ในยุคสมัยนี้ ผู้คนให้ความสนใจกับการลงทุนกันมากขึ้น ทั้งการลงทุนทางตรง (ทำธุรกิจส่วนตัว) และการลงทุนทางอ้อม (ผ่านตลาดการเงินต่าง ๆ เช่น การลงทุนในหุ้น กองทุน เป็นต้น) และเมื่อมีผู้ลงทุนเป็นจำนวนมาก ก็ย่อมทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้นตามไปด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นคนประสบความสำเร็จมีจำนวนน้อยกว่าคนที่ล้มเหลวอยู่มาก
บ่อยครั้งเมื่อจะเริ่มต้นลงทุน นักลงทุน มักจะให้ความสนใจไปที่เงินทุนเป็นอันดับแรก .. เดี๋ยวพอมีเงินชั้นจะลงทุนทำนั่นทำนี่เต็มไปหมด… แต่ที่น่าสนใจคือ แล้วพอมีเงินทุนขึ้นมาจริง ๆ พวกเขาสามารถใช้เงินนั้นลงทุนจนประสบความสำเร็จได้จริง ๆ รึเปล่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีเงินทุนตั้งต้นมากมาย แต่สุดท้ายกิจการก็ไปไม่รอด … ถ้าอย่างนั้น เงินทุน ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ต้องให้ความสนใจสินะ … แล้วอะไรล่ะ ที่เราควรให้ความสำคัญก่อนจะเริ่มลงทุน
ลงทุนในเวลา
ความแตกต่างอันดับต้น ๆ ของคนที่ประสบความสำเร็จ กับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ คือการให้ความสำคัญกับการ”ลงทุน” ในแง่มุมที่ต่างกัน คนประเภทแรกจะให้ความสำคัญกับการ “ลงทุนในเวลา” มากกว่าเรื่องของ “เงินทุน”
ยกตัวอย่าง มีคน 3 คนอยากเปิดร้านกาแฟเหมือนกัน แต่ยังไม่มีเงินทุน
A: ยังไม่มีเงิน งั้นเอาไว้ก่อนแล้วกัน เดี๋ยวมีเงินเมื่อไหร่ค่อยว่ากัน
B: ยังไม่มีเงิน งั้นหาความรู้ไว้ก่อน เผื่อตอนไหนมีเงินขึ้นมา จะได้ลงมือทันที
C: ยังไม่มีเงิน งั้นเดี๋ยวไปสมัครเป็นลูกจ้างร้านกาแฟช่วงเสาร์อาทิตย์ละกัน ได้ทั้งเงินและประสบการณ์ ระหว่างนี้ก็หาเวลาพบปะกลุ่มคนที่ชอบกาแฟเหมือนๆ กันไปด้วย เผื่อจะได้ไอเดีย หรืออาจจะมาเป็นหุ้นส่วนกันในอนาคตก็ได้
จากตัวอย่างก็เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งสามคนมีความฝันเหมือนกัน มีเงินทุนในการเริ่มต้นกิจการต่ำเหมือน กัน แต่ดูก็รู้ว่าใครมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า … ยิ่งให้เวลากับสิ่งไหนมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเข้าใกล้สิ่งนั้นมากเท่านั้น …
สำหรับคนที่มีเงินทุนอยู่แล้ว ก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก แม้เขาจะสามารถใช้เงินเพื่อจ้างคนที่มีความรู้ความสามารถมาสร้างธุรกิจให้ได้ แต่หากตัวเองไม่ลงทุนในเวลาเพื่อศึกษาความรู้ในธุรกิจ และวิธีการควบคุมบริหารคนให้ดีพอ ก็อาจถูกโกง ถูกยึดกิจการ หรือคนเก่ง ๆ อาจลาออกไปอยู่ที่อื่นเพราะไม่อยากอยู่กับเจ้าของที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวก็เป็นได้ และสุดท้ายธุรกิจก็ไปไม่รอดอยู่ดี
ดื้อแต่เรียนรู้
หากลองสังเกตุดูให้ดีจะเห็นว่าคนที่ประสบความสำเร็จแบบสุดๆ ส่วนใหญ่ มักจะเป็นคน 2 ประเภท ดังนี้
- คนที่ไม่มีอะไรจะเสีย เช่นคนที่มีพื้นฐานครอบครัวที่ยากจน หรือจบไม่สูงมากนัก หากไม่ทำอะไรเลย อาจจะต้องลำบากไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงต้องหาทางทำอะไรซักอย่างเพื่อให้มีโอกาสได้หลุดออกไปจากความยากลำบากที่เป็นอยู่
- คนที่มีพื้นฐานมากจากชนชั้นกลาง หรือกลุ่มคนที่ทำงานอยู่ใน comfort zone ที่มีความเชื่ออย่างแรงกล้าในสิ่งที่อยากจะทำ คนกลุ่มนี้จะมีความมั่นใจในการลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ และไม่ยอมให้คำวิจารณ์หรืออุปสรรคทั้งหลายมาทำลายความมุ่งมั่นนั้นเด็ดขาด คนประเภทนี้ หลาย ๆ ครั้งอาจถูกมองจากคนภายนอกว่าเป็นคน “ดื้อ” แต่ความดื้อนั้น สุดท้ายจะกลายเป็นความ”เจ๋ง” หากปลายทางคือความสำเร็จ
… คนดื้อมีเยอะ แต่จะดื้อจนกลายเป็นเจ๋งได้ต้องดื้อแบบยอมรับความจริง กล่าวคือ หากเมื่อไหร่ที่ล้มจะต้องเรียนรู้และพัฒนา หรือที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ ให้ล้มไปข้างหน้านั่นเอง
ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ไม่ได้รวยเพราะฟลุ๊คสร้างเวบแล้วดัง เบื้องหลังเค้าเป็นคนที่ชอบเขียนโปรแกรม ทดลองทำเวบทำโปรแกรมมาแล้วมากมาย ประสบการณ์ทำให้เห็นข้อบกพร่องต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดการพัฒนา
คุณต๊อบ เฒ่าแก่น้อย ไม่ได้รวยจากการที่มีคนรุมซื้อสาหร่ายเฒ่าแก่น้อยในชั่วข้ามคืน ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ได้ เขาได้ศึกษา หาความรู้เกี่ยวกับสาหร่ายมาอย่างหนัก ลองผิดลองถูก ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง และเจออุปมาแล้วสรรคมากมาย
ดร.นิเวศน์ เซียนหุ้น ก็ไม่ได้รวยเพราะซื้อหุ้นตาม ๆ คนอื่น เค้าต้องใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้า กว่าจะเลือกหุ้นแต่ละตัวต้องใช้การวิเคราะห์มากมาย