ประกันสังคม เมื่อเอ่ยถึงชื่อนี้หลายท่านก็อาจจะเคยผ่านตากันมาบ้าง เนื่องจากเป็นกองทุนประกันที่ภาครัฐให้การส่งเสริม ทั้งยังสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนผู้ประกอบอาชีพ เข้ามามีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม กลับมีน้อยคนนักที่จะรู้สึกถึงความสำคัญ และยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์โดยแท้จริงที่จะได้รับจากการทำประกันสังคม สำหรับวันนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงขอนำเสนอข้อมูลดีดีเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนภายใต้กองทุนประกันสังคม ส่วนจะมีความน่าสนใจอย่างไรนั้นขอเชิญรับชมกันไปทีละข้อเลยครับ
อ่านเพิ่มเติม : เรียนรู้การจ่ายค่าประกันสังคม ประเภทของผู้ประกันตน
สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย
สำหรับผู้ประกันตนกองทุนประกันสังคมนั้น สิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจประการแรกคือเรื่องของค่าชดเชยในกรณีที่เกิดการเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมได้มีกติการะบุไว้ว่าสำหรับผู้ที่เป็นพนักงานในภาคเอกชน เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยและมีใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนตามที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำหนด กองทุนจะชดเชยรายได้ระหว่างที่หยุดงานให้ในอัตรา 50% ของราคาค่าจ้างที่เคยได้รับ (กำหนดฐานเงินเดือนในการใช้คำนวณสูงสุดที่ 15,000 บาท) ในส่วนดังกล่าวนี้จึงนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะอย่างน้อยในช่วงที่ผู้ประกันตนเกิดการเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ ก็ยังมีรายได้บางส่วนมาทดแทน ทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอีกด้วย
สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร
สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร นับเป็นอีกหนึ่งข้อโดดเด่นของการสมัครเป็นผู้ประกันตนกองทุนประกันสังคม เนื่องจากกองทุนดังกล่าวนี้จะช่วยสมทบค่าใช้จ่ายให้ถึง 13,000 บาท สำหรับการคลอดบุตรแต่ละครั้ง (ผู้ประกันตนต้องออกค่าใช้จ่ายสำรองในเบื้องต้นเอง และขอรับค่าชดเชยจากกองทุนในภายหลัง) แต่ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่จะใช้สิทธิ์กรณีคลอดบุตรได้จะต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน และนอกจากเงินสมทบค่าใช้จ่ายในกรณีคลอดบุตรแล้ว กองทุนประกันสังคมก็ยังมีเงินสงเคราะห์ให้กับมารดา เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดไประหว่างช่วงที่ลาคลอดบุตรอีกด้วย โดยจะชดเชยให้ในอัตรา 50% ของรายได้ เป็นระยะเวลา 90 วัน (กำหนดฐานเงินเดือนในการใช้คำนวณสูงสุดที่ 15,000 บาท) สำหรับคุณสุภาพสตรีทั้งหลายที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมจึงควรที่จะเข้าใจและไม่พลาดที่จะใช้สิทธิ์ในส่วนดังกล่าวนี้ เพื่อที่จะเพิ่มช่องทางในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงช่องทางของรายได้ซึ่งขาดหายไประหว่างที่ลาคลอดบุตรครับ
สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน
มาต่อกันที่สิทธิประโยชน์อันน่าสนใจซึ่งผู้ประกันตนกองทุนประกันสังคมจะได้รับประการถัดมา ซึ่งก็คือสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน สิทธิประโยชน์ข้อนี้ทางกองทุนได้กำหนดไว้ว่า สำหรับผู้ประกันตนที่จำเป็นต้องออกจากงานประจำที่ทำอยู่ กองทุนจะมีเงินชดเชยรายได้ให้ โดยแบ่งออกเป็นกรณีการถูกเลิกจ้าง ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนค่าจ้างจากกองทุนในอัตรา 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 180 วัน และในกรณีการลาออก ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนค่าจ้างจากกองทุนในอัตรา 30% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน (ทั้งสองกรณีกำหนดฐานเงินเดือนในการใช้คำนวณสูงสุดที่ 15,000 บาท)
สิทธิประโยชน์กรณีเกษียณอายุ
สิทธิประโยชน์ประการถัดมาได้แก่สิทธิประโยชน์กรณีเกษียณอายุ ซึ่งทางกองทุนได้มีงบประมาณสงเคราะห์สำหรับผู้ที่พ้นจากวัยทำงาน (อายุเกิน 55 ปี) ทั้งนี้ ตามกติกาของกองทุนประกันสังคมจะแบ่งผู้เกษียณอายุออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกได้แก่ผู้เกษียณอายุที่จ่ายเงินสมทบกองทุนไม่เกิน 180 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ในรูปแบบของบำเหน็จ ส่วนผู้เกษียณอายุที่จ่ายเงินสมทบกองทุนเกิน 180 เดือน (15 ปี) จะได้รับเงินสงเคราะห์ในรูปแบบของเงินบำนาญ คิดเป็นอัตรา 20% ของรายได้ (กำหนดฐานเงินเดือนในการใช้คำนวณสูงสุดที่ 15,000 บาท) นอกจากนี้ ถ้าหากผู้ประกันตนรายใดจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเกินกว่า 15 ปี ก็ยังจะได้รับเงินบำนาญจากกองทุนเพิ่มขึ้นงวดละอีก 225 ต่ออายุสมาชิกที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 ปีอีกด้วย เงินในส่วนนี้แม้อาจจะเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นเบี้ยยังชีพที่ช่วยแบ่งเบาภาระในวัยชรา ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการและชีวิตความเป็นอยู่ จึงนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ที่มีความน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
อ่านเพิ่มเติม : เกษียณแล้ว ขอคืนเงินออมประกันสังคม จะได้เท่าไหร่ ?
สิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพ
สำหรับผู้ประกันตนที่เกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นทุพพลภาพ ทางกองทุนประกันสังคมได้กำหนดงบประมาณเพื่อสงเคราะห์ให้หลายทาง ได้แก่ 1) เงินทดแทนจากการขาดรายได้ (กรณีที่ทุพพลภาพจนไม่สามารถทำงานได้) ในอัตรา 50% ของรายได้เป็นรายเดือนตลอดชีวิต (กำหนดฐานเงินเดือนในการใช้คำนวณสูงสุดที่ 15,000 บาท) 2) เงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 2,000 บาทต่อเดือนตลอดชีวิต 3) เมื่อผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพเกิดเสียชีวิตลง ทางกองทุนประกันสังคมจะสมทบค่าทำศพให้ 30,000 บาท และเงินสงเคราะห์เพิ่มเติมตามระยะเวลาที่ผู้ประกันตนจ่ายค่าสมทบกองทุน และ 4) เงินค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจของผู้ประกันตนที่เกิดทุพพลภาพตามความเหมาะสม แต่ไม่เกิน 40,000 บาทต่อราย
สิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิต
สำหรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมประการสุดท้ายที่จะคัดมานำเสนอนี้ได้แก่ สิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิต ในกรณีที่ผู้ประกันตนเกิดเสียชีวิต ทางกองทุนประกันสังคมได้กำหนดเงินสมทบค่าทำศพให้ถึงรายละ 40,000 บาท ทั้งยังมีเบี้ยสงเคราะห์แยกต่างหากอีกส่วนหนึ่งด้วย