การซื้อประกันภัยโดยเฉพาะประกันชีวิตที่จะต้องมีการจ่ายในระยะยาว บางครั้งผู้ขอประกันภัยอาจจะมีความจำเป็นด้านการเงิน หรือ ได้รับเงินเพิ่มขึ้น ทำให้ลูกค้าอาจจะต้องการบริหารจัดการกรมธรรม์ที่มีอยู่เดิมให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันของตัวเอง วันนี้เราขอแนะนำการเพิ่ม-ลดทุนประกันก็แล้ว บางคนอ่านแล้วอาจจะต้องพูดว่า อย่างนี้ก็ได้เหรอ — ได้อยู่แล้ววันนี้จะพาไปรู้จัก
การเพิ่ม-ลดทุนประกันคืออะไร
ก่อนอื่นเลยเรามารู้จักความหมายของการเพิ่ม-ลดทุนประกันดีกว่าว่าคืออะไร สิ่งนี้ก็คือ การขอเพิ่ม-ลดวงเงินสำหรับการเอาประกันภัยในกรณีที่เสียชีวิต จากเดิมที่เคยตั้งไว้จำนวนหนึ่งอาจจะต้องการความคุ้มครองมากขึ้น หรือ ลดความคุ้มครองลงก็สามารถทำได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ตัวอย่างการเพิ่ม-ลดทุนประกัน
ตัวอย่างการเพิ่ม-ลดทุนประกัน ตัวอย่างแรก นาย ก. มีอาชีพรับราชการ อายุ 40 ปี แต่เดิมทำประกันชีวิตไว้ 1 กรมธรรม์โดยมีวงเงินสินไหมค่าตอบแทนอยู่ที่ 200,000 บาท ต่อมา นาย ก. ต้องการเพิ่มวงเงินสินไหมทดแทนเป็น 300,000 บาทก็สามารถเพิ่มได้โดยติดต่อตัวแทนที่ดูแลอยู่ หรือในทางกลับกัน นาย ก. อยากจะลดความคุ้มครองลงเหลือเพียงแค่ 100,000 บาทก็ทำได้ เพื่อลดค่าเบี้ยประกันเหล่านี้เป็นต้น
ก่อนจะเพิ่ม-ลดทุนประกัน ปรึกษาตัวแทนก่อน
อย่างหนึ่งที่เจ้าของกรมธรรม์อย่างเราต้องเข้าใจก็คือ การเพิ่ม-ลดทุนประกันภัย หรือ ประกันชีวิตนั้น ไม่สามารถทำได้เลย เนื่องจากการเพิ่ม-ลดทุนประกันนั้นจะมีเรื่องของกฎหมายและค่าตอบแทนมาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นก่อนจะทำการเพิ่มหรือลดทุนประกัน ควรปรึกษานายหน้าที่เป็นผู้ดูแลเราในกรมธรรม์นั้นก่อนว่าทำได้หรือไม่อย่างไร (ส่วนใหญ่เค้าจะยินดีที่เราขอเพิ่ม แต่ไม่ยินดีที่เราขอลดแน่นอน แต่ถ้าเรายืนยันตัวแทนก็ต้องยอมตาม)
เงื่อนไขการเพิ่มทุนประกัน
เมื่อกี้เกริ่นไปคร่าวๆแล้วว่า การเพิ่ม-ลดทุนประกันนั้นไม่ใช่จะเพิ่มกันได้เลยปุ๊บปับ เพราะมันมีเงื่อนไขอยู่ อย่างการขอเพิ่มทุนประกันนั้น สิ่งที่สำคัญเลยก็คือ เรื่องของการตรวจสุขภาพ เราต้องมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์เค้าถึงจะยอมให้เพิ่มทุน เพื่อป้องกันคนที่ไม่สบาย แล้วมาขอเพิ่มทุนประกัน แล้วก็ตายไป (อย่างนี้บริษัทประกันก็แย่) นอกจากนั้นก็จะมีเรื่องอื่นๆด้วย เช่น อาชีพและที่ทำงาน จากเดิมทำงานไม่ค่อยเสี่ยงเปลี่ยนไปทำงานเสี่ยงอันตรายมากขึ้น แล้วมาขอเพิ่มทุนประกัน อย่างนี้ไม่ค่อยได้แน่นอน (บริษัทได้รับความเสี่ยงเพิ่มไม่คุ้มกัน)
เงื่อนไขการลดทุนประกัน
การเพิ่มว่ายุ่งยากแล้ว การขอลดทุนประกันยิ่งดูยุ่งยากกว่าอีก เพราะจะมีเรื่องของเงินปันผล และรายได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เงื่อนไขการลดทุนประกันนั้น หนึ่งทุนประกันที่ขอลดจะต้องไม่น้อยกว่าขั้นต่ำของประกันภัยนั้น อย่างเช่น ตัวอย่าง นาย ก. ด้านบน หากขอลดทุนประกันก็จะได้น้อยที่สุดคือ 100,000 บาท น้อยกว่านี้ไม่ได้เนื่องจากประกันตั้งวงเงินสินไหมทดแทนต่ำสุดไว้ที่ 100,000 บาท สองหากเรามีหนี้สินเกี่ยวกับการกู้กรมธรรม์ของตัวเอง ต้องเคลียร์หนี้ก่อนจึงจะขอลดทุนประกันได้ สามหากรมธรรม์ของเรามีเรื่องของการปันผลแล้ว จะต้องขอลดภายในระยะเวลาที่กำหนด(พูดง่ายๆคือก่อนชำระเบี้ยรอบถัดไป) หากเกินกว่านั้นจะไม่สามารถขอลดทุนได้ หรือ อาจจะต้องเปลี่ยนสภาพของกรมธรรม์ไปแทน
ข้อดีข้อเสียของการเพิ่มทุนประกัน
การเพิ่ม-ลดทุนประกันนั้น มีข้อดีและข้อเสียปะปนกัน อย่างเช่นการเพิ่มทุนประกันนั้น ข้อดีคือในกรณีที่เราเสียชีวิต ทายาที่จะได้รับเงินสินไหมทดแทนตามที่เราแจ้งไว้ก็จะได้รับเงินชดเชยมากขึ้นจากที่เรากำหนดไว้ เช่น เดิมทีได้ 100,000 บาทก็จะเปลี่ยนเป็น 200,000 บาท(ไม่รวมดอกเบี้ยและปันผล) แต่การขอเพิ่มทุนประกันนั้น เราก็จะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นด้วย ดังนั้นควรจะคำนวณการจ่ายเบี้ยให้ดี ว่าพร้อมจ่ายหรือไม่ ถ้าพร้อมก็เพิ่มเลยเราขอเชียร์
ข้อดีข้อเสียของการลดทุนประกัน
ส่วนการลดทุนประกันนั้น ก็มีข้อดีข้อเสียเหมือนกัน ข้อดีก็คือ เราจะจ่ายเบี้ยประกันภัยน้อยลง หากเราเงินไม่พอการลดเบี้ยประกันภัยให้อยู่ในระดับที่จ่ายไหว ย่อมดีกว่าการที่เราจะปล่อยให้ประกันภัยนั้นขาดสภาพการคุ้มครองไป สองการลดทุนประกันภัยอาจจะได้เงินกลับมาบางส่วน จากการคำนวณของประกัน(มีน้อยมาก) ส่วนข้อเสียก็คือ หากเราต้องทำการเคลมเพื่อขอสินไหมทดแทนอาจจะได้เงินไม่เท่าเดิม และเงินนั้นอาจจะไม่พอสำหรับการใช้หนี้ หรือ เป็นมรดกให้กับลูกหลาน ทายาทที่ได้รับ ดังนั้นจะการเพิ่ม-ลดทุนประกันต้องชั่งน้ำหนักให้ดี
เอกสารประกอบการเพิ่ม-ลดทุนประกัน
การเพิ่ม-ลดทุนประกันนั้น ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะมีผลผูกพันในระยะยาว ดังนั้นเจ้าของกรมธรรม์จะต้องกรอกและเตรียมเอกสารเกี่ยวกับการเพิ่ม-ลดทุนประกันให้ชัดเจน เอกสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องก็คือ หนึ่งกรมธรรม์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง สองใบคำร้องการเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ และ หนังสือรับรองสุขภาพ(สำหรับเพิ่มทุนประกัน)