สร้างความฮือฮาไม่น้อย เมื่อบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จ่อปรับค่าบริการหลายรายการ ด้วยเหตุผลไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุนอย่างหนัก หลังจากไม่ได้ขึ้นราคามา 13 ปีแล้ว
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ออกมาชี้แจงถึงภาระอันหนักอึ้งที่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งต้องรับภาระสังคมที่มากถึงเฉลี่ยปีละ 1,300 ล้านบาท หรือ 16,900 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงเตรียมขอปรับอัตราค่าบริการไปรษณีย์พื้นฐานในประเทศเป็นอัตราเพดานขั้นสูง เพื่อให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พิจารณาเรื่องดังกล่าว และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติต่อไป
สำหรับรายละเอียดและอัตราใหม่ที่บริษัทฯ เสนอไปนั้น มีดังนี้
จดหมาย
- น้ำหนักไม่เกิน 20 กรัม จากราคา 3 บาท ปรับเป็น 8 บาท
- น้ำหนักเกิน 20 กรัม แต่ไม่เกิน 100 กรัม จากราคา 5 บาท ปรับเป็น 10 บาท
- น้ำหนักเกิน 100 กรัม แต่ไม่เกิน 250 กรัม จากราคา 9 บาท ปรับเป็น 15 บาท
- น้ำหนักเกิน 250 กรัม แต่ไม่เกิน 500 กรัม จากราคา 15 บาท ปรับเป็น 20 บาท
- น้ำหนักเกิน 500 กรัม แต่ไม่เกิน 1,000 กรัม จากราคา 25 บาท ปรับเป็น 40 บาท
- น้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม จากราคา 45 บาท ปรับเป็น 60 บาท
ไปรษณียบัตร
- จากราคาใบละ 2 บาท ปรับเป็นใบละ 5 บาท
พัสดุไปรษณีย์
- น้ำหนักไม่เกิน 1,000 กรัม จากราคา 20 บาท ปรับเป็น 30 บาท
- ส่วนที่เกิน 1,000 กรัม จากที่คิด 1,000 กรัมละ 15 บาท ขอปรับเป็น 1,000 กรัมละ 20 บาท
ธนาณัติในประเทศ
- ฝากธนาณัติ 1,000 บาท จะคิดค่าบริการ 10 บาท ขอปรับเป็น 15 บาท
- ส่วนที่เกิน 1,000 บาท จากค่าบริการ 1,000 บาทละ 2 บาท ขอปรับเป็น 1,000 บาทละ 5 บาท
ของตีพิมพ์
- น้ำหนักไม่เกิน 50 กรัม จากราคา 3 บาท ปรับเป็น 8 บาท
ทั้งนี้ นางสมร เทิดพิบูลธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ออกมาชี้แจงว่า การปรับอัตราค่าบริการใหม่นี้ เป็นการปรับแบบเพดานขั้นสูงไว้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีการอนุมัติจริง ทางบริษัทฯ จะต้องปรับขึ้นทันทีตามมูลค่าที่แจ้ง แต่จะเป็นในลักษณะทยอยปรับตามต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากตลอด 13 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่ได้มีการปรับค่าบริการขึ้นแต่อย่างใด ในขณะที่ไปรษณีย์มีต้นทุนที่เพิ่มตลอดตามค่าครองชีพที่สูงในแต่ละปี
การขึ้นอัตราค่าบริการนี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ประชาชนจะไม่กระทบมากนัก เนื่องจากในปัจจุบันมีการติดต่อสื่อสารอีกหลายทางที่ให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย โทรศัพท์มือถือ หรือแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งประชาชนก็นิยมใช้บริการกันมากอยู่แล้ว สำหรับในภาคธุรกิจที่จำเป็นต้องส่งของเป็นจำนวนมาก ทางไปรษณีย์ไทยได้เตรียมวางแผนคิดโปรโมชั่นส่วนลดตามสัดส่วนการใช้บริการไว้แล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวยังอยู่ในช่วงพิจารณารายละเอียด และเหตุผลต่างๆ ประกอบ ซึ่งหากไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทางไปรษณีย์ไทยอาจต้องปรับแผนเดินหน้าเป็นการขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะจากรัฐบาล เพื่อมาชดเชยรายได้ที่ขาดทุนแทน