ในยุคสมัยนี้ คนส่วนมากต่างก็มีหนี้สินติดตัวกันไม่มากก็น้อย ซึ่งทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า “หากเรามีหนี้อยู่ เรายังจะขอสินเชื่อได้ไหม?” ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ ก็ขึ้นกับสถานการณ์หนี้สิน ประเภทหนี้สิน และการชำระหนี้ของคุณค่ะ
คำถามแรกที่เราจะขอถามได้แก่ หนี้สินที่คุณมีอยู่ในปัจจุบัน เป็นหนี้อะไรคะ
ถ้าหนี้ที่มีอยู่ เป็นหนี้ กยศ. (กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา) ในปัจจุบัน ยังไม่มีการเอาหนี้ กยศ.เข้าระบบเครดิตบูโร ท่านจึงสามารถขอทำเรื่องกู้หรือขอสินเชื่อได้ตามปกติค่ะ แต่ต่อไป หากลูกหนี้ กยศ.จำนวนมากยังไม่ยอมชำระหนี้ กยศ. ในอนาคตก็เป็นไปได้ว่า อาจนำกรณีเป็นหนี้ กยศ. เข้าระบบเครดิตบูโรค่ะ ฉะนั้น ในตอนนี้ ลูกหนี้ กยศ.ก็รีบๆ นะคะ ใครจะกู้อะไร รีบเลยค่ะ
คำถามต่อไปคือ ถ้าเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิตล่ะ สามารถขอกู้ได้อีกหรือไม่
กรณีเป็นหนี้กับสถาบันการเงิน เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ หรือหนี้บัตรเครดิต ก็จะต้องพิจารณาว่า คุณติดเครดิตบูโรหรือไม่ค่ะ
เครดิตบูโรคือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ซึ่งมีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลประวัติการชำระสินเชื่อและบัตรเครดิตของบุคคลจากสถาบันการเงินหลายๆ แห่งที่ธนาคารและสถาบันการเงินเป็นสมาชิกอยู่ โดยเมื่อลูกค้าขอสินเชื่อหรือทำบัตรเครดิต ก็จะต้องเซ็นให้ความยินยอมในการให้สถาบันการเงินตรวจสอบข้อมูลการชำระสินเชื่อและการชำระบัตรเครดิตของตน ซึ่งเมื่อเราไปยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินใดๆ ก็ตาม ทางสถาบันการเงินนั้นก็จะเรียกดูข้อมูลดังกล่าวจากเครดิตบูโร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อต่อไป หากเราติดเครดิตบูโร มีประวัติปัญหาในการชำระหนี้ หรือเป็นหนี้มากเกินไป ทางสถาบันการเงินก็สามารถพิจารณาไม่อนุมัติให้กู้ได้ค่ะ
อ่านเพิ่มเติม : รู้ได้อย่างไรว่าติดเครดิตบูโร ?
โดยทั่วๆ ไป การพิจารณาให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน จะมีเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้
- ความสามารถในการชำระหนี้ ทางสถาบันการเงินจะวิเคราะห์ว่า เราจะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ โดยจะพิจารณาจากรายได้ของผู้กู้และหรือผู้กู้ร่วมเป็นหลักค่ะ ซึ่งจะพิจารณาให้กู้ประมาณ 30-40 เท่าของรายได้ วงเงินที่ให้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความมั่นคงของอาชีพ และรายได้ด้วย เช่น หากเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือลูกจ้างบริษัทเอกชนที่มีกิจการมั่นคงก็จะได้รับการอนุมัติเงินกู้สูงถึง 40 เท่าของเงินเดือน นอกจากนี้ธนาคารยังพิจาณาเรื่อง สัดส่วนเงินงวดต่อรายได้สุทธิประกอบด้วย คือต้องไม่เกิน 33% ธนาคารจะให้กู้ในอัตราที่เงินผ่อนต่อเดือนไม่เกิน 33% ต่อรายได้สุทธิต่อเดือน
- พิจารณาจากหลักประกันเงินกู้ทางสถาบันการเงินจะนำหลักประกันเงินกู้มาวิเคราะห์ทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันด้วย โดยจะมีการพิจารณาใน 2 ประเด็น คือ ความเหมาะสมของหลักประกันและมูลค่าของหลักประกัน ซึ่งทางสถาบันการเงินจะใช้ประกอบการพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหากปล่อยเงินกู้ไปแล้ว
- คุณสมบัติอื่นของผู้กู้นอกจากสถาบันการเงินจะวิเคราะห์เงื่อนไขการอนุมัติให้กู้จากรายได้ และหลักประกันเงินกู้ที่วางไว้แล้ว ก็อาจใช้คุณสมบัติอื่นของผู้กู้ประกอบการพิจารณาด้วย เช่น อายุของผู้กู้ ซึ่งหากนำมารวมกับจำนวนปีที่ขอกู้แล้วจะต้องไม่เกิน 70 ปี และผู้กู้ร่วมที่ไม่ใช่คู่สมรส บิดามารดา พี่น้อง หรือบุตรแล้ว จะมีผู้กู้ร่วมอื่นได้อีกไม่เกิน 1 คน ซึ่งจะต้องถือกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ที่จำนองด้วย โดยการกู้ร่วมก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้เรามีความสามารถในการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งถึงแม้เราจะมีภาระผ่อนสินเชื่ออื่นๆ อยู่ แต่ถ้าเราหาผู้มากู้ร่วมที่มีประวัติการขอสินเชื่อยังไม่เคยมีหนี้มาก่อนก็จะทำให้เครดิตเราดีขึ้นได้นะคะ
คำถามสุดท้ายก็คือ หากเรามีหนี้บัตรเครดิตอยู่ เราจะสามารถขอกู้สินเชื่ออื่นได้อีกหรือไม่
ถ้าหากคุณชำระค่าบัตรเครดิตตรงเวลาสม่ำเสมอ ย่อมไม่มีปัญหาค่ะ ส่วนใหญ่จะพิจารณาอนุมัติให้ แต่ก็ควรที่จะเคลียร์หนี้ต่างๆ ให้หมดหรือให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาขอสินเชื่อค่ะ เพราะทุกสถาบันการเงินจะดูประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของเราด้วย ซึ่งถึงแม้เราจะมีภาระสินเชื่ออยู่ แต่ถ้ามีประวัติการผ่อนชำระที่ดี ตรงตามงวดทุกครั้ง ทางสถาบันการเงินก็จะมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นว่าถ้าให้สินเชื่อเราแล้ว เราจะสามารถผ่อนชำระได้ และที่สำคัญควรจะเช็คเครดิตบูโรของตัวเองก่อน หากไม่ทราบสถานะตัวเองในเครดิตบูโรก็ขอตรวจสอบได้เมื่อมีปัญหาจะได้แก้ไขได้นะคะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงินค่ะ