จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายเดือนต่อครัวเรือนของปี 58 สูงสุดอยู่ที่ 45,572 บาท ซึ่งเป็นของแชมป์เก่ากรุงเทพมหานคร และต่ำที่สุดเป็นดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย อยู่ที่ 13,497 บาท เห็นได้ชัดว่ามนุษย์เงินเดือน กทม. ต้องต่อสู้กับกิเลสอย่างหนัก เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและหลีกเลี่ยงการรับประทานมาม่าทุกวันที่ 29 ของเดือน
ตามหลักการจัดการเงินจะแบ่งเงินออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งคือรายได้ อีกฝั่งหนึ่งคือรายจ่าย
รายได้ก็จะแบ่งออกเป็นรายได้หลักกับรายได้เสริม ส่วนรายจ่ายก็มีทั้งรายจ่ายคงที่กับรายจ่ายผันแปร เราจะรู้รายได้หลักหลังจากหักภาษี เงินสมทบ ประกันสังคม ประกันชีวิต ทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมๆ ก็เกือบ 5% ส่วนรายได้เสริมมาจากหลากหลายทางไม่ว่าจะเป็นขายตรง ขายออนไลน์ รับงานนอก ออกอีเว้นท์ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ละเดือน พอหันมาดูอีกฝั่ง รายจ่ายหลักก็มีค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนเฟอร์ฯ ผ่อนคอมฯ ผ่อนมือถือ สารพัดผ่อนของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับระดับของกิเลส ส่วนรายจ่ายผันแปรก็จะเป็นพวกปาร์ตี้ วันเกิด งานศพ งานบวช งานแต่ง งานเลี้ยงรุ่น ฯลฯ เมื่อวิเคราะห์เสร็จสรรพก็พบว่าเงินมันเฟ้อซะแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายมันมากกว่ารายรับ
นับจากวันนี้ หลังจากสวดมนต์ไหว้พระก่อนออกจากบ้านแล้ว เราท่านต้องพกสติไปด้วย ท่องไว้เลยว่า เงินมากใช้น้อย เงินน้อยไม่ใช้มาก แล้วลองประยุกต์ใช้ 9 วิธีต่อไปนี้อย่างแยบคาย เชื่อว่าทุกคนจะมีความสุขกับทุกสิ้นเดือนแน่นอน
วิธีที่ 1 ต้องมีสติในการใช้ชีวิตให้มาก อย่าไปทุ่มทุนตามดารา เน็ตไอดอล แฟชั่นนิสต้า
วิธีที่ 2 ตามประกบการเปลี่ยนแปลงของรายรับ-รายจ่ายอย่าให้คลาดสายตา รายได้หลักเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ รายได้เสริมเพิ่มหรือลดกี่เปอร์เซ็นต์ รายจ่ายคงที่ปลดไปกี่รายการแล้ว รายจ่ายฝันแปรเพิ่มขึ้นกี่งาน ถ้าติดตามตลอด จะทำให้รู้ว่ารายการไหนควรงด รายการไหนจ่ายน้อยหน่อย รายได้เสริมตรงไหนที่ไปได้ดี เพิ่มรายรับ ลดรายจ่าย แบบนี้ก็จะเบาลงมาอีกหน่อย
วิธีที่ 3 เมื่อมีรายได้มากขึ้น พอจะมีเงินใช้จ่ายได้ ก็ไม่ว่ากัน ออกไปหาประสบการณ์ชีวิต ท่องเที่ยว ดีกว่าไปลงกับสิ่งของที่ไม่จำเป็น เพราะประสบการณ์คือความทรงจำที่ดี มันจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต แต่สิ่งของซื้อมา สักวันก็เอ้าท์ รกบ้าน เสียค่าซ่อมแซม เป็นภาระเข้าไปอีก
วิธีที่ 4 ออกไปแฮงค์เอ้าท์กับเพื่อนที่มีรายได้ รสนิยมพอ ๆ กัน จะช่วยให้เราไม่ต้องจ่ายแพงเกินฐานะ เพราะถ้ากินหรู ๆ กับเพื่อนไฮ ๆ เค้าน่ะจ่ายได้สบาย แต่เราจะหมดตัวซะก่อน เลือกไปกับเพื่อนที่สูสีกับเรา เที่ยวสนุกแถมตังค์ยังเหลือด้วย
วิธีที่ 5 เค้าบอกว่า ยามใดที่ชีวิตรุ่งโรจน์ ได้รับการโปรโมท ตำแหน่งสูงขึ้น เงินเดือนเพิ่มขึ้น ให้คงไลฟ์สไตล์ไว้เหมือนเดิม เอาเงินที่เพิ่มแยกบัญชีไปเลย แล้วลืมมันซะ รับรองรวยแน่
วิธีที่ 6 ให้วางแผนชีวิตดี ๆ ตั้งเป้าให้ชัดเจนไว้เลยว่า 40 จะทำอะไร 50 จะเป็นยังไง เกษียณแล้วจะทำอะไร จะได้ประหยัดและสำรองทุนไว้ใช้ในแต่ละช่วงอายุ ตามแผนที่วางไว้ ที่สำคัญต้องมีวินัยต่อตัวเอง ซื่อตรงต่อเป้าหมาย
วิธีที่ 7 เบสิคสุด ไม่สร้างหนี้ใหม่ ลดหนี้เก่า อันนี้รัฐบาลท่านรณรงค์มาตลอด อันไหนยังใช้ได้อยู่ก็ใช้ไป ดูแลของให้ดี ๆ มันก็ใช้ได้อีกนาน
วิธีที่ 8 เค้ามองว่ามันเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่จะต้องปรับปรุงตัวเองให้ทันสมัย เสื้อผ้า หน้า ผม ไลฟ์สไตล์ ด้วยหน้าที่การงานหรือสังคม มันก็จำเป็นต้องลงทุน แต่ค่อยๆ ปรับปรุงไป อย่าไปลงทุนตูมเดียว แต่ค่อยๆ ใช้จ่ายอย่างรอบคอบ มันก็จะสมดุลย์ทั้งสังคมและส่วนตัว
มาถึงวิธีสุดท้าย อย่าเอาวัตถุมาเป็นตัววัดความสำเร็จ เพราะมันจะไม่มีที่สิ้นสุด การขับรถเบนท์เลย์ทะเบียนเลขตอง เลขเรียง ไม่ใช่ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของทุกคน ตั้งความสำเร็จของตัวเอง ไม่ต้องไปสนใจในวัตถุ เพราะมันคือหายนะและหลุมดำของชีวิต