หลาย ๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า การที่เราจะเลือกซื้อประกันชีวิตแต่ละครั้ง อะไรคือสิ่งที่เราควรต้องศึกษา ถึงจะทำให้ได้ประกันชีวิตที่เกิดประโยชน์ต่อตนเองและคนที่รักได้สูงสุด
“ปัญหา” กับ “ความเสี่ยง”
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ปัญหา” กับ “ความเสี่ยง” กันก่อน
ปัญหา คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และผลของเหตุการณ์นั้น ได้ส่งผลกระทบที่ไม่ดีกับตัวเรา
ความเสี่ยง คือเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่หากเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะส่งผลกระทบที่ไม่ดีกับตัวเรา
ยกตัวอย่างให้เห็นกันง่าย ๆ เช่น
นาย ก. กำลังจะขับรถจากบ้านไปที่ทำงาน ก่อนออกจากบ้านสังเกตเห็นว่าท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้ม
- ตัดสินใจขับรถไปทำงานเหมือนๆ กับทุกวัน ขับไปใกล้จะถึงที่ทำงานแล้ว ปรากฎเกิดฝนตกหนัก และรถติด
>> รถติดเป็นเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น “รถติด” จึงเป็น “ปัญหา” ส่งผลทำให้ ไปทำงานสาย, ลูกค้ายกเลิก order, โดนหัวหน้าดุ
- ตัดสินใจเดินทางโดยรถไฟฟ้าแทน และพกร่มไปด้วย
>> ฝนอาจจะตกหรือไม่ตกก็ได้ (ยังไม่เกิดขึ้น) ดังนั้น ”ฝนตก” จึงเป็น “ความเสี่ยง” ซึ่งหากฝนตกจริง ๆ อาจส่งผลทำให้ ฝนกระเด็นโดนตัวบ้าง ระหว่างเดินกางร่มจาก bts ไป ทีทำงาน เป็นต้น
จะเห็นว่า การจัดการกับปัญหา คือการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ๆ ส่วนการจัดการกับความเสี่ยง คือการป้องกันล่วงหน้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นหากมีเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นในภายหลัง
“ประกันชีวิต” กับ “ความเสี่ยง”
การที่เราทำประกันชีวิต เป็นการจัดการกับ “ความเสี่ยง” ไม่ใช่การจัดการกับ “ปัญหา” หลักการของประกันชีวิตคือ การรวบรวมเงินของคนหลาย ๆ คน มากองไว้ด้วยกัน โดย ณ ขณะนั้น ทุกคนยังไม่ได้เกิด “ปัญหา” ในชีวิต แต่เมื่อใดก็ตามที่ สมาชิกคนใดคนหนึ่งเกิดประสบกับปัญหานั้นขึ้นมา ก็จะมีเงินกองทุนเหล่านี้เข้าไปช่วยเยียวยาทำให้ผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นเบาบางลง… นั่นเป็นสาเหตุว่า ทำไมเวลาทำประกันสุขภาพ จึงต้องมีการตรวจสุขภาพก่อน แล้วถ้าเกิดตรวจพบว่าสุขภาพไม่ดี บางครั้งบริษัทประกันจึงไม่รับทำประกันในเรื่องนั้นๆ เนื่องจากการที่สุขภาพไม่ดีไปแล้วนั้น แปลว่า สุขภาพของคุณ ได้เกิด “ปัญหา” ขึ้นแล้ว ซึ่งบริษัทประกันไม่ได้มีหน้าที่ในการจัดการกับปัญหาที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว หน้าที่นั้นควรต้องเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลในการจัดการเรื่องดังกล่าว … เรื่องนี้มีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจกันก่อน ไม่อย่างนั้น อาจจะเกิดความขุ่นเคืองอันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจในหน้าที่ของบริษัทประกันชีวิตที่ก็เป็นได้
ประโยชน์ของ “ประกันชีวิต” และวิธีการเลือก
โดยปกติ ประโยชน์ของการทำประกันชีวิตมีอยู่ 4 ข้อ ซึ่งข้อ 1 กับ 2 จะเป็นประโยชน์ที่ไม่มีสินค้าการเงินตัวไหนมาทดแทนได้ ส่วนข้อ 3 และ 4 ยังมีตัวเลือกในสินค้าการเงินอื่น ๆ ที่ให้ประโยชน์ด้านนี้ได้เช่นเดียวกัน
- ทุนประกันชีวิต :
เป็นการป้องกันความเสี่ยงกรณีผู้ทำประกันเสียชีวิตกะทันหัน หรือเสียชีวิตขณะที่ยังไม่ได้เตรียมการเรื่องเงินทองที่เพียงพอสำหรับผู้ที่อยู่ใต้ความดูแล เช่น ครอบครัว ลูกน้อง ฯลฯ ส่งผลให้บุคคลเหล่านี้ต้องมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิตต่อไป
- ค่ารักษาพยาบาล :
เป็นการป้องกันความเสี่ยงกรณีผู้ทำประกันเจ็บไข้ได้ป่วยในขณะที่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทำให้ต้องขอความช่วยเหลือจากครอบครัว คนรอบข้าง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะสามารถช่วยเหลือได้ทั้งหมดหรือไม่ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจเกิดความท้อแท้ รู้สึกเป็นภาระ และไม่มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บอีกต่อไป
- การออม/ลงทุน :
ประกันชีวิตบางรูปแบบ มีการระบุว่ามีการจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือกรมธรรม์ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ ทั้งนี้ในปัจจุบัน แบบประกันมีทั้งที่ให้ผลตอบแทนที่แน่นอน และไม่แน่นอนในลักษณะของการลงทุน ผู้ทำประกันควรสอบถามให้ชัดเจนเพื่อให้ได้แบบประกันที่เหมาะสมกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวเอง
- การลดหย่อนภาษี :
ประกันชีวิตบางรูปแบบสามารถนำเอาเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้ และมีทั้งเอามาลดหย่อนได้เต็มจำนวนของเบี้ยที่จ่าย และได้แค่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
จากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ทุกครั้งก่อนจะทำประกันชีวิต คำถามแรกที่เราควรจะนึกถึง ไม่ใช่ “ควรทำประกันกับบริษัทหรือแบบประกันอะไรดี” แต่มันคือ “คุณต้องการป้องกันความเสี่ยงเรื่องอะไร” คิดว่าความเสี่ยงในเรื่องไหนที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาทางการเงินกับตัวคุณหรือคนรอบข้างมากที่สุด แล้วค่อยมาเลือกดูว่าประโยชน์ของประกันทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมาข้อไหนที่ตอบโจทย์เรื่องความเสี่ยงนั้น ๆ ดีที่สุด สุดท้ายถึงค่อยมองหาแบบประกันที่ให้ประโยชน์ในเรื่องนั้น และบริษัทประกันที่เก่งในแบบประกันนั้นที่สุดต่อไป