เมื่อถึงยุคที่เศรษฐกิจไม่ดีบริษัทห้างร้านต่างก็ต้องประสบกับภาวะขาดทุนกันให้ได้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง บริษัทบางแห่งก็ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการฟุบตัวของเศรษฐกิจ ก็ต้องปิดตัวกันไป ส่วนบริษัทบางแห่งที่ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ก็เป็นเพราะหาทางปรับตัว ดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดได้ภายใต้ภาวการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยเช่นนี้ หนึ่งในการปรับตัวที่บริษัทห้างร้านต่าง ๆ มักเลือกที่จะทำก็คือการปรับลดพนักงาน เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ออเดอร์การสั่งสินค้าจากลูกค้าไม่มากเหมือนเคย การผลิตสินค้าและบริการของห้างร้านก็ต้องน้อยลงไปด้วย จำนวนพนักงานที่บริษัทเคยมีก็จึงดูเหมือนว่าจะมากเกินไป ทำให้บริษัทต้องปรับลดต้นทุนในส่วนของพนักงานลงด้วย
การปรับลดจำนวนพนักงานลงนี้เป็นการตัดสินใจของบริษัทที่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของพนักงานโดยตรงแต่อย่างใด รูปแบบของการปรับลดพนักงานนี้บริษัทสามารถทำได้ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ หนึ่งเลิกจ้างและสองให้ลูกจ้างสมัครใจลาออกเอง เรามาดูกันค่ะว่าสองแบบนี้มีข้อเหมือนหรือข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
เลิกจ้าง
หากบริษัทบอกเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องมาจากไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง แต่เป็นเพราะภาวะทางเศรษฐกิจนั้น บริษัทจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างด้วย โดยส่วนที่บริษัทจะต้องจ่ายนั้นเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรค 2 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 คือ
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่า 30 วันของค่าจ้าง
- ลูกจ้างที่มีอายูงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่า 90 วันของค่าจ้าง
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่า 180 วันของค่าจ้าง
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่า 240 วันของค่าจ้าง
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10 ปีขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่า 300 วันของค่าจ้าง
โดยมีข้อยกเว้นต่อไปนี้ที่บริษัทจะไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายนี้แก่ลูกจ้าง คือ
-
ลูกจ้างลาออกเองโดยสมัครใจ
-
สัญญาว่าจ้างมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน และการเลิกจ้างนั้นเป็นเพราะสิ้นสุดตามกำหนดในสัญญา โดยการจ้างงานแบบมีกำหนดระยะเวลานี้จะต้องไม่เป็นงานปกติของธุรกิจ เช่น งานค้นคว้าทดลองวิจัย งานซ่อมแซมหรือรับเหมาก่อสร้าง หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาล
นอกจากเงินชดเชยที่บริษัทจะจ่ายให้กับพนักงานกรณีถูกเลิกจ้างในอัตราที่กำหนดตามกฎหมายแรงงานอย่างที่ว่าไว้ข้างต้นแล้ว ลูกจ้างที่ถูกบริษัทเลิกจ้างยังมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมด้วยในช่วงที่ว่างงานอยู่ ก่อนที่จะหางานใหม่ได้ โดยข้อกำหนดของประกันสังคมได้กำหนดไว้ถึงเงินชดเชยในกรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้างไว้ว่า เงินชดเชยที่ประกันสังคมจะจ่ายให้นั้นจะจ่ายให้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ไม่เกินปีละ 180 วัน
ลาออกเองโดยสมัครใจ
บริษัทโดยมากเมื่อถึงคราวต้องปรับลดพนักงานเพราะเหตุผลในเรื่องของเศรษฐกิจนั้น จึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้การเลิกจ้างเนื่องจากจะเข้าข่ายต้องจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด การพูดคุยทำความเข้าใจกับพนักงานเพื่อให้สมัครใจเข้าร่วมโครงการเพื่อลาออกเองจึงถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งของบริษัท โดยถึงแม้เป็นการให้ลาออกเองโดยสมัครใจนั้นบริษัทก็จะมักจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ต้องถึงอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้
ส่วนในเรื่องของสิทธิของเงินชดเชยกรณีว่างงานที่จะได้รับจากประกันสังคมนั้น ข้อกำหนดในประกันสังคมได้ระบุไว้ว่ากรณีที่ลาออกเองหรือสิ้นสุดการจ้างงานแบบมีกำหนดระยะเวลา ลูกจ้างมีสิทธิขอรับเงินชดเชยกรณีว่างงาน ก่อนที่จะหางานใหม่ได้เช่นเดียวกัน แต่สิทธิที่ได้รับจะไม่เท่ากับกรณีถูกเลิกจ้าง คือจะได้รับเพียงแค่อัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และได้รับไม่เกินปีละ 90 วันเท่านั้น
จะเห็นว่ากรณีลาออกเองนี้เงินชดเชยทั้งที่ได้รับจากบริษัทและประกันสังคมจะไม่ได้เท่ากับกรณีถูกเลิกจ้าง ทำให้หลายฝ่ายออกมาท้วงติงในเรื่องของการที่บริษัทให้พนักงานลาออกเองโดยสมัครใจทั้งที่จริงเป็นความต้องการในการลดพนักงานของบริษัทว่าเป็นการทำให้เงินชดเชยที่พนักงานจะได้รับนั้นลดลงไปมาก แม้แต่ภายในประกันสังคมเองก็ยังมีการถกเถียงกันในเรื่องนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานกว่า 5 ปีแล้ว มีบางฝ่ายเห็นว่าการที่บริษัทสมัครใจให้พนักงานลาออกควรมองว่าเป็นการเลิกจ้าง ในขณะที่บางฝ่ายก็เห็นว่าเนื่องจากลูกจ้างเป็นคนสมัครใจลาออกเองด้วย จึงควรถือว่าเป็นกรณีลาออกเอง
ณ ตอนนั้นจึงมีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในเรื่องดังกล่าว และทางคณะกรรมการก็ได้มีความเห็นว่า เนื่องจากโครงการสมัครใจลาออกเองของพนักงานนั้นเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างบริษัทและพนักงานไม่ใช่เป็นอำนาจของนายจ้างในการบอกเลิกจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว คือได้มีการพูดคุยทำความตกลงกันมาก่อนแล้ว กฎหมายการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรค 2 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ให้บริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานตามกฎหมายจึงไม่สามารถนำมาใช้ได้กับกรณีนี้
ส่วนเรื่องของเงินกรณีว่างงานจากประกันสังคมนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความเอาไว้ว่า กรณีของการสมัครเข้าโครงการลาออกเองโดยสมัครใจนั้นไม่ได้เกิดจากการที่บริษัทบอกเลิกจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือลูกจ้างตัดสินใจลาออกเอง หรือเป็นการสิ้นสุดระยะเวลาการว่าจ้าง คือเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจน กรณีจึงจำเป็นต้องตีความโดยใช้เจตนารมณ์ของการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้นมา เพื่อเป็นหลักประกันให้กับลูกจ้าง และโดยวัตถุประสงค์ของการที่บริษัทมีโครงการให้ลูกจ้างสมัครใจลาออกเองนั้น ก็เพื่อเป็นการปรับลดพนักงานลง ดังนั้นสิทธิของการรับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากการเข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออกเองนั้น ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเท่ากับกรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง คือได้รับเงินชดเชยในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ปีละไม่เกิน 180 วัน
อ้างอิง