เงินทุน นับเป็นปัจจัยสำคัญของทุกอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพอิสระย่อมต้องใช้เงินในการลงทุนและเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินการทางธุรกิจ คนที่มีเงินทุนเพียงพอย่อมไม่มีปัญหาในทุกประการ แต่คนที่มีปัญหาเรื่องเงินทุนขาดมือ เงินไม่พอลงทุนคงต้องมองหาที่พึ่งอื่นใด ซึ่งก็หนีไม่พ้นสินเชื่อในระบบจากธนาคารต่าง ๆ
โอกาสในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อธุรกิจ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ทำงานประจำ โอกาสที่ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อก็จะง่ายกว่าเพราะมีความแน่นอนและมั่นคงมากกว่า แต่ถ้าหากคุณประกอบอาชีพอิสระคงจะต้องกุมขมับใช้ความคิดนิดนึงในการขอสินเชื่อกับธนาคาร เพราะการปล่อยสินเชื่อของธนาคารจะยากกว่าและมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เข้าข่ายจึงจะอนุมัติสินเชื่อได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าธนาคารจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้เลย แต่คุณต้องมีปัจจัยที่สามารถทำให้ธนาคารประเมินได้ว่าไม่อยู่ในภาวะเสี่ยงในการชำระหนี้คืน เรามาดูกันว่าหากต้องการให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจอย่างง่าย ๆ จะทำอย่างไรได้บ้าง
ข้อมูลผู้ประกอบอาชีพอิสระ
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เองที่มีอาชีพอิสระเกิดขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย ทั้งที่มีหน้าร้านหรือขายทางอินเตอร์เนต รวมถึงการให้บริการ การผลิตสินค้าต่าง ๆ จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2556 พบว่ามีแรงงานนอกระบบ โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระประมาณ 25 ล้านคน ซึ่งนับว่ามากกว่าแรงงานในระบบ และมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นทุกปี โดยอาชีพอิสระสามารถประสบความสำเร็จจนกลายเป็นวิสากิจขนาดกลายและขนาดย่อมสามารถเติบโตได้มาก
การเริ่มต้นในอาชีพอิสระ
การเริ่มต้นในอาชีพอิสระนั้นสามารถทำได้ไม่ยาก ก่อนอื่นคุณจะต้องหาจุดขายที่ตัวเองสนใจก่อน เช่น ความชำนาญ ความถนัด ที่ทำให้ธุรกิจได้เปรียบคู่แข่ง เมื่อค้นพบแล้ว จะเริ่มต้นอย่างไร และลงทุนเท่าไร คงต้องหันกลับไปดูว่าเงินในบัญชีของตนเพียงพอที่จะลงทุนหรือไม่ หากไม่พอ เห็นทีจะต้องทำเรื่องขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน กองทุนของรัฐ หรือการกู้เงินนอกระบบ เป็นต้น
จากผลการวิจัยของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เดือนธันวาคม 2557 รายงานว่าอาชีพที่ยื่นขออนุมัติเงินกู้และได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อาชีพการขายปลีก อาชีพการบริการด้านอาหารและเครื่องดื่มและอาชีพการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์
หลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์และพิจารณาปล่อยสินเชื่อธุรกิจ
ก่อนอื่นเรามาหาความรู้ว่าธนาคารที่จะปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจเขาพิจารณาปัจจัยผู้ขอกู้อย่างไรบ้าง
1.อุปนิสัยของผู้ขอกู้
ทางธนาคารต้องพิจารณาก่อนว่า ผู้ขอกู้นั้นมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้สำเร็จตามแผนที่เสนอกับธนาคารหรือไม่ และมีความสามารถในการจ่ายชำระคืนเงินกู้หรือไม ซึ่งทางธนาคารจะทำการเช็คประวัติผู้ขอกู้ทุกรายอย่างละเอียด
2.ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอกู้
ธนาคารจะดูความสามารถในการชำระหนี้โดยประเมินจากปัจจัยการลงทุนในธุรกิจ โดยดูจากแผนหรือโครงการที่จะขอกู้เงิน จำนวนเงินที่จะกู้และระยะเวลาการขอกู้ โดยธนาคารจะประเมินแผนหรือโครงการของผู้กู้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด มีรายได้ที่คาดว่าจะได้รับเพียงพอต่อการชำระหนี้เงินกู้หรือไม่ ผู้ประกอบอาชีพอิสระควรแสดงการฝากเงินเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เห็นถึงรายรับที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง หากทำตามนี้โอกาสที่จะได้พิจารณาสินเชื่อและผ่านการอนุมัติก็จะง่ายขึ้น
3.ส่วนของเงินทุน
สำหรับเงินทุนนั้น จะดูจาก 2 ส่วน คือ เงินที่ขอกู้กับเงินที่เราจะลงทุนเอง หากคุณขอกู้ด้วยเงินจำนวนที่สูง ธนาคารจะมองว่าเป็นโครงการที่มีความเสี่ยง แต่ถ้าคุณลงทุนเองส่วนหนึ่งและขอกู้ส่วนหนึ่ง ความเสี่ยงที่ธนาคารประเมินก็จะลดลงไปด้วย ธนาคารจะวิเคราะห์ในภาพรวมว่าเงินที่คุณขอกู้ไปกับเงินที่ลงทุนเองรวมกันแล้วจะสามารถทำให้ธุรกิจดำเนินไปด้วยดีหรือไม่ หากธนาคารมองว่ายังไม่เหมาะสมอาจพิจารณาไม่ผ่านการอนุมัติ
4.หลักประกัน
โดยส่วนใหญ่แทบทุกธนาคารมักจะต้องขอหลักประกันจากผู้ขอกู้สินเชื่อธุรกิจ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงอันจะเกิดกับธนาคารได้ แม้ว่าจะได้ประเมินปัจจัยต่าง ๆ ไปแล้วก็ตาม มูลค่าหลักประกันจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนเงินขอกู้หากวงเงินขอกู้สูงหลักประกันก็จะสูงตาม โดยส่วนใหญ่หลักประกันที่เป็นที่ยอมรับจากทุกธนาคาร คือที่ดิน เป็น
5.สถานการณ์ต่าง ๆ
เป็นการประเมินจากปัจจัยภายนอก ซึ่งธนาคารใช้ในการพิจารณานอกเหนือจากโครงการที่นำเสนอและข้อมูลของผู้ขอกู้แล้ว โดยจะดูจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ นโยบายของรัฐบาล ความผันผวนของตลาดในธุรกิจประเภทนั้น ๆ ของผู้กู้ รวมถึงความผันผวนของราคาวัตถุดิบ เพื่อประเมินความเสี่ยงอันอาจจะกระทบต่อธุรกิจของผู้ขอกู้ได้
ได้ทราบหลักเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อเพื่อธุรกิจของธนาคารกันแล้ว เวลาคุณจะเสนอโครงการหรือข้อมูลประกอบก็ต้องเตรียมไปให้ครบถ้วนและพร้อมในด้านเอกสาร เมื่อได้รับอนุมัติเงินกู้แล้ว การผ่อนชำระต้องกระทำอย่างเคร่งครัด เพื่อที่จะได้ลดต้นลดดอก อย่างน้อยต้องชำระเงินกู้ให้พอกับยอดดอกเบี้ย ไม่เช่นนั้นจะเป็นดอกเบี้ยทบต้นทันที พูดง่าย ๆ คือมีวินัยในการส่งใช้คืนเงินกู้นั่นเอง อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการธุรกิจให้มีผลกำไรจะทำให้คุณไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินมาส่งกับธนาคารหรือหมุนไม่ทัน เมื่อขอสินเชื่อได้แล้วก็ต้องมาบริหารธุรกิจของตนให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
อ่านเพิ่มเติม : 7เหตุผลที่ ธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อเพื่อการลงทุนทางธุรกิจ
หากคุณกำลังคิดทำธุรกิจอิสระ และต้องการใช้บริการสินเชื่อในระบบ การได้ทราบแนวทางขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ จะทำให้คุณมีความพร้อมในการเตรียมตัวและเตรียมเอกสารที่ชนะใจธนาคารสามารถอนุมัติเงินกู้ที่คุณต้องการได้ และหากคุณมีประวัติการผ่อนชำระที่ดี เครดิตก็จะดีไปด้วย โอกาสหน้าอาจได้รับการเพิ่มวงเงินให้กู้ที่มากกว่าเดิมอีกด้วย