การทำสัญญากู้เงิน เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ให้กู้ยืนโอนกรรมสิทธิ์ในเงินที่ยืมนั้นตามจำนวนที่กำหนดไปให้แก่ผู้ยืม และได้ตกลงกันว่าจะคืนเงินจำนวนเดียวกันกับที่ยืมพร้อมดอกเบี้ยตามที่คู่สัญญาตกลงกันหรือตามที่กฎหมายกำหนด
ข้อสังเกต
- การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป หากไม่มีหลักฐานหรือสัญญา หรือหนังสือสัญญาแต่อย่างใด ก็ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653)
- อัตราดอกเบี้ย ห้ามเกิน 15% ต่อปี (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาญิชย์ มาตรา 654 ) ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา หากมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี ให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ
นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้มีการคิดดอกเบี้ยแบบทบต้น เว้นแต่ เมื่อค้างชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าหนึ่งปี คู่สัญญาสามารถตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยทบเข้ากับเงินต้นแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ อย่างไรก็ตาม บางกรณีที่สามารถคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ อย่างเช่น สัญญาบัญชีเดินสะพัด หรือในการค้าขายอย่างอื่น ทำนองเดียวกัน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655)
สำหรับอายุความ การฟ้องร้องเรียกเงินตามสัญญากู้จะต้องกระทำภายในกำหนดอายุความ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระเงินคืน ดังนั้นการทำสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ให้กู้เงินและผู้ที่ขอกู้ หากมิได้ทำสัญญาผู้ให้กู้อาจจะไม่ได้รับเงินคืน และผู้ที่ขอกู้อาจจะเสียเปรียบในเรื่องของดอกเบี้ยและการชำระเงินคืนที่มากเกินไปได้ การทำสัญญาถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก
ขั้นตอนการทำสัญญากู้เงิน
อันที่จริงแล้วการทำสัญญากู้เงินคุณก็สามารถเขียนขึ้นมาเองได้ ไม่จำเป็นต้องไปซื้อตามร้านค้า หรือห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ก็ได้ เนื่องจากการทำสัญญากู้เงินนั้นมีรายละเอียดที่สำคัญอยู่ไม่กี่อย่าง คุณก็สามารถเขียนขึ้นใหม่ด้วยตัวของคุณเองก็ได้แต่ต้องมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- วันที่ที่ทำสัญญากู้เงิน
- ชื่อ ผู้ขอกู้เงินและผู้ให้กู้เงิน
- จำนวนเงินที่กู้
- กำหนดชำระ (จะมีหรือไม่มีก็ได้)
- ดอกเบี้ย (ไม่เกิน 15% ต่อปี หรือ 25% ต่อเดือน)
- ลายเซ็นต์ผู้กู้
- ลายเซ็นต์ผู้ให้กู้ (จะมีหรือไม่ก็ได้)
นอกจากนี้ หากคุณต้องการเขียนแบบเรียบง่าย ก็สามารถทำได้ เพียงคุณเขียนว่า นาย A ได้กู้ยืมเงิน นาย B เป็นจำนวนเงิน xxx บาท และลงชื่อนาย A ผู้กู้ อย่างนี้ ก็ถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้เงินแล้ว โดยหลักฐานแห่งการกู้เงิน สามารถเขียนได้ด้วยลายมือ หรือจากคอมพิวเตอร์ก็สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ การกู้ยืมเงินโดยมีการจำนองที่ดิน เป็นประกัน ไม่จำเป็นต้องทำสัญญากู้ก็ได้ และสามารถนำไปฟ้องคดีในกรณี ที่ผู้กู้ผิดนัดชำระได้เช่นเดียวกัน
ตัวอย่าง สัญญากู้เงิน
ในส่วนของผู้ค้ำประกัน เป็นการที่บุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้ และอาจเป็นบุคคลเดียวหรือหลายคน ก็ได้เข้ามาทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น โดยบุคคลภายนอกนี้เรียกว่า “ผู้ค้ำประกัน” ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 วรรค 2 บัญญัติว่า “สัญญาค้ำประกันถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใด อย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” สัญญาค้ำประกันต้องทำเป็นหนังสือว่าค้ำประกันใคร หนี้อะไร มีมูลค่าค้ำประกันเท่าใด ภายในเวลากำหนดอย่างไร ลงชื่อผู้ค้ำประกันแล้วมอบให้เจ้าหนี้ไว้เป็นหลักฐานสำคัญ
ตัวอย่าง สัญญาค้ำประกัน
ทั้งนี้การทำสัญญากู้เงินไว้เป็นหลักฐานก็เพื่อผลประโยชน์ของทั้งผู้ให้กู้และผู้ขอกู้ เพื่อไม่ให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบในการขอกู้เงินครั้งนี้ หากคุณเป็นผู้ขอกู้เงิน คุณจะต้องอ่านรายละเอียดให้ดี โดยเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยต่อปี เพื่อไม่ให้คุณจ่ายเงินคืนเกินจำนวน และสำหรับผู้ให้กู้ คุณจะได้ทำสัญญาให้ครบถ้วนเพื่อป้องกันหนี้สูญได้ ก่อนตัดสนใจทำสัญญากู้เงิน คุณจะต้องมั่นใจว่าสามารถคืนเงินที่กู้มาให้กับเจ้าหนี้ได้ครบถ้วนตามสัญญาในอนาคตได้ เพราะไม่อย่างนั้น คุณอาจจะต้องถูกฟ้องร้องและเสียเงินมากกว่าที่คุณคิดก็ได้
ดาวน์โหลดไฟล์ >ตัวอย่างสัญญากู้เงิน<