กรุงเทพฯ 20 กันยายน 2559 -ดีลอยท์แนะผู้ประกอบการนำเข้าไทยเข้าร่วมโครงการของศุลกากรตรวจสอบตนเองด้วยความสมัครใจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจให้ถูกต้องโปร่งใส เร่งปรับธุรกรรมนำเข้าส่งออกภายใน ให้สอดคล้องกับเกณฑ์การเปิดรับ ก่อนวันสุดท้ายของการเปิดรับ 31 ธ.ค.ปีนี้
มร.สจ๊วต ไซม่อนส์ – หุ้นส่วนด้านภาษี บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรมศุลกากรได้เปิดโครงการ “ตรวจสอบตัวเองด้วยความสมัครใจ” ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมความน่าเชื่อถือความถูกต้องโปร่งใส ให้ธุรกิจภาคเอกชนรวมถึงผู้ประกอบการนำเข้า โดยให้บริษัทเอกชนรวมถึงผู้นำเข้าของไทย ที่ปฏิบัติพิธีการศุลกากรไม่ถูกต้อง สามารถออกมาแสดงตัวจัดการเสียอากรส่วนที่ขาดไปให้ครบถ้วน ถือเป็นโอกาสให้ผู้นำเข้า ที่ชำระอากรไม่ครบถ้วนโดยไม่มีเจตนาทุจริต ดำเนินการเสียภาษีที่ขาดไปให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ กรมศุลกากรระบุว่า จะเปิดรับผู้นำเข้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการข้างต้นถึงวันที่ 31 ธ.ค. 59 เท่านั้น พร้อมแจ้งถึงเกณฑ์การเปิดรับผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการว่า ผู้นำเข้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ หรือผู้นำเข้าที่ถูกดำเนินคดีในความผิดทางศุลกากรอยู่ และหากความผิดในบางกรณี เช่น การลักลอบนำเข้า จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้
“ผู้นำเข้าที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ แต่โครงการนี้อาจมีบางประเด็นที่ไม่ชัดเจนว่า ผู้นำเข้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้หรือไม่ ผู้นำเข้าจึงควรใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งก่อนสมัครเข้าร่วมโครงการ เพราะผู้นำเข้าที่สนใจเข้าร่วม ควรดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมนำเข้าส่งออกเป็นการภายในด้วยตัวเองเสียก่อน ว่ามีกรณีเป็นที่สงสัยว่าอาจชำระภาษีไว้ไม่ครบถ้วนหรือไม่” มร.ไซม่อนส์กล่าวและชี้ว่า
หากผู้นำเข้าของไทยรายใดที่ยังสับสน ไม่แน่ใจว่าตนเองปฏิบัติพิธีการศุลกากรผิดพลาดหรือไม่ สามารถขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ด้านกฎหมายศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้าที่ต้องเสียภาษี ในการเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อเข้าร่วมโครงการของกรมศุลกากรให้ทัน ก่อนวันสิ้นสุดรับสมัครเข้าโครงการ 31 ธ.ค. 59
“เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรสามารถตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าส่งออกย้อนหลัง และเรียกเก็บอากรขาเข้าส่วนที่ขาดย้อนหลังได้ถึง 10 ปี รวมไปถึงภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่ขาดเงินเพิ่มภาษีอากร 1% ต่อเดือน และเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ที่สำคัญคือผู้นำเข้าอาจต้องชำระเบี้ยปรับสูงถึง 4 เท่าของราคาของ บวกค่าอากร ในกรณีที่ผู้นำเข้าแพ้คดีในชั้นศาล” มร.ไซม่อนส์ให้ข้อมูลเตือนผู้นำเข้าพร้อมแนะนำว่า
โครงการตรวจสอบตนเองด้วยความสมัครใจของกรมศุลกากร เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้าที่ชำระอากรไม่ครบถ้วน โดยไม่มีเจตนาทุจริต มาเสียภาษีที่ขาดให้ถูกต้อง และสามารถชำระภาษีนำเข้าที่เคยชำระไว้ขาด โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม 1% ต่อเดือน ชำระเพียงแต่อากรขาเข้ากับภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่ขาด และเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งโครงการนี้ของกรมศุลกากรจะช่วยประหยัดเวลาและความยุ่งยากในการจัดการกับภาษีที่ขาด นอกเหนือจากการได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอากรขาเข้า
สำหรับโครงการตรวจสอบตนเองด้วยความสมัครใจนั้น ในมุมมองของรัฐถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่รู้ตัวว่าปฏิบัติพิธีการไม่ถูกต้องโดยไม่ได้ตั้งใจ ได้ออกมาแสดงตัวกับกรมศุลกากร ทำให้ศุลกากรสามารถจัดเก็บอากรที่ขาดได้ โดยที่ไม่ต้องส่งทีมจากสำนักตรวจสอบอากรเข้าไปตรวจสอบ และยังสามารถจัดเก็บอากรได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ขั้นตอนการจัดเก็บตามโครงการสามารถทำได้ที่สำนักตรวจสอบอากรที่เดียว โดยไม่ต้องผ่านเจ้าหน้าที่ที่ท่า เหมือนกรณีขอเสียอากรเพิ่มตามปกติ ซึ่งกรณีเช่นนี้ทำให้รัฐมีรายได้จากภาษีศุลกากรในแต่ละปีเพิ่มขึ้น ด้วยการใช้ขั้นตอนการทำงานและระยะเวลาที่น้อยลง จึงถือเป็นโครงการที่เอื้อให้รัฐบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกัน โครงการนี้ช่วยส่งเสริมความถูกต้องโปร่งใสให้ภาคเอกชน หมายถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ปฏิบัติพิธีการศุลกากรไม่ถูกต้อง ได้ออกมาแสดงตัวจัดการเสียอากรที่ขาดให้ครบถ้วน เพราะมีหลายกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ทราบว่าตัวเองกระทำผิด หรืออาจจะด้วยความเข้าใจผิดหรือเกิดจากข้อผิดพลาด แต่โครงการนี้เป็นโอกาสดีที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น