เชื่อว่าในตอนนี้ มนุษย์เงินเดือนหลายคนคงกำลังประสบปัญหารายจ่ายมากมายจนหมุนแทบไม่ทัน ในขณะที่รายได้มีอยู่น้อยนิด บางทีหมดไปทั้งที่ยังไม่ได้อะไรกลับมาเลยด้วยซ้ำ
ปัญหารายได้ไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายนี้ ถือเป็นปัญหาโลกแตกที่มนุษย์เงินเดือนไม่ว่าจะยุคไหนก็ตามต้องประสบพบเจอ แต่ดูเหมือนว่าพอเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ ผู้คนให้ความสำคัญกับวัตถุสิ่งของมากและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเหลือเกิน ก็ดูเหมือนว่าปัญหานี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลายคนรายได้น้อยนิดแทบจะไม่พอกิน แต่ก็พยายามหาเงิน เพื่อมาซื้อวัตถุทางเทคโนโลยีให้ได้ กลายเป็นว่ายิ่งถังแตกหนักกว่าเดิมบางคนถึงกับต้องกู้หนี้ยืมสินมา เพื่อเอาเงินมาประทังชีวิตกันเลยทีเดียว
แล้วปัญหารายจ่ายมากกว่ารายได้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรละ?
จากเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าและระบบทุนนิยมอย่างนั้นหรือ ขอตอบว่า ใช่ แต่ไม่ทั้งหมด พวกเทคโนโลยีและระบบทุนนิยม เป็นสาเหตุเพียง 20% เท่านั้น ส่วนอีก 80% ที่เหลือโดยมากมักจะมาจากปัญหาการบริหารเงินที่ไม่เป็นระบบ มนุษย์เงินเดือนส่วนมาก ยังแยกไม่ออกว่ารายจ่ายที่จำเป็น กับรายจ่ายที่ไม่จำเป็นนั้นต่างกันอย่างไร และมักจะยึดการใช้จ่ายเงินตามค่านิยมของสังคมเป็นหลัก มากกว่าจะใช้จ่ายโดยดูจากเงินที่ตัวเองมีอยู่จริง ๆ บางคนมีเงินเดือนน้อย แต่เลือกที่จะใช้ IPhone ที่มีราคาแพง ด้วยเหตุผลว่าคนอื่น ๆ ในบริษัท ในออฟฟิศใช้กัน ทั้ง ๆ ที่ความจริงยังมีสมาร์ทโฟนราคาถูก ๆ อีกมากมาย กลับไม่ใช้หรือพนักงานออฟฟิศบางคน เลือกซื้อแต่เสื้อผ้าแบรนด์เนม ทั้ง ๆ ที่ยังมีเสื้อผ้าโนเนมอีกหลายรายที่มีคุณภาพการตัดเย็บดีและดูดีเหมือนกับเสื้อผ้าแบรนด์เนม แต่พวกเขาก็เลือกใช้แบรนด์เนมกัน ด้วยเหตุผลว่าเมื่อใส่ไปที่ไหนแล้ว มีแต่คนยกย่อง เป็นต้น
การใช้จ่ายอย่างเกินตัวโดยยึดตามกระแสสังคมเป็นหลักนี่เองที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนหลายคน ต้องประสบปัญหารายจ่ายมากกว่ารายได้ สุดท้ายก็จบลงด้วยการกู้หนี้ยืมสิน เพื่อเอามาโปะรายจ่ายที่ตัวเองก่อขึ้นมาก่อนและการก่อหนี้ ก็ยิ่งกลายเป็นตัวซ้ำเติมปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก แต่ในบทความนี้ เราไม่ได้จะมาตัดพ้อ ต่อว่าเรื่องการก่อรายจ่ายแต่อย่างไร แต่เราจะมาดูกันว่าในเมื่อปัญหาเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะทำอย่างไรให้รายได้มีความกระเตื้องขึ้นมาและมากพอที่จะลดรายจ่ายออกไปได้
ข้อแรก คือ ถ้าเกิดมีหนี้ต้องใช้หนี้ให้หมดก่อน
อย่าเพิ่งไปคิดอภิมหาโปรเจกท์ใด ๆ ขึ้นมาอย่างเด็ดขาด ช่วงนี้ พยายามลดรายจ่ายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การใช้จ่ายเกี่ยวกับหนี้ลงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ถ้าเป็นไปได้ลองพยายามหาเงินก้อน เพื่อเอาไปโปะหนี้ที่ก่อขึ้นมาให้หมดไปเลยก็ยิ่งดี แต่อย่าใช้วิธีไปกู้เงินก้อนใหม่เพื่อเอามาโปะหนี้เก่าเด็ดขาด เพราะจะทำให้เป็นหนี้แบบไม่จบไม่สิ้น ต้องเป็นเงินที่หามาได้ด้วยตัวเองเท่านั้น
ขั้นตอนต่อมา เมื่อใช้หนี้หมดแล้ว เสถียรภาพทางการเงินจะดีขึ้น คราวนี้เราก็สามารถคิดแผนเพื่อหาเงินเพิ่มได้แล้ว
ซึ่งการหารายได้เพิ่มนี้มีอยู่มากมาย ตั้งแต่การทำงานล่วงเวลาหรือ OT การหารายได้เสริมด้วยการทำงานนอกเวลา อย่างเช่นเด็กเสิร์ฟ พนักงานขายของในห้างสรรพสินค้าช่วงวันหยุด แม้กระทั่งการเก็บของเก่าขายช่วงวันหยุดก็ถือว่าเป็นการหารายได้เสริมทางหนึ่งเช่นกัน ในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มหารายได้เสริมอย่าเพิ่งเอาไปใช้ให้เก็บไว้ถือว่าเป็นขวัญถุง จากนั้นพองานประจำกับงานเสริมเริ่มไปด้วยกันได้ ก็ค่อยเอาเงินจากรายได้เสริมไปใช้จ่ายบ้าง แต่ต้องเป็นรายจ่ายที่ไม่เกินตัวอย่างเด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้น เงินที่หามาได้จะหมดไปและกลับไปสู่วัฏจักรรายได้ไม่พอกับรายจ่ายเหมือนเดิม
ข้อที่สาม คือ ต้องรู้จักจำแนกให้ได้ว่า อะไรคือรายจ่ายที่จำเป็นและไม่จำเป็น
อันไหนที่จำเป็นก็ผ่อนต่อไป แต่อันไหนที่ไม่จำเป็นอาจจะต้องตัดออก อย่างตอนนี้บางคนอาจจะกำลังกลุ้มกับการผ่อน Iphone ราคามหาโหดอยู่ เราก็อาจจะติดต่อกับผู้ขายเพื่อขอยกเลิกการผ่อนและคืนไอโฟนไป แล้วหาโทรศัพท์รุ่นอื่นที่สามารถซื้อด้วยเงินสดได้ในราคาไม่สูงมากนักมาใช้แทนหรือใครที่กำลังเครียดผ่อนรถอยู่ ก็อาจจะติดต่อขอยกเลิกและคืนรถไป แล้วหันมาใช้รถเมล์ ระบบขนส่งสาธารณะแทน ยกเว้นใครที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีรถผ่าน อันนี้อาจจะจำเป็นต้องผ่อนรถไว้ใช้ ก็ให้ไปคุยกับไฟแนนซ์ว่าจะขอลดเงินผ่อน แล้วเพิ่มจำนวนงวดได้ไหมอย่างนี้ เป็นต้น
ข้อสุดท้าย สำหรับการปรับรายได้ให้เท่ากับรายจ่าย คือ การเปลี่ยนงานใหม่ ในกรณีที่รู้สึกว่างานที่ทำงานอยู่ให้เงินค่าตอบแทนน้อย
แต่อันนี้เราต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาเป็นอย่างมาก เพราะอนาคตเป็นของไม่แน่นอน ถ้าโชคดี ได้เงินเดือนเยอะกว่าที่เก่าก็ดีไป แต่ถ้าโชคไม่ดี เงินเดือนที่ใหม่ให้น้อยกว่าที่เก่าก็อาจจะแย่กว่าเดิม ใครที่กำลังคิดจะเปลี่ยนงาน ขอให้ศึกษารายละเอียดของงานใหม่ให้รอบคอบด้วยว่าถ้าย้ายแล้วจะคุ้มไหมจะได้ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาที่แย่กว่าเก่า