มีคนพยายามทำความเข้าใจในเรื่องของเงินกับความสุขมานาน ว่าที่จริงแล้วมันเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ถึงขนาดมีคนมากมายทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของเงินและความสุข โดยพยายามหาตัวชี้วัดต่าง ๆ นานา เพื่อมาวัดความสุขของคนเรากัน ล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีผลของงานวิจัยชิ้นหนึ่งออกมา ซึ่งถือเป็นงานวิจัยที่มีระยะเวลาในการทำวิจัยที่ยาวนานมาก นานถึง 75 ปีเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นงานวิจัยที่ติดตามผลของการวิจัยแทบจะตลอดช่วงชีวิตของผู้ถูกวิจัยบนบางคนไม่มีโอกาสมีชีวิตอยู่ถึงการได้รับรู้ผลวิจัยเลยด้วยซ้ำไป
การวิจัยนี้มีชื่อว่า Harvard Study of Adult Development เป็นการติดตามศึกษาชีวิตของวัยรุ่น 2 กลุ่ม
- กลุ่มแรกเป็นนักศึกษาผู้ชายชั้นปีที่ 2 ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด จำนวน 268 คน
- กลุ่มที่ 2 เป็นวัยรุ่นทั่วไปที่เติบโตขึ้นมาแบบตามมีตามเกิดในเมืองบอสตัน จำนวน 456 คน
ทุก 2 ปีจะมีการติดตามสอบถามความพึงพอใจทั้งเรื่องงาน ครอบครัว สังคมและชีวิตส่วนอื่น ๆ ตลอดระยะเวลาที่ทำการวิจัยนี้ ผู้ติดตามการวิจัยก็ได้เห็นถึงพัฒนาการของทุกคนตั้งแต่เรียนจบ ทำงาน เลื่อนตำแหน่ง ประสบความสำเร็จ ร่ำรวย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนมีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จและบางคนล้มเหลวถึงกับติดเหล้าเมายาเลยก็มี
ถึงปัจจุบันที่เป็นการสรุปผลวิจัยมีจากทั้งหมด 724 คน ผู้ถูกวิจัยเหลืออยู่เพียง 60 คนเท่านั้นที่ได้รับรู้ผลวิจัยของตนเอง โดยข้อสรุป ก็คือ เงินทอง ความร่ำรวยและการมีชื่อเสียงในสังคมไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายของคำว่าความสุข สิ่งที่เป็นคำตอบสุดท้ายของชีวิตที่มีความสุขกลับเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างต่างหากที่จะสร้างความสุขได้อย่างแท้จริง จากผลการวิจัยนี้ทำให้เราทราบว่าเงินทองไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายของความสุขด้วย
ทีนี้เรากลับมาที่โลกแห่งความเป็นจริงกันบ้าง ก็เรื่องเงินกับความสุขของเรา หากคำถามคือเงินไม่สามารถซื้อความสุขได้จริงหรือ คำตอบก็คงเป็นว่าไม่จริง เงินสามารถซื้อความสุขให้คนเราได้ เราสามารถมีบ้านที่ใหญ่โตสะดวกสบายมีรถยนต์ขับไว้อำนวยความสะดวก ไม่ต้องนั่งรถเมล์หรือมอเตอร์ไซด์รับจ้าง มีอาหารการกินที่อร่อย อยากกินอะไรก็สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องราคาว่าจะแพงหรือไม่ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รองเท้ากระเป๋าที่สวยงามสร้างความสุขให้เราก็ต้องใช้เงินซื้อทั้งนั้น กิจกรรมสร้างความสุขใจวันหยุด อย่างเช่น การไปดูหนัง การไปทำกิจกรรมต่าง ๆ พักผ่อนต่างจังหวัด ไปเล่นไอซ์สเก็ต ไปสวนน้ำสวนสนุก ต่างก็ต้องใช้เงินซื้อทั้งสิ้น การมีเงินก็ย่อมต้องดีกว่าไม่มีเงินอย่างแน่นอน เพราะเงินเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้สิ่งที่ต้องการเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องกังวล
แต่หากคำถามคือเงินสามารถซื้อความสุขได้ทุกอย่างหรือไม่ คำตอบน่าจะเป็นในทางตรงข้าม เงินซื้อความสุขได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น คนที่จนมากไม่มีเงินเลยหรือเป็นหนี้ย่อมต้องไม่มีความสุขอย่างแน่นอน เพราะความเครียดกังวลที่เกิดจากการต้องทำงานหาเงินมาใช้หนี้ หรือให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เป็นแค่ค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิตประจำวันเท่านั้น ยังไม่นับเงินที่จะซื้อกิจกรรมที่สร้างความสุขได้ แต่เมื่อเรามีเงินในระดับหนึ่งเราก็จะได้รับความสุขที่พอเพียงในระดับหนึ่งด้วย คนที่เป็นมหาเศรษฐีมีเงินเป็นพันล้านไม่ได้แปลว่าเขาจะมีความสุขไปมากกว่าคนที่มีฐานะปานกลางที่มีเงินทองพอกินพอใช้ เชื่อไหมคะ แม้เราจะคิดว่าหากเรามีเงินมากกว่านี้เราก็น่าจะมีความสุขมากกว่านี้ แต่เมื่อเรามีเงินมากกว่านี้จริง ๆ ความสุขของเราก็อาจจะไม่ได้มากไปกว่านี้ก็ได้ แถมอาจมีเรื่องที่ทำให้เป็นทุกข์ที่เกิดจากเงินได้เหมือนกัน
หากใครที่เห็นเงินเป็นเรื่องใหญ่จนลืมนึกถึงเรื่องอื่น ๆ ของชีวิตไป เงินนั้นก็อาจจะไม่ได้สร้างความสุขได้ คนในครอบครัวเราไม่ได้ต้องการเพียงแค่เงินเท่านั้น แต่เขาอาจต้องการเวลา ต้องการความใส่ใจ ต้องการการใช้เวลาร่วมกัน เสียงหัวเราะ การพูดคุย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต่างหากที่จะช่วยเสริมสร้างความสุขที่แท้จริงให้ได้นอกเหนือจากเรื่องเงิน เงินที่เราใช้ซื้อของนอกกาย อาหารอร่อย เสื้อผ้า รถยนต์ บ้าน ความสุขนั้นเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืนเพราะเมื่อเราดีใจมีความสุขในวันแรกที่เราได้เป็นเจ้าของ แล้วทุกอย่างก็จบไป เมื่อพ้นเป็นวันใหม่ความสุขนั้นก็จางหายไปแล้ว เราก็ต้องการความสุขใหม่ ๆ อีก ลองสังเกตใจของเราดูว่าเป็นแบบนั้นจริง ๆ
แต่ความสุขที่เกิดจากความอิ่มเอมใจ เช่น การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง การมีครอบครัวที่อบอุ่น เข้าใจกัน การมีพี่น้องที่ใส่ใจดูแลไม่ทิ้งห่าง การที่ลูกเชื่อฟังรู้จักดูแลตัวเอง การที่สามีภรรยารักใคร่กลมเกลียว ไม่ทะเลาะเบาะแว้งหรือนอกใจกัน สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะเป็นความสุขอย่างยั่งยืนที่เงินอาจจะซื้อไม่ได้ เงินไม่ได้เป็นสิ่งรับประกันเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ความมีน้ำจิตน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี ต่างหากที่คนในสังคมเขาโหยหามากกว่าเรื่องเงิน
อยากให้ลองไปถามพ่อแม่ที่มีอายุมาก ๆ ว่าความสุขของเขาคืออะไร แน่นอนว่าเขาคงไม่ได้ต้องการให้ลูกให้เงินทองมากมาย แต่สิ่งที่พ่อแม่ต้องการก็คือเวลา อาจเป็นเวลาเพียงเล็กน้อยที่ได้พูดคุยกันในแต่ละวัน เวลาที่จะได้รับประทานข้าวด้วยกันอย่างน้อยก็วันละมื้อ
พ่อแม่ทุกคนย่อมต้องเป็นห่วงลูกก็พยายามทำงานหนักหาเงินหาทอง เพื่อให้ลูกอยู่อย่างสบายไม่ต้องลำบากเหมือนกับตัวเอง แต่ความสุขที่แท้จริงที่ลูกต้องการได้รับกลับไม่ใช่เรื่องเงินทอง แต่เป็นเรื่องเวลา ความสัมพันธ์ เสียงหัวเราะและความใส่ใจที่พ่อแม่จะมีให้กับเขามากกว่า หากครอบครัวเราไม่ได้ร่ำรวยถามว่าเราเคยโทษพ่อแม่ของเราหรือไม่คะ แน่นอนว่าต้องไม่ เพราะโอกาสของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากพ่อแม่เราประกอบอาชีพสุจริตไม่เคยเอารัดเอาเปรียบใคร ขยันหมั่นเพียร จนมีฐานะพอกินพอใช้ แต่ไม่ได้ร่ำรวยมีเงินส่งลูกเรียนจบเพื่อมีงานทำที่มั่นคง แค่นี้ก็เพียงพอที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำดีที่สุดได้ ลูกของเราก็เช่นเดียวกัน เขาไม่มีทางที่จะโทษพ่อแม่ว่าทำไมถึงไม่รวยเหมือนคนอื่น เมื่อโตขึ้นเขาจะต้องเข้าใจชีวิตและเวลาและความสุขที่เราพ่อแม่ให้เขาในวัยเด็กต่างหาก ที่จะเป็นเกราะป้องกันให้เขาสามารถดำเนินชีวิตไปได้รอดและปลอดภัย โดยที่เราในฐานะพ่อแม่นั่น ก็คือ ความสุขที่แท้จริงเช่นเดียวกัน
โดยสรุปก็คือเงินสามารถสร้างความสุขได้ แต่เป็นความสุขในระดับหนึ่งเท่านั้น นอกจากเงินแล้วยังต้องมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่จะทำให้ชีวิตของเรามีความสุขได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น เราก็ต้องอย่าลืมมัวแต่ทำงานหาเงินจนลืมหาความสุขในชีวิตกันด้วย
อ้างอิง http://www.catdumb.com/longest-harvard-study-75-years-290/