สังคมของคนเป็นสังคมที่สับสน วุ่นวาย ซับซ้อนที่สุดในบรรดาสิ่งมีชีวิตบนโลก ยิ่งปัจจุบันคนมากขึ้น มีข้อมูล มีวัตถุ ที่เป็นผลผลิตมากมาย จนล้น เกินความต้องการ บางครั้งกลับเป็นตัวคนเองที่ไม่รู้ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ สำหรับการดำรงชีวิต ไม่รู้ว่าต้องยึดหลักอะไรในการใช้ชีวิต เพราะทุกวันนี้สังคมของคนไร้กรอบ ไร้พรมแดน มีแนวการใช้ชีวิตหลายร้อยพันแนวทาง ผสม ประยุกต์ปนกันไปหมด จนบางคนสับสนกับชีวิตตัวเอง และก้าวย่างต่อไปอย่างยากลำบาก และเมื่อสับสนมากๆเข้า ก็อาจทำให้สุขภาพจิตไม่ดี เกิดเป็นโรคทางใจขึ้นมาได้
หากตอนนี้เรากำลังสับสน ไม่รู้ว่าตัวเองดำรงชีวิตปกติ ถูกต้องดีไหม ลองสำรวจตัวเองดูได้จากที่นายแพทย์สมพร บุษราทิจ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า คนที่มีสุขภาพจิตดี มักมีดี 4 อย่างคือ สุขภาพดี มีเงินใช้ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีคนรัก หากใครมีดีทั้ง 4 อย่างนี้ครบ ก็ยินดีด้วย คุณเป็นคนโชคดี มีความสุขคนหนึ่งเลยเชียว
เรื่องของสุขภาพดี ดูง่าย แค่ไปหาหมอ ตรวจร่างกาย ถ้าไม่เจ็บไม่ป่วย ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงตามอายุ ก็นับว่าเป็นคนสุขภาพดีแล้ว การได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็ดูจากที่อยู่อาศัย คนในครอบครัว เพื่อนฝูง ที่ทำงาน ความสะอาด เรียกว่ากินดีอยู่ดี ก็จัดว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีแล้ว มีคนรักก็ดูไม่ยาก อย่างน้อยก็มี แม่ พ่อ น้อง พี่ เพื่อนสนิท มิตรสหาย แฟน สามี ภรรยา ที่รักเรา แต่ข้อที่เป็นปัญหาคือ มีเงินใช้ นั่นสิต้องรวยรึเปล่า ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจัดว่าเข้าเกณฑ์มีเงินใช้ คนส่วนใหญ่สุขภาพจิตไม่ดี ก็เพราะไม่มีเงินใช้นี่แหละ
ให้เกณฑ์ไว้ง่ายๆว่า มีเงินใช้นั้นหมายความถึง มีเงินใช้ไม่ขาดมือเมื่อจำเป็น ไม่ได้แปลว่าต้องร่ำรวยมีเงินเป็นร้อนล้าน พันล้าน ความจำเป็นนั้นก็ให้เป็นความจำเป็นจริงๆตามสามัญสำนึก ตามชาวบ้านชาวช่องเขากินเขาใช้กัน จะเกินเลยบ้างก็พองาม คนที่มีเงินใช้เสมอ มักจะเป็นคนที่มีรายได้แบบน้ำซึมบ่อทราย คือมีน้ำไหลเข้า มากกว่าน้ำไหลออก ถ้าเป็นเงินก็มีเงินเข้ามา มากกว่าไหลออกไป ต้องมีรายรับมากกว่ารายจ่ายนั่นเอง ปัญหาจะเกิดก็ต้องอยากจะได้ข้าวของที่ต้องนำเงินในอนาคตมาซื้อ มายืมใช้ก่อน สถานะการเงินก็จะเริ่มเสียสมดุลถ้าเราไม่รู้จักควบคุมความอยาก คนที่มีวินัย แค่บวกลบเลขเป็น ก็จะเห็นแล้วว่า สิ่งที่อยากได้มีมากเกินกว่าเงินที่ไหลเข้าหรือยัง ถ้าเกินแล้วหรือใกล้เกินแล้ว เราก็ต้องหยุด ต้องตัดใจ ชะลอการอยากได้นั้นไปก่อน เงินเราก็จะเหลือ
แต่ลำพังการใช้จ่ายให้น้อยกว่าที่หามาได้ ยังไม่เพียงพอต่อนิยามคำที่ว่ามีเงินใช้ไม่ขาดมือ เพราะเรายังไม่การออมเงิน ยังไม่ได้เตรียมเงินไว้ยามเจ็บป่วย หรือเหตุไม่คาดฝัน เมื่อหาเงินมาได้ ต้องจัดการแบ่งเงินออกเป็น 4 ส่วน คือ
- หนึ่งแบ่งไว้ใช้ ใช้กิน ใช้อยู่ จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าหมอ เป็นต้น
- ส่วนที่สองแบ่งไว้เก็บเป็นเงินออม เผื่อมีเรื่องฉุกเฉินก็จะเอาเงินก้อนนี้มาใช้ได้ ไม่ต้องไปยืมใครๆ
- ส่วนที่สาม แบ่งออกมาใช้เที่ยว ใช้เพื่อความบันเทิง ให้ของขวัญให้รางวัลตัวเองก็นำเงินส่วนนี้มาใช้
- ส่วนที่สี่คือ กันไว้เพื่อนำไปลงทุน เพราะอย่าลืมว่าค่าของเงินจะเสื่อมลงเรื่อยๆ
ตัวอย่างเช่น เมื่อสิบปีที่แล้ว ข้าวกระเพราไข่ดาว 30 บาท ตอนนี้ 40 บาทยังหากินไม่ค่อยได้ อีก 20 ปีข้างหน้า ข้าวกระเพราไข่ดาวอาจมีราคา 100 บาทก็ได้ เพราะเป็นธรรมชาติของเงินที่มันจะเล็กลง หรือที่เรียกว่า ภาวะเงินเฟ้อนั่นเอง การลงทุนบางอย่างช่วยแก้เงินเฟ้อได้ จะเป็นอะไรคงต้องไปศึกษาหาความรู้กันต่อไป