาง แต่ละช่องทางมีความมั่นคงหรือไม่ และเมื่อนำมาคำนวณโดยรวมแล้วจัดเป็นรายรับที่มากน้อยเพียงใด ถ้าหากทราบหรือสามารถกำหนดรายรับได้อย่างชัดเจน ก็จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการรายจ่ายและเงินเก็บได้อย่างสอดคล้องลงตัว รายรับที่เหมาะสมนั้นควรเป็นรายรับที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายพื้นฐาน และคิดเผื่อเป็นส่วนเหลือเก็บอย่างน้อย 10%
เทคนิคขั้นที่ 2 จำกัดรายจ่าย
รายจ่าย นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญซึ่งจะต้องบริหารจัดการอย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับรายรับ ในแต่ละวันหรือแต่ละเดือนนั้นเราทุกคนล้วนมีรายจ่ายหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายค่าอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ หรือแม้แต่ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าชำระหนี้สิน ตลอดจนค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ ดังนั้น เพื่อที่จะทราบรายจ่ายที่ชัดเจน จึงควรที่จะจดบันทึกไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ การจดบันทึกไว้เช่นนี้นอกจากจะช่วยให้ทราบถึงรายจ่ายโดยรวมแล้ว ยังทำให้สามารถจำแนกได้ว่ารายจ่ายในส่วนใดที่เป็นการใช้จ่ายซึ่งไม่จำเป็น อันจะช่วยให้สามารถปรับปรุงแก้ไขโดยการลดหรือตัดรายจ่ายในส่วนดังกล่าวออกไปได้
ทั้งนี้ เมื่อทราบถึงยอดรายจ่ายที่ชัดเจนแล้ว ก็นำรายจ่ายไปเปรียบเทียบกับรายรับ ถ้าหากพบว่ารายจ่ายคิดเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า ก็ควรที่จะย้อนกลับมาทบทวนและปรับลดรายจ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น เช่นรายจ่ายอันเนื่องมาจากการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย หรือรายจ่ายที่ใช้ไปกับสิ่งบันเทิงซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เป็นต้น ถ้าหากทำตามวิธีดังกล่าวแล้วยังพบว่ารายจ่ายยังคงสูงกว่ารายรับอยู่เช่นเดิม ก็ควรที่จะบริหารจัดการ หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นเสียใหม่ ตัวอย่างเช่น ถึงแม้การเดินทางไปทำงานจะนับเป็นกิจวัตรที่จำเป็น และจำเป็นต้องมีรายจ่ายอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่วิธีการเดินทางก็มีหลากหลายช่องทาง การปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทางจึงอาจช่วยลดรายจ่ายในส่วนดังกล่าวได้ จากเดิมที่เคยนั่งรถแท็กซี่ ก็อาจจะลองตื่นเช้าอีกสักนิด แล้วเปลี่ยนมาใช้บริการรถโดยสารประจำทางอย่างรถตู้ รถเมล์ หรือรถไฟฟ้าแทน การปรับเปลี่ยนกิจวัตรในชีวิตประจำวันเช่นนี้นับเป็นวิธีการที่จะช่วยลดรายจ่ายได้เป็นอย่างดี ทั้งยังจะช่วยให้มีโอกาสได้พบเจอกับเรื่องราวและประสบการณ์ที่แปลกใหม่อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม : แนะนำแอพคำนวณค่าเดินทาง BTS, MRT และ Taxi
เทคนิคขั้นที่ 3 บริหารจัดการเงินเก็บ
แน่นอนว่าเมื่อทราบถึงยอดรายรับและรายจ่ายที่ชัดเจนในแต่ละเดือนแล้ว สิ่งที่จะสามารถคำนวณได้ตามมาก็คือเงินคงเหลือ หรือเงินเก็บ ทั้งนี้ หากพบว่าในแต่ละเดือนมีเงินเก็บค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 10% ของรายรับ) ก็ควรที่จะรีบปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้เงินเสียแต่โดยเร็ว เพราะเงินเก็บถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในยามที่ต้องใช้เงินเป็นการฉุกเฉิน เช่น เกิดการเจ็บป่วยที่ต้องใช้ค่ารักษาพยาบาล หรือต้องใช้จ่ายเพื่อซื้อสิ่งของอันมีความจำเป็นเร่งด่วน เมื่อต้องพบเจอกับรายจ่ายฉุกเฉินดังกล่าว การมีเงินเก็บสำรองไว้จะช่วยให้ท่านไม่จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสิน อันเป็นสิ่งที่ย่อมจะตามมาด้วยดอกเบี้ย ซึ่งนับเป็นรายจ่ายที่สูญเปล่า หรืออาจฉุดให้จำต้องตกไปอยู่ในวังวนแห่งหนี้สินอย่างไม่รู้จบ
การบริหารจัดการเงินเก็บนั้นสามารถทำได้มากมายหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเก็บในรูปของเงินสดหรือฝากไว้ในบัญชีธนาคาร การเก็บเงินไว้ในลักษณะเช่นนี้จะช่วยให้มีความคล่องตัวในการหยิบมาใช้เมื่อเกิดความจำเป็นเร่งด่วน แต่ถ้าหากท่านใดพบว่าตนเองมีนิสัยที่มักจะเผลอตัวใช้จ่ายไปกับสิ่งล่อตาล่อใจอันไม่มีความจำเป็น ก็ควรที่จะลดความคล่องตัวของการใช้จ่ายโดยการผันเงินเก็บให้อยู่ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การลงทุนในตลาดหุ้น การลงทุนในกองทุนรวม การจัดเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากแบบต่อเนื่องระยะยาว หรือช่องทางอื่นๆ การเลือกผันเงินเก็บให้อยู่ในรูปแบบของเงินลงทุนเช่นนี้ นอกจากจะช่วยลดโอกาสในการเผลอนำมาใช้ไปกับสิ่งฟุ่มเฟือยอันไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังช่วยนำมาซึ่งรายได้จากดอกเบี้ยหรือเงินปันผลอีกด้วย จึงเรียกได้ว่าเป็นช่องทางที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนโดยวิธีดังกล่าวอาจมาพร้อมกับความเสี่ยง ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ